เผยผลสำรวจ สามี/แฟน ทำร้ายผู้หญิงบังคับให้มีเซ็กซ์

เผยผลสำรวจ สามี/แฟน ทำร้ายผู้หญิงบังคับให้มีเซ็กซ์

เผยผลสำรวจ สามี/แฟน เกือบครึ่งทำร้ายผู้หญิงแถมบังคับให้มีเซ็กซ์ ขณะที่71.7%ซ่อนกิ๊กคบเผื่อเลือก

ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กปี2559 ภายใต้แนวคิด“คุณทำได้ ผู้ชายตัวจริง ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก”(Man Can Do Stop Violence) โดยน.ส.อุสุมา เกตุท่าหัก เจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ  มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากผลสำรวจล่าสุดปี 2559 ต่อปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในกลุ่มผู้ชายจำนวน1,617 ตัวอย่าง อายุ20–35 ปีในพื้นที่กรุงเทพฯปริมณฑลและต่างจังหวัด ได้แก่ จ.ชุมพร เชียงใหม่ ลำปาง 

พบว่า ผู้ชายกว่า 80%เคยพูดตะคอกเสียงดังต่อภรรยาและคนรัก อีกทั้ง74.7%มักจะใช้คำหยาบคายเมื่อโมโห ชอบระบายอารมณ์ ที่น่าห่วงคือ 71.7% แอบมีกิ๊ก คบกับผู้หญิงหลายคน เผื่อเลือก และเมื่อเกิดอารมณ์โมโห สิ่งที่ผู้ชายเลือกทำ คือ57.3%ทำลายข้าวของในบ้าน 68.9%ออกไปดื่มเหล้านอกบ้าน ที่น่าห่วงคือ44.8%เมื่อดื่มเหล้าจนเมาแล้วจะทำร้ายภรรยาหรือแฟน และ42.4%ยังบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย

น.ส.อุสุมา กล่าวอีกว่า เมื่อถามว่าหากพบเห็นการทำร้ายร่างกายและการใช้ความรุนแรง  กลุ่มตัวอย่าง12.9%เลือกที่จะอยู่เฉยๆไม่เข้าไปห้าม ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่าง 1 ใน 3 ที่มองผู้หญิงที่แต่งงานแล้วต้องเป็นสมบัติของสามี ต้องดูแลงานบ้าน ดูแลลูก มองว่าผู้ชายเท่านั้นที่ต้องเป็นผู้นำครอบครัว ขณะที่ผู้ชาย1 ใน 4 เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า “ผู้ชายไม่เจ้าชู้เหมือนงูไม่มีพิษ”และ“ผู้ชายตัวจริงต้องกินเหล้า”และการคุมกำเนินต้องเป็นหน้าที่ฝ่ายหญิง ที่สำคัญมีถึง 14% ระบุว่าการที่ผู้ชายใช้ความรุนแรงเป็นเพราะหึงหวง ต้องการแสดงออกว่ารัก รวมถึงระบุว่าหากมีโอกาสแล้วไม่ล่วงเกินผู้หญิงถือว่าไม่ฉลาด

น.ส.อุสุมา กล่าวด้่วยว่า จากผลสำรวจข้างต้น มูลนิธิฯขอฝากเป็นข้อเสนอ คือ ระดับบุคคลและครอบครัว ควรปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดู เน้นเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ไม่ใช้ความรุนแรง ให้เกียรติกัน ผู้ชายสามารถทำงานบ้านช่วยเหลือผู้หญิงได้ ขณะเดียวกันกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)ควรรณรงค์กับผู้ชายอย่างต่อเนื่องจริงจัง เพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนทัศนคติระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ใช้ความรุนแรง และประชาสัมพันธ์ช่องทางการให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ควรปรับหลักสูตรในประเด็นบทบาทหญิงชาย มีการอบรมความรู้ความเข้าใจในปัญหาความรุนแรงในครอบครัวให้กับครูในสังกัดกระทรวงศึกษาฯ เพื่อนำไปสู่การถ่ายทอดและสร้างทัศนคติให้กับเด็กมีการเคารพสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ  ส่วนสื่อมวลชนเองไม่ควรผลิตซ้ำภาพความรุนแรงในครอบครัว ควรเน้นการนำเสนอความเท่าเทียม การให้เกียรติ และทางออกในการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง