'เกรทแบร์ริเออร์รีฟ' เกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่สุด

'เกรทแบร์ริเออร์รีฟ' เกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่สุด

“เกรทแบร์ริเออร์รีฟ” มรดกโลกแห่งออสเตรเลียเสียหายรุนแรงเป็นประวัติการณ์ เกิดปะการังฟอกขาวถึง 2 ใน 3

นายแอนดรูว์ แบร์ด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก ซึ่งอยู่ในทีมที่สำรวจปะการัง “เกรทแบร์ริเออร์รีฟ” ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาน้ำทะเลอุ่นรอบ ๆ เกรทแบร์ริเออร์รีฟ ทำให้แนวปะการังที่ทอดยาว 700 กิโลเมตร ตายไปแล้วถึง 2 ใน 3 มากที่สุดเป็นประวัติการณ์เกินกว่าที่ใด ๆ เนื่องจากแนวปะการังที่นี่มีพื้นที่ 348,000 ตารางกิโลเมตร ใหญ่ที่สุดของโลก

ปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิน้ำอุ่นเกินไป ทำให้มันสูญเสียสาหร่ายที่อาศัยอยู่ จึงกลายเป็นหินปูนแล้วเปลี่ยนเป็นสีขาว หากฟอกขาวเพียงเล็กน้อยจะสามารถฟื้นตัวได้ถ้าอุณหภูมิลดลง ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้พบได้หลายส่วนทางตอนใต้ของเกรทแบร์ริเออร์รีฟ ที่ปะการังตายน้อยลงมาก แม้ปะการังฟอกขาวจะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่นักวิทยาศาสตร์กังวลว่า การที่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน จะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายรุนแรง ระบบนิเวศวิทยาใต้ทะเลไม่อาจฟื้นตัวได้

นักวิทยาศาสตร์ด้านภาวะโลกร้อนอธิบายว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศ ดักจับคลื่นความร้อนบนโลก ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน อีกทั้งออสเตรเลียยังเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อประชากรมากที่สุด เนื่องจากพึ่งพาไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน

การค้นพบปะการังฟอกขาวทางตอนเหนือของเกรทแบร์ริเออร์รีฟ ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการท่องเที่ยวชมปะการังรายงานของดีลอยแต เอคเซส อิโคโนมิคส์ เมื่อปี 2556 ระบุว่า มรดกโลกแห่งนี้ดึงดูดเม็ดเงินราว 5,200 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (138,000 ล้านบาท)ต่อปี