เปิดไอเดีย ‘โอ ออร์คิด’ พลิกชีวิตเกษตรกร

เปิดไอเดีย ‘โอ ออร์คิด’ พลิกชีวิตเกษตรกร

เพราะคนส่วนใหญ่มักเลือกจะพัฒนาแอพพลิเคชั่น “ณัฐกานต์ สระทองอยู่” เลยเบนความสนใจมาเป็นอินเตอร์เน็ต ออฟ ทิงส์ หรือ ไอโอที

ในที่สุดเขากับเพื่อนๆ ก็ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ตรวจจับความชื้นชื่อว่า “โอ ออร์คิด” (O orchid) และได้นำเอาชิ้นงานที่เป็นโปรโตไทป์เข้าร่วมแข่งขันในโครงการ Young Technopreneur2016 (โครงการเถ้าแก่น้อย) ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย เนื่องจากทีมของเขาได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 SAMART Innovation Award 2016 เลยทีเดียว

"ตอนประกาศผล ผมกับทีมนั่งกันอยู่ด้านหลังห้องประชุมเพราะไม่คิดว่าทีมเราจะได้ ขณะที่เกือบทุกทีมและนักข่าวต่างก็ไปรุมเพื่อยืนรอฟังกันอยู่ด้านหน้าเวที ผมไปถามทีมงานของโครงการเหมือนกันว่าทีมเราได้รางวัลเพราะอะไร เขาบอกว่าเพราะได้เห็นพัฒนาการที่มีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเวลาที่เขามีการจัดอบรมให้ความรู้ทีมของเราก็ไปเข้าร่วมทุกครั้งไม่เคยพลาด"


ทำนองว่า โครงการไม่ได้เพียงพิจารณาแค่ไอเดียว่าต้องดี มีศักยภาพ มีแววรุ่งเท่านั้น ทีมงานเองยังต้องเต็มไปความมุ่งมั่นอีกด้วย
“แต่จริงๆ แล้วผมรู้สึกว่าผมรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มุ่งมั่นเท่าไหร่ แต่มันเกิดจากการที่ผมอยากจะเรียนรู้มากกว่า ถ้าผมรู้อยู่แล้วก็ไม่ไปเข้าร่วมอบรม แต่ที่ต้องไปเพราะผมไม่รู้และอยากรู้”


เมื่อถามถึงที่มาที่ไปของ “โอ ออร์คิด” เขาบอกว่ามันเป็นเรื่องบังเอิญ แต่ที่ไม่บังเอิญก็คือ เป้าหมายที่กำหนดชัดว่าจะทำในเรื่องของไอโอที และน่าจะเป็นอะไรที่เกี่ยวกับการเกษตร ด้วยเหตุผลง่ายๆเพราะเขาเป็น“เด็กบ้านนอก” (จังหวัดนครปฐม)


"ผมเล่นดนตรีด้วยและบังเอิญพี่ที่เล่นอยู่ในวง บ้านของเขาทำฟาร์มกล้วยไม้ และเห็นเขาบ่นอยู่ตลอด เพราะกว่าพวกเราจะเลิกเล่นดนตรีก็ดึกถึงตีหนึ่งตีสอง เขาก็เลยขี้เกียจตื่นขึ้นมารดน้ำกล้วยไม้ในตอนเช้า ผมเลยถามเขาว่าถ้าผมทำระบบเปิดปิดน้ำให้จะสนใจไหม เขาก็บอกว่าสนใจ ผมก็เลยลงมือทำ"


ตอนเริ่มต้นนั้น สิ่งที่เขาประดิษฐ์ก็คืออุปกรณ์เปิดปิดน้ำ ที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดแรงงานและเพิ่มผลผลิตได้ทั้งปี แต่ที่สุดก็มาเปลี่ยนมาเป็นเรื่องของการตรวจจับความชื้น


"ผมเรียนอยู่ที่มหาวิทยาศิลปากร ด้านไอที ซึ่งใกล้จะจบแล้ว ระหว่างทางที่ทำอุปกรณ์เปิดปิดน้ำผมก็ไล่อ่านงานวิจัยไปด้วย และก็ไปขอคำแนะนำจากอาจารย์ภาคไบโอ อาจารย์ก็บอกว่าความชื้นมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชมากๆ เราต้องรู้ความชื้นว่ามีเท่าไหร่ ถ้าความชื้นมันต่ำก็ต้องรีบรดน้ำเลย มันจะทำให้ต้นไม้โตได้เร็ว"


เมื่อได้ฟังทำให้เขาได้ไอเดีย และหันมามุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรวจจับความชื้นแทน โดยเริ่มที่กล้วยไม้ก่อนเป็นอันดับแรก


“ที่ต้องเป็นกล้วยไม้ก่อนเพราะมันน่าสนใจ กล้วยไม้เป็นไม้ดอกที่ส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย จริงๆ ผมจะทำทุกพืชเลย จากโอ ออร์คิด ก็อาจจะมีโอ คะน้า โอ เห็ด ตามมาอีกเยอะ”


อย่างไรก็ดี ภายหลังที่ได้คว้ารางวัลจากโครงการเถ้าแก่น้อย ณัฐกานต์ยังได้คนจากทีมอื่นๆที่ร่วมแข่งในโครงการและสนใจไอเดียของเขาสมัครใจเข้าอยู่ในทีมด้วย ทำให้เวลานี้ทีมของเขาซึ่งจดทะเบียนบริษัทชื่อว่า กรีนโอ (GreenO) มีจำนวนทั้งสิ้น 7 คน เพิ่มจากเดิมที่มีอยู่ 3 คน


และเป็นที่รู้กันดีว่า ธุรกิจนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จากความคิดแรกเริ่มที่อยากคิดผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยเกษตรกร แต่เมื่อบวกลบคูณหารแล้ว กลับพบว่าตัวเลขต้นทุนของโอ ออร์คิดยังค่อนข้างสูง ..ทำไปก็ไม่คุ้ม


"เวลาเขียนโปรแกรมซึ่งมันยากแต่เราก็คุยปรึกษากับคนไม่กี่คน แต่เวลาขายเราต้องไปคุยกับคนซื้อเป็นร้อยเป็นพัน และเอาเข้าจริงก็อาจมีคนซื้อจริงๆไม่กี่คน แม้ว่าการพัฒนาโปรแกรมจะยากแสนยากแต่ถ้าไม่มีคนซื้อมันก็เจ๊ง"


เพราะไม่ใช่ว่าของดีๆ แต่ยังมีอีกหลายต่อหลายปัจจัยที่จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจยอมจ่ายเงิน แม้จะไปสำรวจ สอบถามความต้องการ แล้วได้คำตอบว่า ดี และอยากได้ แต่ผลสุดท้ายพอจะต้องเสียเงินจริงๆ ลูกค้าก็มักเปลี่ยนความคิดมองไม่เห็นความจำเป็น ไม่เห็นว่าจะต้องซื้่อเลย แม้ว่าจะมีราคาถูกเพียงใดก็ตาม


"เกษตรกรเขาบอกว่า ตัวเขาเดินไปเปิดปิดน้ำเองได้เพราะอยู่กับบ้านทั้งวัน ไม่มีความจำเป็นต้องเสียเงิน ผมก็ถามว่าเขาเคยพลาดไหม เคยลืมไม่ได้รดน้ำไหม เขาบอกว่าเคย ก็ถามเขาต่อว่าแล้วต้องเสียเท่าไหร่เขาบอกว่าก็ต้องเสียไปทั้งแปลง แต่เขาก็ยังไม่เห็นความจำเป็นต้องซื้ออยู่ดี"


ทว่ามันก็ใช่ว่าจะเป็นประตูที่ปิดตาย ณัฐกานต์มองว่ายังมีโอกาส เพราะท่าทีเกษตรกรเริ่มมีความสนใจมากขึ้น อีกทั้งเขาก็มีความมั่นใจในทักษะ “นักขาย” ของตัวเอง เพราะเขาเคยทำธุรกิจมาหลากหลายไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ การเพาะเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ


“ผมมักจะพูดจะแนะนำสินค้าไว้ก่อน แม้ว่าคนที่ฟังตอนนั้นอาจยังไม่สนใจ แต่พอเขามีความต้องการเมื่อไหร่ก็จะคิดได้และก็โทรหาผม”


ประเด็นสำคัญก็คือ ผลิตภัณฑ์โอ ออร์คิดในเวลานี้ยังไม่สมบูรณ์พร้อม มีบางชิ้นส่วนที่ในตลาดไทยมีราคาแพงมีความจำเป็นต้องสั่งนำเข้าจากประเทศจีน ซึ่งระหว่างที่รอนี้ ณัฐกานต์กับทีมได้ตกลงใจกันว่าจะทำผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ “สมาร์ทโฮม” (ป้องกันขโมยและการเปิดปิดไฟออนไลน์) เพื่อมาขัดตาทัพ เพื่อหารายได้ไปพลางๆก่อน


"มีคนในทีมเราคิดเรื่องผลิตภัณฑ์มาตั้งนานแล้ว และเราก็ได้คุยกับทีมแฮนดี้วิงส์ซึ่งเข้าร่วมแข่งในโครงการเถ้าแก่น้อยเหมือนกัน ซึ่งเขาทำเรื่องของซ่อมแซมบ้านและลูกค้าเขาก็ถามเรื่องนี้เยอะ ถ้าเราจับมือกันก็น่าจะโอเค"


การทำสองอย่างในเวลาเดียวกันไม่ได้เป็นปัญหา ณัฐกานต์ บอกว่าแม้ผลิตภัณฑ์โอ ออร์คิด กับสมาร์ทโฮมจะมีตัวเซ็นเซอร์ และตัวการเปิดปิดที่แตกต่างกัน แต่มันก็เป็นคำสั่งเดียวกัน โปรแกรมเดียวกัน ที่เขียนเหมือนกันทุกอย่าง


ถามว่าการปรับโหมดจากที่เคยทำธุรกิจเล็กๆเป็นเอสเอ็มอีมาเป็นสตาร์ทอัพ ว่ายากง่ายอย่างไร เขามองว่าไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรูปแบบใด ล้วนต้องขายสินค้าและบริการทั้งสิ้น ดังนั้นการสื่อสารจึงมีความสำคัญ และอย่างที่ได้กล่าวไป เขามองว่าตัวเขาโดดเด่นในเรื่องของการเจรจา สำหรับเขาแล้วจึงเป็นเรื่องที่สบายๆ


“ตอนนี้เราขาดเรื่องเงินทุน ผมไม่เคยติดฝันว่าสิ่งที่ทำจะต้องใช้เงินมากขนาดนี้ ก็เลยอยากได้เงินทุนมาใช้จ่ายซื้อของ ส่วนเรื่องการกินการอยู่ของทีมก็ไม่ห่วงเพราะพวกเรายังกินมาม่าได้”


ความเป็นจริงก็คือ ทีมโอ ออร์คิด ยังอยู่ตรงจุดเริ่มต้นบนเส้นทางที่แสนยาวไกล ซึ่งต้องรอพิสูจน์ว่าพวกเขาจะไปถึงฝันได้หรือไม่

นับข้อดีมี 6 ข้อ
จุดเด่นของโอ ออร์คิด มีอยู่ด้วยกัน 6 ข้อ ดังนี้
1. สามารถดูข้อมูลอุณหภูมิและความชื้นที่อุปกรณ์ได้
2. สามารถดูข้อมูลอุณหภูมิและความชื้นที่สมาร์ทโฟน
3. สามารถดูข้อมูลที่แสดงในรูปแบบกราฟที่บันทึกอุณหภูมิและความชื้นได้
4. สามารถสั่งงานอุปกรณ์ผ่านทางเว็บ และ แอพ ได้
5. สามารถเก็บข้อมูลปริมาณการใช้น้ำ และแสดงในรูปแบบกราฟได้
6. สามารถดูข้อมูลปริมาณการใช้น้ำผ่านเว็บ และแอพ ได้


ซึ่งประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับก็คือ ได้รู้ถึงข้อมูลอุณหภูมิและความชื้นภายในฟาร์มกล้วยไม้, ช่วยลดแรงงานและค่าแรงในการดูแลทำงานในฟาร์ม, ช่วยบันทึกข้อมูลการใช้น้ำและปุ๋ย เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ความเพียงพอของปริมาณน้ำที่ต้องใช้ในอนาคตและลดปริมาณการใช้น้ำและปุ๋ยในฤดูต่างๆ ทั้งหมดก็คือ การช่วยเพิ่มผลผลิตของกล้วยไม้อย่างมีประสิทธิภาพ


"มันเป็นเหมือนการยืดฤดูฝนให้กับเกษตรกรเรียกว่าแทบทั้งปีเลยก็ว่าได้ ซึ่งฤดูฝนเป็นฤดูที่ทำให้พืชเติบโตได้ดีที่สุด แต่ในความเป็นจริงก็คือ ถ้าฝนตกมากเกินไปรากของพืชก็อาจจะเน่าได้ แต่ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นฤดูฝนที่จะไม่ทำให้รากของพืชเน่า"