เกิดเป็นปลา อย่าท้า “ปีน”

เกิดเป็นปลา อย่าท้า “ปีน”

เคยไหม.. เรียนให้ตาย แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ หรือที่จริงแล้ว เราเรียนมาผิดๆ เหมือนปลาที่ถูกสอนให้ปีนต้นไม้!

ก่อนที่จะเป็นดาราดังเช่นทุกวันนี้ ใครจะรู้ว่าเธอเคยเป็นสาวเสิร์ฟมาก่อน..

หรือก่อนจะเป็นนักกีฬาชื่อก้องโลก ใครจะรู้ว่าครั้งหนึ่งเขาเป็นเพียงเด็กผู้ไม่ประสบความสำเร็จกับการเรียน สอบได้ที่ท้ายๆ และถูกทำนายชีวิตไว้ล่วงหน้าแล้วว่า หนีไม่พ้นนักเลงหัวไม้ แบบเดียวกับเด็กคนอื่นก่อนหน้า..

มันอาจเป็นพล็อตเรื่องอดีตของเหล่าคนดัง ซึ่งถูกแชร์ครั้งแล้ว ครั้งเล่า.. แต่กับเรื่องเส้นทางและจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตไม่ใช่เรื่องที่ใครจะทำซ้ำกันได้ อย่างน้อยๆ ก็บทเรียนที่ว่าด้วยการเดินตามสิ่งที่ตัวเองอยากจะเป็นนั่นแหละที่ต้องบอกต่อ

“เราเรียนไปเพื่ออะไร” หรือ “ทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร” คือ ความสงสัยลำดับแรกๆ ที่ถูกเอ่ยขึ้นเมื่อตั้งคำถามถึงระบบการศึกษา แต่จะมีเจ้าของคำถามสักกี่คนที่คิดหาคำตอบ ค้นหาความถนัดของตัวเองและทำมันจริงๆ

..แบบเดียวกับที่ลิงได้ปีนต้นไม้ และปลาได้แหวกว่ายน้ำตามธรรมชาติที่มันควรจะเป็น

 

อย่าสอนปลาปีนต้นไม้

“Everybody is a genius. But if you judge a fish by its ability to climb a tree, it will live its whole life believing that it is stupid.”

แม้จะยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า ใครกันแน่ที่เป็นคนพูดประโยคข้างต้นเป็นคนแรก.. แต่นั่นคงไม่สำคัญเท่ากับคำถามในทำนองว่า.. หรือเรากำลังเป็นปลาที่ถูกตัดสินด้วยการปีนต้นไม้ ? 

แล้วความสามารถที่อยู่ในตัวเราจนผลักดันสู่การเป็นอัจฉริยะได้คืออะไร? 

ในเมื่อหลายปีที่ผ่านมา เรามักได้ยินแนวคิดเรื่องการศึกษาในทำนองว่า การศึกษาในศตวรรษที่ 21, ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง, ลดเวลาเรียน-เพิ่มเวลารู้ ฯลฯ แต่ถึงกระนั้น เราก็ยังคงเห็นและได้ยินผู้เรียนหลายคนตั้งคำถามอยู่ดีว่า“ให้เรียนเรื่องนี้ไปทำไม?”

..ระหว่างที่มีแนวคิดมากมายเกี่ยวกับการศึกษาทางเลือก อันที่จริงแล้ว หลักคิดในชื่อที่ดูเชยๆ เข้าถึงยากๆ ที่นักวิชาการบางสายเรียกมันว่า “จิตตปัญญา” ซึ่งเปรียบเสมือนการนำพาผู้เรียนเข้าไปสำรวจ รู้เท่าทันจิตใจ และความรู้สึกของตัวเอง โดยที่ผ่านมา พิสูจน์ได้ว่า นำมาใช้เพื่อการศึกษาอย่างได้ผล

เราไม่ได้บอกให้เดินสวนทางกับความรู้สมัยใหม่ แต่ด้วยหลักคิดนี้ กำลังชวนคนเราย้อนกลับไปตั้งต้นที่ “การศึกษาจากภายใน” ควบคู่ไปกับ “การฝึกทักษะภายนอก” เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสรรพสิ่งมากขึ้น

บทความวิชาการเรื่อง “จิตตปัญญาศึกษา : การศึกษาเพื่อการพัฒนามนุษย์ในศตวรรษที่ 21” ซึ่งเผยแพร่ในวารสารพยาบาลทหารบก (สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2559) นิยามคำว่า “จิตตปัญญาศึกษา” ว่า เป็นกระบวนการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เน้นการพัฒนาความคิด จิตใจ อารมณ์ภายในตนเองอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ในตนเอง รู้คุณค่าของสิ่งต่าง ๆ โดยปราศจากอคติ และสามารถประยุกต์เชื่อมโยงกับศาสตร์ต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างสมดุลและมีคุณค่า

ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ นักวิชาการและอาจารย์ที่ศึกษาและสนใจเรื่องจิตตปัญญาศึกษามานาน มองว่า จิตตปัญญาเป็นวิธีการที่ทำให้เราเข้าถึงความสุขอันประณีต ซึ่งทำให้ผู้ศึกษาทั้งเข้าใจโลกภายนอกและเข้าใจตัวเองไปพร้อมๆ กัน

“จิตตปัญญาศึกษานี้ โดยเนื้อหาไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะในอดีตมีความรู้และ ช่องทางการเรียนรู้จำนวนมากที่ช่วยให้เราเข้าถึงสภาวะเป็นหนึ่งเดียวของความจริง ความดี และความงาม อยู่แล้ว การเรียนรู้เช่นนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว เพียงแต่สร้างเป็นคำใหม่ขึ้นมา เน้นการเรียนรู้ที่ทำให้คนเข้าถึงความจริงธรรมดาตามธรรมชาติได้ ซึ่งมีหลากหลายช่องทางการเรียนรู้ อาจจะผ่านการทำงานศิลปะ การเคลื่อนไหวแบบในรูปแบบรำไทเก๊ก เล่นโยคะก็ได้”

“การทำงานหรือการเคลื่อนไหวแบบนี้ แม้จะมีคนทำมามากแล้วแต่เขาอาจไปไม่ถึง เพราะมุ่งสู่เป้าหมายอื่น ไม่ใช่การรู้จักเข้าใจตนเองและโลก เช่น ออกกำลังกายเพื่อสร้างพละกำลัง ลดความอ้วน หรือทำงานศิลปะ เพื่อความสวยงามและ ผลลัพธ์ในเชิงรายได้ แต่เป้าของจิตตปัญญาคือการรู้เนื้อรู้ตัว รู้จักตนเอง จึงเข้าใจตัวเองไปพร้อมๆกับเรียนรู้โลกภายนอก”

 

 จาก “จิต” สู่ “การกระทำ”

มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า เหตุใดผู้ที่ทำคะแนนได้สูงในวิชาพระพุทธศาสนา อาจไม่ได้เป็นคนเดียวกันกับผู้ปฏิบัติตามหลักจริยธรรม.. ซึ่งนั่นอาจกล่าวได้ว่า เป็นเพราะเขารู้ด้วยความคิด -แต่ไม่สามารถทำหรือเป็นได้จริงๆ

ตรงข้ามกับการเรียนรู้เพื่อสำรวจโลกภายใน ซึ่งล้วนเป็นเรื่องของการมีประสบการณ์และ การฝึกฝนจริงๆ เท่านั้น ที่จะทำให้องค์ความรู้ในตัวคนสมบูรณ์ขึ้น ขณะที่ตัวกระบวนการเองก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมากไปกว่า การวางเป้าหมายให้ผู้เรียนตั้งคำถามถึงความเป็นตัวเอง พิจารณาตัวเองอยู่เนืองๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะ

“มันไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่ยากหรือใหม่ทั้งหมด ครูหรือผู้จัดการเรียนรู้อาจออกแบบโดยประยุกต์งานเดิมของตัวเองได้ ผมยกตัวอย่างประสบการณ์ตรงของพวกเราสมัยเรียนในโรงเรียนที่จัดทัศนศึกษา แต่ในความเป็นจริงพวกเรามักรู้สึกว่ามันคือการไปเที่ยวใช่ไหม.. หากครูไม่ได้ใส่กระบวนการว่า อยากจะให้นักเรียนไปเรียนรู้อะไรเข้าไปด้วย นักเรียนก็จะมองแต่เรื่องภายนอก ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามของสถานที่ สภาพอากาศ” ดร.สรยุทธ กล่าว

กระบวนการจิตตปัญญาจึงสร้างโอกาสให้คนสะท้อนตนเองอยู่ตลอด ตรวจสอบจิตใจระหว่างทาง เพื่อดูว่าก่อนทำ-ระหว่างทำ มันเกิดความรู้สึกอย่างไรกับเราบ้าง แม้กระทั่งการขีดเส้น แต่ละเส้น หากพิจารณาตัวเองได้ก็ถือเป็นการเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง

“เปรียบได้กับการไปเรียนรู้ตัวเอง ให้ปลาเป็นปลา ให้ลิงเป็นลิง” ดร.สรยุทธ อธิบายว่า “เมื่อคนรู้จักตัวเองก็จะไม่เกิดความสงสัยด้วยว่าทำเรื่องนี้ไปทำไม หรือต่อให้ต้องทำสิ่งที่ไม่ชอบ ก็จะรู้ว่าจะอยู่ในสิ่งที่ไม่ชอบนี้อย่างไร และจะทำไปเพื่ออะไรได้บ้าง เกิดความตระหนักรู้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีใครมาบอกว่าเราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของจักรวาลไม่ใช่เป็นศูนย์กลาง ขณะที่ครูในฐานะผู้กระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ เป็นผู้สนับสนุนในแนวทางที่นักเรียนรัก และถนัดในสิ่งที่อยากเป็น”

 

 “คน” ใน “ครู”

ณัฐฬส วังวิญญู ผู้ร่วมแปลหนังสือ “กล้าที่จะสอน” และผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ New Spirit in Education กล้าที่จะสอนใน “โครงการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาด้วยนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง” มองว่า การเรียนรู้ภายใน เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโลกภายนอกกับตัวเอง ซึ่งแนวคิดเช่นนี้มีความทันสมัยอยู่เสมอ และหากเรารู้ว่า อะไรบ้างที่เชื่อมโยงกับตัวเราแล้วย่อมจะไม่เกิดคำถามว่า “เรียนเรื่องนี้ไปทำไม”

“ยกตัวอย่างประวัติศาสตร์และสังคม ถ้าเรียนรู้แบบทั่วไปคงจบที่การตอบคำถามได้ถูกต้อง แต่ถ้าคิดต่อไปว่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเชื่อมโยงกับเราได้บ้าง และในฐานะพลเมืองหนึ่งซึ่งอยู่ในสังคมที่มีประวัติศาสตร์เช่นนี้ เราสามารถทำอะไร ที่จะช่วยพัฒนาให้สังคมที่เราอยู่ดีขึ้นบ้าง” เขาอธิบาย

เมื่อความสงสัย คือ จุดเริ่มต้นของความรู้ใหม่ในกระบวนการจิตตปัญญา “ครู” จึงเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะสร้างให้ผู้เรียนตั้งคำถาม ขณะที่ครูเองก็ต้องมีเป้าหมายของตัวเองด้วยเช่นกัน กล่าวคือต้องรู้วัตถุประสงค์ของการสอนและปลายทางของการชี้ชวนให้นักเรียนตั้งคำถาม เหล่านี้ด้วย

ชัยฤทธิ์ ศรีโรจนฤทธิ์ บรรณาธิการหนังสือเด็ก และอาจารย์พิเศษที่สนใจการศึกษารูปแบบใหม่ๆ ให้ข้อมูลจากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับนักศึกษาว่า ผู้เรียนคาดหวังให้ครูมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขามากกว่าในชั้นเรียน อย่างน้อยๆ ก็ช่วยเปิดใจที่อยากรับรู้เรื่องราวของอีกฝ่ายจริงๆ

ยกตัวอย่าง เรื่องเพศสัมพันธ์ และการมีคู่ของเด็กมหาวิทยาลัย ซึ่งหากครูยังมองในทัศนคติเก่าๆ นั่นยิ่งทำให้เด็กไม่กล้าเปิดเผยเรื่องที่เกิดขึ้น และทำให้นอกจากจะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาแล้ว ยังทำให้ห้องเรียนเป็นได้แค่กรอบสี่เหลี่ยมที่คุยเฉพาะเรื่องราวในหนังสือและข้อสอบ

“ทุกคนต่างมีเรื่องราว มีปัญหาของตนเอง ทำไมวันนี้เด็กมาสาย ทำไมเขาถึงเสียใจกับความรักครั้งนี้มาก หรือ ทำไมวันนี้ครูหน้าบึ้ง เครียดอะไรมาหรือเปล่า…ถ้าสองฝ่ายเข้าใจมิติความเป็นคนของกันและกัน นั่นจะเป็นประตูเปิดไปสู่การสร้างสัมพันธ์ต่อการเรียนรู้ที่ดีได้”

หากเข้าใจตัวเองดีแล้วว่า “ฉันคือใคร” พร้อมๆ กับที่เปิดใจขอเข้าไปอยู่ในหัวใจเธอด้วยเช่นกัน

หากไม่ถนัดปีนต้นไม้ เราลองหาอะไรอย่างอื่นที่เข้าท่ากว่าน่าจะดี