รฟท.เตรียมเคาะใช้ที่ดิน3หมื่นไร่ พัฒนาเชิงพาณิชย์

รฟท.เตรียมเคาะใช้ที่ดิน3หมื่นไร่ พัฒนาเชิงพาณิชย์

การรถไฟฯเตรียมเคาะใช้ประโยชน์ที่ดินเปล่า 3 หมื่นไร่ มูลค่า 3 แสนล้านบาทภายในเดือนหน้า หวังเร่งเดินหน้าตามแผนปฏิรูปเพิ่มรายได้

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ร.ฟ.ท.มีที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์รวม 3 หมื่นไร่ มูลค่ารวมกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดประเภท และลำดับความสำคัญเพื่อต่อยอดหารายได้ในเชิงพาณิชย์ โดยจะนำออกพัฒนาเพื่อให้เอกชนเข้าร่วมทุนอย่างแน่นอน

“จะเริ่มจากที่ดินแปลงใหญ่ก่อน คาดว่าระยะแรกจะทำให้รายได้ของร.ฟ.ท.เพิ่มขึ้น 50% และในระยะยาวเพิ่มขึ้นถึง 100%”

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มอบหมายให้ ร.ฟ.ท.ศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดินของ ร.ฟ.ท.ว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่ คาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ทั้งหมดภายในเดือนธ.ค.นี้

ร.ฟ.ท.ถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีที่ดินในการถือครองถึง 2.3 แสนไร่และในจำนวนนี้เป็นที่ดินซึ่งไมได้ใช้ประโยชน์เพื่อการเดินรถถึง 15% หรือราว3.6หมื่นไร่ แต่กลับไม่ใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพและมีรายได้จากการพัฒนาที่ดินน้อยมาก

เมื่อรัฐบาลจัดร.ฟ.ท.เป็นหนึ่งใน7รัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนและเข้าข่ายต้องฟื้นฟูกิจการร.ฟ.ท.จึงได้หยิบยกประเด็นการสร้างรายได้จากการพัฒนาที่ดินขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งอย่างจริงจังโดยตั้งเป้าหมายให้รายได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นอีกหนึ่งรายได้หลักนอกจากค่าโดยสารและการขนส่งเชิงพาณิชย์

คาดศึกษาใช้ที่ดินเสร็จอีก5เดือน

แหล่งข่าวจากการถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ร.ฟ.ท. อยู่ระหว่างจัดที่ปรึกษาเพื่อจัดประเภท และลำดับความสำคัญของที่ดินเพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์คาดว่าที่ปรึกษาจะสรุปผลเบื้องต้นได้ใน 3 เดือนข้างหน้าและสรุปรายงานฉบับสมบูรณ์ภายใน 5 เดือน

การศึกษาจะแบ่งที่ดินเป็น 3 ประเภทคือที่ดินที่มีศักภาพเชิงพาณิชย์สูงกลางและต่ำเบื้องต้นคาดว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงจะมีสัดส่วนไม่เกิน10%จากพื้นที่ทั้งหมด 3.6 หมื่นไร่เช่นพื้นที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อขนาด 302.5ไร่ โดยล่าสุดเตรียมเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในโซนเอจำนวน 32 ไร่ มูลค่าราว 1 หมื่นล้านบาทและคาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในปี 2561

พื้นที่สถานีน้ำแม่น้ำจำนวน 277 ไร่ที่จะเปิดให้ลงทุนประมาณกลางปี 2561 พื้นที่พหลโยธินกิโลเมตรที่ 11 ขนาด 359 ไร่ ซึ่งจะเปิดให้เอกชนลงทุนด้วยมูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านบาทภายในปี 2562 และที่ปรึกษาอยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่ศักยภาพสูงในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นอีก

แหล่งข่าวกล่าวว่า ร.ฟ.ท.ตั้งเป้าหมายว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะส่งผลเพิ่มรายได้จากค่าเช่าพื้นที่ของ ร.ฟ.ท.จาก 3,000 ล้านบาท ในปัจจุบันอีก 50% ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี และเพิ่มขึ้น 100% หลังจากช่วง 5 ปีไปแล้ว

จ่อปรับแบบรถไฟฟ้า2สายในกทม.

นายวุฒิชาติ กล่าวว่าร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างปรับแบบโครงการรถไฟฟ้าชายเมืองสายสีแดงอ่อนช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้มบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร วงเงิน 4.4 หมื่นล้านบาท เพื่อเร่งผลักดันโครงการ เนื่องจากปัจจุบันล่าช้าในขั้นตอนประกวดราคาเป็นเวลาประมาณ 9 เดือนแล้ว

ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงMissing Link ได้รับผลกระทบจากความล่าช้าของโครงการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ เนื่องจากรถไฟฟ้าส่วนใหญ่จะมีปลายทางที่สถานีกลางบางซื่อ เมื่อการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อล่าช้าออกไปถึงปี 2562-2563 ก็ส่งผลให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงฯล่าช้าตามไปด้วย

"ตอนนี้กำลังดูปรับแบบรถไฟฟ้าสายสีแดง Missing Link ว่าจะดำเนินการก่อสร้างได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเดินรถ ขณะเดียวกัน เร็วๆนี้จะลงพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ เพื่อดูปัญหาการเจรจาส่งมอบพื้นที่ในสัญญาที่ 1-2 และจะปรับแบบสัญญาที่ 1-3 ให้การทำงานสอดรับกัน"

ศึกษาแอร์พอร์ตลิงก์เชื่อมอู่ตะเภาใกล้เสร็จ

นายวุฒิชาติ กล่าวถึงการศึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ช่วงสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภาใกล้แล้วเสร็จ แต่ยังติดปัญหาเส้นทางซ้อนทับกับโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยองระยะทาง 193.5 กิโลเมตร วงเงิน1.5แสนล้านบาท ร.ฟ.ท.จึงต้องปรับแบบและสร้างความชัดเจนในจุดนี้ก่อน

"วันนี้การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงมีมูลค่าสูงเอกชนจึงต้องมั่นใจว่าทั้ง 2 โครงการ จะไม่แย่งลูกค้ากันเราจึงต้องดูว่าเป็นไปได้และประโยชน์รวมถึงปรับแนวเส้นทาง และตลาดของแต่ละโครงการให้ชัดเจน"

หวังทางคู่ดันรายได้ก้าวกระโดด

นายวุฒิชาติ กล่าวถึงรถโดยสารรุ่นใหม่จำนวน 115 คันว่าเริ่มเปิดให้บริการแก่ประชาชนใน 4 เส้นทาง ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น จะเพิ่มรายได้ให้ ร.ฟ.ท.ประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี แต่เมื่อโครงการรถไฟทางคู่เฟสแรกแล้วเสร็จประมาณปี 2563 จะทำให้รถวิ่งได้เต็มศักยภาพทำความเร็วสูงสุดได้ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และถึงปลายทางได้เร็วขึ้น 3 ชั่วโมง ซึ่งจะสร้างรายได้ก้าวกระโดดเป็น 1,250 ล้านบาทต่อปี และมีผู้โดยสารเฉลี่ย 1.073 ล้านคน

สำหรับ อัตราค่าโดยสารรถโดยสารรุ่นใหม่ยังคงเป็นอัตราเดิมเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อตอบแทนผู้โดยสารและจะพิจารณาผลการบริการในช่วง 3 เดือนแรก ก่อนเพื่อพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารต่อไป แต่คงไม่เพิ่มขึ้นมากนักเนื่องจากต้องแข่งขันกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ และถ้าได้รับการตอบรับที่ดีก็จะจัดหารถโดยสารใหม่มาให้บริการเพิ่ม