สินค้าไลฟ์สไตล์ปรับแผน โฟกัสกลุ่มท่องเที่ยว

สินค้าไลฟ์สไตล์ปรับแผน โฟกัสกลุ่มท่องเที่ยว

ช่วง 2 ปี ภาพรวมการส่งออกอุตสาหกรรมสินค้าของขวัญและของชำร่วยไทยยังไม่สดใส ภาพรวมติดลบต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับแผนรอด

จิรบูลย์ วิทยสิงห์ นายกสมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน และเลขาธิการสมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ เปิดเผยว่าทิศทางของอุตสาหกรรมส่งออกของขวัญและของชำร่วยไทยปีนี้จะกลับมาเติบโตได้ ราว 2% มีมูลค่า 2.8 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท หลังจากติดลบต่อเนื่องมากว่า 2 ปี โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น เศรษฐกิจ การเมือง และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินสกุลต่างๆ

ปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมส่งออกของขวัญปีนี้พลิกกลับมาเติบโตได้ มาจากตลาดญี่ปุ่นเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในเดือน ส.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมา แม้ช่วงต้นปีนี้ยอดส่งออกญี่ปุ่นจะหดตัวไปมาก รวมตลาดอาเซียนมียอดสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นในระดับตัวเลข 2 หลัก โดยเฉพาะเวียดนามเติบโตสูงกว่าปีก่อน 33% รองลงมา คือ ฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 22% และอินโดนีเซีย กว่า 20%

ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าของขวัญและของชำร่วยไทยสูงสุดคือตลาดสหรัฐ สัดส่วนกว่า 25% รองลงมา คือ ญี่ปุ่น 16% และอันดับ 3 อาเซียน 14%  ปีนี้เป็นปีแรกที่มีออเดอร์จากอาเซียนสูงกว่ายุโรป เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคของหลายประเทศในภูมิภาคนี้ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ยุโรป มีสัดส่วน 12 -13% และตลาดอื่นๆราว 32-33% โดยมีตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้

ขณะเดียวกัน พบว่าผู้ซื้อ(Buyer) รายใหญ่ เช่น ผู้ได้รับไลเซ่นส์ผลิตของเล่น“ดิสนีย์”เริ่มสนใจฐานผลิตในไทยแทนตลาดจีน เนื่องจากจีนเริ่มมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและมีปัญหาการละเมิดสินค้าลิขสิทธิ์ คาดมียอดออเดอร์กับโรงงานในไทยกว่า 6 แห่ง ที่ทางดิสนีย์อยู่ระหว่างเจรจารวมมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นอาจมีมูลค่าส่งมอบได้จริงราว 1,000 ล้านบาท เพราะบางโรงงานยังต้องรอเทรนนิ่งมาตรฐานการผลิตจากผู้ว่าจ้าง รวมถึงต้องดูความพร้อมของกำลังการผลิตของโรงงานในไทย

มองว่าตลาดของขวัญและของชำร่วยไทยยังมีภาพรวมที่ดีกว่าตลาดในประเทศอื่นๆทั่วโลก ที่หดตัวกันเฉลี่ย 6% และบางประเทศลดลงเป็นตัวเลข 2 หลัก เช่น จีน ลดลง 10%

ปีหน้าสมาคมฯจะปรับยุทธศาสตร์กับการดำเนินงานเทรดแฟร์ เช่น งาน BIG+BIH ด้วยการเพิ่มโซนที่มุ่งเน้นส่งเสริมตลาดที่เกี่ยวกับการผลิตสินค้าเชิงท่องเที่ยวมากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูงและขยายตัวตามอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวแหล่งต่างๆ ที่ทำให้อุตสาหกรรมเติบโตไปพร้อมกันได้ เช่น สินค้าที่ระลึกที่ผลิตให้สวนสนุก สวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์ และสถานที่เที่ยวอื่นๆ

นอกจากนี้จะจัดเวทีคู่ค้าภายในงานเทรดแฟร์ ทั้งการเชิญผู้ว่าจ้างผลิตและนักออกแบบและพัฒนาสินค้า ตลอดจนการเตรียมความพร้อมด้านโรงงานผลิต เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ และผลักดันอุตสาหกรรมในไทยให้เติบโตต่อเนื่อง

“การขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทำให้ไทยต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการทำตลาดใหม่ ผู้ประกอบการจะต้องตื่นตัวและปรับตัวมากขึ้น เพื่อช่วงชิงโอกาสการเติบโต”

บุษยา ประกอบทอง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอ็น.ซี.ซี.เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) กล่าวว่าปีนี้ได้จับมือร่วมกับสมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากสมาคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)ร่วมจัดงาน “Thailand Bestbuys 2016” ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าของขวัญ ของแต่งบ้าน โดยจัดต่อเนื่องมากว่า 17 ปี

ปีนี้ยังมีสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย มาร่วมจัดงาน “TFA Premium Furniture Outlet” พร้อมกับงาน Thailand Bestbuys 2016 โดยตั้งเป้าหมายมีคนเข้าร่วมทั้ง 2 งาน รวม 2.2 แสนคน และมีเงินสะพัดภายในงานกว่า 250 ล้านบาท สำหรับงาน Thailand Bestbuys 2016 จะจัดระหว่างวันที่ 16- 25 ธ.ค.นี้ และงานของอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทยจะจัดระหว่างวันที่ 21 -25 ธ.ค.นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์