เศรษฐกิจโลกไม่ฟื้น ฉุดส่งออกร่วง4.2%

เศรษฐกิจโลกไม่ฟื้น ฉุดส่งออกร่วง4.2%

ส่งออกเดือนต.ค.ร่วง 4.2% เหตุเศรษฐกิจโลกซบเซา ตลาดหลักติดลบ พาณิชย์ยังมั่นใจเฉลี่ยทั้งปีตามเป้าติดลบไม่เกิน 1% "ธปท."เตือนรับมือตลาดเงินป่วน

กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการค้าระหว่างประเทศในเดือน ต.ค. 2559 สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจโลกยังซบเซา โดยยอดส่งออกของไทยในเดือน ต.ค. กลับมาติดลบ 4.2% และเฉลี่ย 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) ติดลบ 1.0%

มูลค่าการส่งออกในเดือน ต.ค.2559 มีมูลค่า 17,738 ล้านดอลลาร์ หรือติดลบ 4.2% ซึ่งเป็นการกลับมาติดลบอีกครั้งในรอบ 2 เดือน จากเดือน ส.ค.ที่การส่งออกเป็นบวก 6.54%และ ก.ย.ส่งออกบวก 3.43% โดยเป็นการลดลงของทั้งกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะรถยนต์และส่วนประกอบ ทองคำ และเหล็ก รวมไปถึงสินค้าเกษตรสำคัญ

เฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค. - ต.ค.2559) มีมูลค่าส่งออกรวม 178,251 ล้านดอลลาร์ หรือติดลบอยู่ที่ 1% ซึ่งยังดีกว่าภาวะการส่งออกของโลกในภาพรวมที่ติดลบ 4.1%

ตัวเลขการส่งออกในเดือน ต.ค.2559 หากไม่รวมน้ำมันและทองคำ ตัวเลขจะอยู่ที่ติดลบ 2.8% โดยสาเหตุติดลบค่อนข้างมากเป็นเพราะการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ซึ่งลดลงถึง 2.7%จากมูลค่าส่งออก ขณะน้ำมันสำเร็จรูปติดลบ 27.6%คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบติดลบ 9.3%ทองคำติดลบ 40% และรถยนต์และส่วนประกอบติดลบ 5.8%

ด้านการนำเข้าในเดือน ต.ค.2559 มีมูลค่า 17,535 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง เพิ่มขึ้น 6.5% และเฉลี่ย 10 เดือนการนำเข้ามีมูลค่า 160,073 ล้านดอลลาร์ หดตัว 5.9% ส่งผลให้การค้าเกินดุล 248 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกัน

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ส่งออกติดลบมากกว่าคาดมาจากเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงชะลอตัว ประกอบกับสหรัฐ ที่แม้จะมีสัญญาณบวกจากการจ้างงาน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจแต่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และเศรษฐกิจของทางญี่ปุ่นยังคงซบเซา

“สาเหตุที่ทำให้การส่งออกในเดือน ต.ค.กลับมาติดลบอีกครั้งในรอบปีนี้ เนื่องจากการส่งออกสินค้าทองคำและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันส่งออกลดลง จากราคาน้ำมันดิบที่ยังมีทิศทางทรงตัวต่ำ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวน อีกทั้งฐานการส่งออกในปีที่ผ่านมามีมูลค่าสูงจึงทำให้การส่งออกในเดือนนี้ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา"

แม้ตัวเลขเฉลี่ย 10 เดือนยังติดลบ 1% แต่นางสาวพิมพ์ชนก ยังมั่นใจว่าภาพรวมการส่งออกของไทยในปีนี้จะยังคงอยู่ในแดนบวก เนื่องจากมีปัจจัยหนุนหลายด้าน อาทิ ราคาน้ำมัน การเติบโตของสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนตลาดการค้าอาเซียนเติบโตต่อเนื่อง

“ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ จะเป็นช่วงเวลาที่ได้รับปัจจัยบวกรอบด้าน กระทรวงฯ จึงประเมินภาพรวมส่งออกทั้งปีนี้อยู่ที่ -1% - 0% เช่นเดิม”

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า ส่งออกจะเป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้จะต้องมีภาพรวมมูลค่าเฉลี่ยรวม 3.62 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 1.81 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้การส่งออกของปีนี้เป็นบวกอยู่ที่ 0.0%

“เป้าหมายปีนี้กระทรวงฯ ยังมั่นใจว่าจะสามารถผลักดันภาคส่งออกของไทยให้ปิดตัวเลขอยู่ในแดนบวกได้ และจะไม่ติดลบถึง 0.4% อย่างที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยประกาศ ซึ่งปัจจัยบวกต่อภาคการส่งออกในปีนี้ ยังคงเป็นราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญผ่านจุดต่ำสุดของปีไปแล้ว และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น มูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันก็น่าจะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ที่น่าจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงก็จะทำให้สินค้าไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน และคาดว่าธนาคารการสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.นี้ ส่วนผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปัจจุบันยังไม่ส่งผลผันผวนต่อตลาดเงินและตลาดทุนอย่างชัดเจน”

กกร.ถกประเมินสถานการณ์6ธ.ค.นี้

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า กกร.จะมีการประชุมในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ เพื่อร่วมกันประเมินการส่งออกของไทยในปีนี้อีกครั้ง หลังจากตัวเลขการส่งออกล่าสุดในเดือน ต.ค.ปรับลดลง 4.2%

“ยังเชื่อว่าทั้งปีนี้การส่งออกจะติดลบเพียง 0.5% น้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะติดลบถึง 2%”

นายปรีดี กล่าวว่าตัวเลขการส่งออกควรพิจารณาภาพรวมเป็นรายปี ไม่ควรดูตัวเลขเป็นรายเดือน เนื่องจากคำสั่งซื้อ และปัจจัยในแต่ละเดือนมีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรกอย่างแน่นอน

เอชเอสบีซีชี้ส่งออกทรุดเกินคาด

ด้านนางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกเดือน ต.ค.2559 กลับมาหดตัวหลังจากเปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักมาจากปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรน้อยลง แต่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังลดลงด้วย

“สะท้อนถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์ในตลาดโลกที่ยังคงซบเซา”

สำหรับการนำเข้าเติบโต 6.5% นางสาวนลิน กล่าวว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และการนำเข้าทองคำที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทุนยังคงอ่อนแอ

“10 เดือนแรก การหดตัวของการส่งออกยังคงใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของเรา และ ธปท. ตัวเลขส่งออกที่ออกมาน่าผิดหวังครั้งนี้ ไม่น่าจะทำให้มุมมองเศรษฐกิจในภาพรวมของ ธปท.เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ คาดว่า ธปท.จะไม่มีการปรับดอกเบี้ยนโยบายในช่วง 1-2 ไตรมาสข้างหน้านี้”

ธปท.จี้‘ผู้ส่งออก-นำเข้า’บริหารเสี่ยงค่าเงิน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เงินบาทยังคงมีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง จากหลายๆ ปัจจัย โดยเฉพาะอนาคตปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์อาจเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แม้ไม่ได้เป็นปัจจัยเชิงเศรษฐกิจ แต่ก็ส่งผลต่อราคาสินทรัพย์และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ ดังนั้นผู้ประกอบการทั้งนำเข้าและส่งออก จำเป็นต้องมีทักษะในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี

ส่วนความผันผวนของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจัยภายในของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน บางประเทศมีปัญหาเรื่องการเมืองภายใน ขณะที่บางประเทศพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศมากเกินไป เมื่อมีเหตุการณ์จากภายนอกมากระทบ จึงทำให้เงินทุนไหลออกจากประเทศเหล่านี้มากกว่าประเทศอื่นๆ

สำหรับประเทศไทย ถือว่ามีภูมิคุ้มกันที่ดี สามารถรองรับความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค อย่างไรก็ตามสถานการณ์ค่าเงินบาท ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูต่อเนื่อง เพราะอนาคตอาจมีข่าวใหม่ๆ เข้ามากระทบและสร้างความผันผวนกับอัตราแลกเปลี่ยนได้เช่นกัน

“สิ่งที่แบงก์ชาติเตือนมาตลอด คือ ความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในตลาดเงินและตลาดทุน ยิ่งเวลาที่สภาพคล่องส่วนเกินอยู่ระดับสูง และเงินไหลเข้าในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จำนวนมาก รวมทั้งประเทศไทย เวลาที่ข้างนอกเกิดเหตุการณ์ขึ้น ก็ส่งผลให้มุมมองของนักลงทุนที่เคยอยู่ในภาวะกล้าเสี่ยง กลายมาเป็นภาวะที่กลัวเสี่ยง ทำให้เงินทุนจากไหลเข้า กลายเป็นไหลออกได้”

ส่วนการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเดือน ธ.ค.นี้ นายวิรไท กล่าวว่า ตลาดเงินกว่า 90% คาดการณ์ว่า การประชุมรอบนี้ เฟด อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดังนั้นหากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยจริง ก็คงไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงินมากนัก เพราะตลาดได้คาดการณ์ไว้บ้างแล้ว