'สมคิด'งัดสูตร X-Y-Z ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

'สมคิด'งัดสูตร X-Y-Z ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

"สมคิด" งัดสูตรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ "X-Y-Z" สร้างความเข้มแข็งศก.ฐานรากต่อเนื่องถึงปีงบฯ 61 ครม.อนุมัติดึงงบโครงการต่ำกว่าพันล.จัดสรรใหม่

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าได้หารือกับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไปของรัฐบาลว่า ต้องมีความต่อเนื่องจากปัจจุบันไปจนถึงปีงบประมาณ 2561 โดยเน้นการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ที่ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างการเติบโตที่สมดุล (Balance Growth) คือการพึ่งพาเศรษฐกิจได้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้การจัดสรรงบประมาณเป็นเครื่องมือ

แบ่ง3ส่วนจัดโครงการใช้งบ

ทั้งนี้ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีว่าจะแบ่งการจัดทำโครงการ 3 ส่วน 1.การดึงงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ที่ทำโครงการขนาดไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ภายในวันที่ 30 ธ.ค.นี้ ซึ่ง ครม.มีมติให้เรียกคืนงบส่วนนี้ เพื่อนำไปจัดสรรใหม่และทำโครงการใหม่ โดยนำงบที่เรียกคืนส่วนนี้รวมกับงบประมาณกลุ่มจังหวัดที่จะจัดสรรเพิ่ม เพื่อนำไปทำโครงการสนับสนุนการเข้มแข็งของชุมชน

2.งบประมาณเพิ่มเติมที่จะจัดสรรลงไปให้กับกลุ่มจังหวัดและท้องถิ่นช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย.2560 ถือว่าเป็นช่วงรอยต่อระหว่างปีงบประมาณ 2560 -2561 นายกรัฐมนตรีอยากให้จัดทำงบประมาณส่วนนี้ ให้เกี่ยวกับการปฏิรูปเศรษฐกิจฐานราก และเชื่อมโยงกับการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ให้กลุ่มจังหวัดเป็นหัวใจหลัก ในการวางกลยุทธ์ อาจมีนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้องไปทำร่วมด้วย เช่น ภาคการผลิตไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งได้ให้กระทรวงการคลังไปดูแนวการจัดสรรงบประมาณเพิ่ม

และ 3.การจัดทำงบประมาณปี 2561 มีการปรับรูปแบบการจัดทำงบประมาณไปพอสมควร โดยใช้กลไกของกลุ่มจังหวัด และท้องถิ่นเข้ามามีส่วนกำหนดและวางแผนงบประมาณมากขึ้นจากเดิม ที่เป็นการกำหนดงบประมาณจากส่วนกลางเท่านั้น เป็นการแก้ปัญหาที่โครงการในกลุ่มจังหวัดไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะได้รับจัดสรรงบประมาณน้อยเกินไป

ถกผู้ว่าฯทั่วประเทศปลายเดือนนี้

ทั้งนี้ได้หารือกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จะมีการประชุมร่วมกันภายในเดือน พ.ย.นี้ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อชี้แจงแนวทางการจัดทำงบประมาณปี 2561 จากนั้นจะให้ทุกกลุ่มจังหวัด ประชุมยุทธศาสตร์ด้วยกัน โดยใช้แนวทางการจัดทำงบประมาณใหม่ที่จะเปลี่ยนทิศทางการใช้งบประมาณของประเทศ โดยเป็นยุทธศาสตร์ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดจะให้เวลาประมาณ 2 เดือน เพื่อให้ประชุมร่วมกันระหว่างราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ก่อนที่จะเสนอโครงการที่จะทำต่อเนื่องไปถึงในปี2561 และต่อไปในระยะอีก 4 ปี เพื่อให้การปฏิรูปนี้เป็นการต่อเนื่องระยะ 5 ปี ให้มีความสอดคล้อง ความต้องการงบประมาณ

XYZขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“เราจะมีแผนเชื่อมต่อไปถึงปี2561 สมการนี้ผมเรียกว่า XYZ ส่วนแรกเรียกว่างบ X คืองบประมาณไม่เกิน 1 พันล้านบาท ที่เบิกจ่ายไม่ได้ให้ดึงกลับมา ส่วนงบประมาณที่เรากำลังทำระหว่างนี้คืองบประมาณ 2561 เป็นงบประมาณ Z ส่วนที่นายกฯ บอกว่า ช่วง ม.ค. - ก.ย.2560 มีช่องว่างอยู่ จะหาทางเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยให้เตรียมทำโครงการในช่วงก่อนที่จะทำงบประมาณปี 2561 คือในช่วง Y ที่มีช่องว่างอยู่เป็นโครงการระหว่าง X กับ Z สิ่งที่ต้องทำคือต้องทำในช่วง Y เพื่อให้ครบ ได้ให้กระทรวงการคลังไปหางบประมาณเพิ่มในการทำช่วง Y ให้ครบเป็น XYZ ที่จะใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สอดคล้องต่อเนื่องกัน”นายสมคิด กล่าว

รื้อแนวคิดจัดทำงบประมาณปี61

นายสมคิด กล่าวถึงการจัดทำงบประมาณในปี 2561 ว่าถือเป็นการปฏิรูปการจัดทำงบประมาณจะมีการปรับแนวคิด การจัดสรรงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทย และองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน ซึ่งต่างจากในอดีตที่งบประมาณจะมาจากส่วนกลางเป็นหลัก ต่อจากนี้ไปพื้นที่ในระดับฐานรากของประเทศจะเป็นแกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกเหนือจากส่วนกลางที่มีบทบาทมากในอดีต

การจัดสรรงบประมาณลักษณะนี้นายกรัฐมนตรี อยากให้มีการยกระดับ ความเข้มข้นของการดำเนินโครงการต่างๆ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก็ดีถนนเข้าสู่ชนบท การพัฒนาเกษตรโดยการแปรรูปสินค้า การทำโครงสร้างชนบทที่เป็นพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ยุ้งฉาง ลานตาก ไซโล การพัฒนาเรื่องของฝายแหล่งน้ำ สถานที่ท่องเที่ยวชุมชนที่จะเข้าสู่ชุมชนโดยตรง หรือการตลาดท้องถิ่นที่จะเชื่อมโยงกับที่ต่างๆ โดยเวลาการทำโครงการถึงเดือนม.ค.- 30 ก.ย. 2560 จากนั้นเป็นช่วงใช้งบประมาณปี 2561

ย้ำต้องไม่เป็นภาระการคลัง

อย่างไรก็ตาม โครงการและการจัดทำงบประมาณในลักษณะนี้ ต้องไม่เป็นภาระทางการคลัง มีความปลอดภัยในการดำเนินนโยบายการคลังสำหรับประเทศ สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น เป็นรูปแบบเดียวกับที่จีนประสบความสำเร็จในการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในมณฑลและเมืองต่างๆมาแล้ว

“เดิมงบประมาณที่ได้รับในแต่ละจังหวัดมีเพียง 300-400 ล้านบาทต่อจังหวัดต่อปี มีงบกลางของกลุ่มจังหวัดอีก 100 ล้านบาท แนวคิดแบบนี้จะค่อยๆเปลี่ยนไป ปีนี้จะให้งบในส่วนจังหวัดมากขึ้น โดยลดงบประมาณฟังก์ชั่นและงบประมาณแบบ Agenda ของส่วนกลางลงมาสู่จังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้มากขึ้น กลุ่มจังหวัดต้องให้เขาเริ่ม เราไม่เคยเปิดโอกาสให้เขาเริ่มทำในอนาคตเขาต้องเก็บภาษีเอง ดังนั้นต้องการให้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจตรงนี้อย่างจริงจัง กลุ่มจังหวัดให้มีบทบาทมากขึ้นมีความเข้มแข็งมากขึ้น แบบที่จีนเขาเจริญ เพราะเขากระจายอำนาจเรื่องนี้ออกไป” นายสมคิด กล่าว

โยกลงทุนโครงการเร่งด่วนแทน

นายสมศักดิ์ โชติรัตนศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า โครงการลงทุนวงเงินต่ำกว่า 1 พันล้าน และ การเบิกจ่ายงบประจำไม่ทันภายในวันที่ 30 ธ.ค.นี้ ให้หน่วยงานดังกล่าวปรับแผนการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ในแง่วงเงินงบที่เบิกจ่ายไม่ทันจะมีจำนวนเท่าใด ก็ต้องรอให้สิ้นสุดเวลาก่อน ซึ่งการปรับแผนการใช้จ่ายงบ ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายให้มีความรวดเร็วและมีเกิดประโยชน์มากที่สุด

ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ ยืนยันว่า สำนักงบยังไม่มีนโยบายที่จะจัดทำ พ.ร.บ.โอนงบประมาณในขณะนี้

สำหรับรายการลงทุนที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล จะต้องเป็นโครงการที่ช่วยแก้ไขปัญหาประชาชน อาทิ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานระดับท้องถิ่น เช่น ระบบสาธารณูปโภค แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ถนน ไฟฟ้า ทางเท้าสำหรับผู้สูงอายุ ส่งเสริมการประกอบอาชีพ จัดซื้อเครื่องมือการเกษตร สนับสนุนการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร สนับสนุนการลงทุนตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียง การลงทุนของเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน เป็นต้น

“โครงการลงทุนที่จะถูกปรับปรุงนั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีต้นสังกัด และ ถ้าเข้าข่ายเป็นโครงการเชิงบูรณาการก็ต้องส่งให้รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบพิจารณาด้วย”

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ส่วนราชการมีความพร้อมที่จะเซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้างงบลงทุนหลังจากกฎหมายงบประมาณปี 2560 ผ่านสภานิติบัญญัติ (สนช.) คิดเป็นเม็ดเงินเกือบ 1 แสนล้านบาท นั่นหมายความ ภายในเดือน ต.ค.นี้ การเซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้างงบลงทุนจะเกิดขึ้น จากนั้น กระบวนการเบิกจ่ายงบก็จะเกิดขึ้นราวเดือนธ.ค.หรืออย่างช้าที่สุดภายในเดือน ม.ค.ปี2561

การเร่งรัดให้ส่วนราชการเบิกจ่ายให้ได้ตามเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสแรก จะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมทั้งปีมีโอกาสเป็นไปตามเป้าได้มากขึ้น โดยเป้าหมายภาพรวมการเบิกจ่ายทั้งปีอยู่ที่ 96%