ภาคเอกชน 'ประมง-ก่อสร้าง' ภูเก็ต ต้องการแรงงานต่างด้าว

ภาคเอกชน 'ประมง-ก่อสร้าง' ภูเก็ต ต้องการแรงงานต่างด้าว

ผู้ประกอบการประมง-ก่อสร้างภูเก็ต ยังมีความต้องการแรงงานต่างด้าว รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ที่ห้องจามจุรี 1 โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการจัดประชุมนายจ้าง/ สถานประกอบการ ผู้นำชุมชน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ประจำปีงบประมาณ 2560 ซึ่งทางสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต จัดขึ้นโดยมีนายศักดิ์สกล จินดาสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน ปฏิบัติหน้าที่จัดหางานจังหวัดภูเก็ต ประกันสังคมจังหวัดภูเก็ต หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน นายจ้าง สถานประกอบการ ประมง ก่อสร้าง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ทั้งนี้การจัดโครงการดังกล่าว เพื่อชี้แจงข้อกฎหมายและแนวปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจ้างแรงงานต่างด้าว รวมทั้งขั้นตอนแนวทางในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการจดทะเบียนจากศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ หรือ oss ไปเข้ารับการตรวจสัญชาติ อีกทั้งยังมีกระบวนการขั้นตอนในการขอนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย เพื่อให้นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา รวมทั้งเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบข้อมูลไปในทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดความสะดวกถูกต้องกับทุกฝ่ายในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าว

นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ต มีนายจ้าง/สถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา จำนวน 10,388 ราย และมีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั้งสิ้น 62,432 คน สัญชาติเมียนมา 61,275 คน ลาว 720 คน และกัมพูชา 437 คน ซึ่งแรงงานต่างด้าวเหล่านี้เป็นแรงงานที่ได้รับอนุญาตทำงานจากศูนย์บริการจดทะเบียนต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จหรือ oss จำนวน 50,783 คน แรงงานผ่านการพิสูจน์สัญชาติจำนวน 7,970 คนและแรงงานนำเข้าจำนวน 3,679 คน

“ปัญหาขณะนี้ คือ มีแรงงานบางส่วนที่ยังไม่เข้ามาจดทะเบียนตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะแรงงานประมง ซึ่งทางหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็พยายามประสานความร่วมมือเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็ว”

รวมทั้งทางจังหวัดได้พยายามดำเนินการเพื่อให้แรงงานที่มีการจดทะเบียนแล้วปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า เมื่อแรงงานจดทะเบียนแล้วมีการเปลี่ยนนายจ้าง จึงจำเป็นที่จะต้องมีการทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างนายจ้าง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะเดียวกันนายจ้างก็จะต้องไปทำความเข้าใจกับลูกจ้างด้วย เพราะโดยรวมแล้วแรงงานกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการที่ทำให้การพัฒนาธุรกิจเดินหน้าไปได้” นายสนิทกล่าว

ขณะที่นายสมยศ วงศ์บุญยกุล นายกสมาคมชาวประมงจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ความต้องการแรงงานประมง กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการจัดระเบียบเรือประมง ทำให้มีเรือประมงบางส่วนที่มีใบอนุญาตไม่ถูกต้องต้องหยุดให้บริการ ซึ่งภาพรวมมีเรือประมงอยู่ประมาณ 200 ลำ มีความต้องการใช้แรงงานประมาณ 2,000 คน แต่ปรากฎว่ามีแรงงานอยู่ประมาณ 1,200 คน ยังคงขาดแคลนอยู่จำนวนหนึ่ง และไม่มีการเปิดให้จดทะเบียนผ่อนผัน แต่หวังว่าจะได้แรงงานตามนโยบายเอ็มโอยูมาเติมเต็มส่วนนี้ และผู้ประกอบการเองก็ต้องการทำให้ถูกต้อง

ด้านนายวิระชัย เสดสม ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในส่วนของผู้รับเหมาก็มีปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนแรงงานเช่นกัน เนื่องจากมีแรงงานบางส่วนเมื่อได้รับใบอนุญาตและทำงานไปได้ระยะหนึ่งก็จะเปลี่ยนนายจ้าง และหันไปทำงานในกิจการประเภทอื่นๆ แทน เช่น โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น ประกอบกับไม่มีการอนุญาตให้เปิดจดทะเบียนใหม่ รวมทั้งปัจจุบันธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภูเก็ตมีการขยายตัวค่อนข้างมาก จึงทำให้ความต้องการแรงงานมากตามไปด้วย

ส่วนประเด็นของการใช้แรงงานในระบบเอ็มโอยู แม้จะเป็นเรื่องที่ดีแต่ก็เกรงจะมีปัญหาเรื่องความรู้ความสามารถของแรงงาน เพราะที่ผ่านมาพบว่า แรงงานส่วนหนึ่งจะไม่มีความรู้ความสามารถในตำแหน่งที่ตัวเองสมัครมา ทำให้ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน และเมื่อทำงานไประยะหนึ่งก็จะเปลี่ยนนายจ้าง จึงฝากหน่วยงานภาคที่รับผิดชอบได้พิจารณาในประเด็นปัญหานี้ด้วย

ภาพ-suratthani.doae.go.th