ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-10 บาท มีผล 1ม.ค.60

ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-10 บาท มีผล 1ม.ค.60

ชงครม.วันนี้ ขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 5–10 บาททั่วประเทศ มีผล 1 ม.ค. 2560 แรงงานแจงหอการค้าไทย–ต่างประเทศ ด้านเอกชนพอใจปรับขึ้นตามศก.พื้นที่

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าในวันนี้ (15 พ.ย.) กระทรวงแรงงานจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใน 69 จังหวัดทั่วประเทศในอัตรา 5-10 บาท ตามมติของคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ได้มีมติปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานปี 2560

หลังจาก ครม.เห็นชอบจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560

กระทรวงได้มีการเชิญตัวแทนจาก 16 หอการค้าต่างประเทศ หอการค้าแห่งประเทศไทยและ 22 สมาคมการค้ามาชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่กระทรวงแรงงานทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการพิจารณาปัจจัยต่างๆอย่างรอบคอบ

ทั้งนี้การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.จังหวัดที่ไม่มีการปรับค่าจ้างแรงงานโดยคงค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่ 300 บาทต่อวันจำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ คือ สิงห์บุรี,ชุมพร,นครศรีธรรมราช,ตรัง,ระนอง,นราธิวาส,ปัตตานี และยะลา

2.กลุ่มจังหวัดที่ปรับขึ้น 10 บาทต่อวัน จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และภูเก็ต

3.กลุ่มที่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 8 บาทต่อวัน จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, ชลบุรี, ระยอง, สุราษฎร์ธานี, สงขลา เชียงใหม่, สระบุรี, ฉะเชิงเทรา, กระบี่, พังงา และอยุธยา

4. กลุ่มที่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5 บาทต่อวัน มี 49 จังหวัด ได้แก่แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, น่าน, ตาก, กาญจนบุรี, ราชบุรี, สุพรรณบุรี ,เพชรบุรี, พัทลุง, สตูล, กำแพงเพชร, พิจิตร, แพร่, เพชรบูรณ์, อุทัยธานี, สกลนคร, กาฬสินธุ์, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, บุรีรัมย์, สุรินทร์, อำนาจเจริญ, ชัยนาท, ลพบุรี, นครนายก, สระแก้ว, ประจวบคีรีขันธ์, สมุทรสงคราม, จันทบุรี, ตราด, ลำพูน, พะเยา, สุโขทัย, อุตรดิตถ์, บึงกาฬ, นครพนม, อุบลราชธานี, อ่างทอง, เลย, หนองบัวลำภู, มุกดาหาร, ยโสธร ,เชียงราย, พิษณุโลก, อุดรธานี, ชัยภูมิ, ศรีษะเกษ, นครสวรรค์ และหนองคาย

เอกชนรับได้ขึ้นค่าจ้างตามพื้นที่

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ภาคเอกชนมีความเห็นที่ตรงกับภาครัฐว่าควรมีการปรับขึ้นตามข้อมูลทางเศรษฐกิจ และตัวเลขที่มีการศึกษานำมาคำนวณตามสภาพความเป็นจริง โดยใช้ข้อมูลจากในพื้นที่ ซึ่งแตกต่างจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งก่อนที่ปรับขึ้นทีเดียวในอัตรา 300 บาททั่วประเทศซึ่งทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะในต่างจังหวัดได้รับผลกระทบมาก

นายพจน์ กล่าวว่าการปรับค่าแรงในครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นหลังจากที่ไม่มีการปรับมาแล้วกว่า 4 ปี ซึ่งหอการค้าได้มีการทำความเข้าใจกับสมาชิกแล้วว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอยู่ในวิสัยน์ที่เอกชนสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ รวมทั้งคาดว่าภาครัฐจะมีมาตรการในการดูแลเพื่อให้เอกชนอยู่ในภาวะที่สามารถแข่งขันได้

“ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการเพิ่มขึ้นแบบการปรับค่าแรงทั่วประเทศในครั้งก่อน แต่เป็นการเพิ่มเป็นกลุ่มจังหวัด ซึ่งคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งเอกชนไม่กังวลกับการปรับค่าแรงแบบนี้เพราะไม่มีการเมืองมาเกี่ยวข้อง แต่ใช้เหตุผล ทฤษฎีในการอ้างอิง คาดว่าผลกระทบจะไม่รุนแรงเพราะการปรับขึ้นค่าแรงที่เฉลี่ย 7 บาทต่อวัน ถือเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเพียง 2% ถือว่าอยู่ในวิสัยน์ที่เอกชนจะบริหารจัดการได้ ซึ่งในขณะนี้เมื่อดูจากค่าเงินบาทที่อ่อนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเหลือเอกชนในการทำธุรกิจ อีกส่วนหนึ่งภาครัฐก็อาจจะมาช่วยดูในมาตรการเสริมที่จะช่วยเหลือเอกชนให้แข่งขันได้” นายพจน์ กล่าว

หอต่างชาติห่วงผลิตแรงงานป้อน

นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าต่างประเทศในไทย (เจเอฟซีซีที) กล่าวว่า การกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นเป็นรายจังหวัดช่วยสร้างความชัดเจนสำหรับนักลงทุนที่จะลงทุนในประเทศ จะมีข้อมูลเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ โดยการปรับเพิ่มค่าแรงในครั้งนี้ไม่สูงกว่า 3% ถือว่ากระทบไม่กับต้นทุนการผลิตของเอกชนไม่มาก

อย่างไรก็ตามสิ่งที่หอการค้าต่างประเทศฯจับตาดูนโยบายของภาครัฐก็คือการผลิตแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาด และภาคเอกชน โดยเฉพาะแรงงานที่จะสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่นอุตสาหกรรมการบิน และการพัฒนาแรงงานรับอุตสาหกรรมไฮเทคตามนโยบาย 4.0 ของรัฐบาล

นอกจากนั้นกระทรวงแรงงานได้ทำความเข้าใจกับตัวแทนจากหอการค้าต่างประเทศเกี่ยวกับแนวปฏิบัติสำหรับกิจกรรมที่ไม่เข้าข่ายเป็นการทำงานตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ตามนโยบายที่รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของภูมิภาค ตามนโยบายการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC)

ทั้งนี้ กิจการที่ไม่เข้าข่ายเป็นการทำงานตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว 2551 ประกอบด้วย 7 กิจกรรมที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตได้แก่ กิจกรรมการเข้าร่วมประชุมหรือสัมมนา กิจกรรมการเข้างานนิทรรศการหรืองานแสดงสินค้า กิจกรรมการเข้าเยี่ยมชมธุรกิจ หรือพบปะเจรจาธุรกิจ กิจกรรมการเข้ารับฟังการบรรยายพิเศษและวิชาการ กิจกรรมการเข้าฟังการบรรยายในการอบรมและสัมมนาทางด้านเทคนิค กิจกรรมการซื้อสินค้าในงานแสดงสินค้า และกิจกรรมการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริษัท ของตนตามประกาศของกรมการจัดหางาน

“สมคิด”จี้กำหนดยุทธศาสตร์แรงงาน

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมกระทรวงแรงงานพร้อมด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่าการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 กระทรวงแรงงานมีความสำคัญมากในการเตรียมความพร้อมและพัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับนโยบาย

นายสมคิด กล่าวว่าได้หารือกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าการวางแผนในการพัฒนาแรงงานต้องมีการวางแผนที่ชัดเจนทั้งในส่วนของกำลังแรงงานและการกำหนดยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกันเกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอุตสาหกรรม

นายสมคิด กล่าวว่าในสัปดาห์หน้านายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อตรวจเยี่ยมการทำงาน และร่วมกันหารือกับผู้บริหารกระทรวงว่าจะมีการกำหนดแผนแม่บทในการรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปีข้างหน้าอย่างไร

สั่งเร่งเพิ่มทักษะรับอุตฯใหม่

นายสมคิดยังกล่าวว่าได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานไปดูเรื่องของการปรับทักษะแรงงาน (re-skills) ของแรงงานที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนงานจากอุตสาหกรรมหนึ่งไปสู่อีกอุตสาหกรรมหนึ่ง จะต้องมีการดูแลเรื่องการปรับพื้นฐานแรงงานเพื่อรองรับการเข้าสู่การเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ๆ รวมทั้งแรงงานในภาคบริการที่มีแนวโน้มจะขยายตัวมากขึ้นต้องมีการพัฒนาและยกระดับแรงงานในสาขานี้ด้วย

“ในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้าอุตสาหกรรมที่เป็น S-Curve ใหม่ของประเทศใน 5 สาขา รวมทั้งเศรษฐกิจดิจิทัล จะมาแน่นอน ดังนั้นมาสเตอร์แพลนที่เป็นเรื่องการพัฒนาฝีแรงงานต้องออกมาให้มีความชัดเจน ว่าจะต้องวางแผนอย่างไร นอกจากนั้นได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานไปหารือกับภาคเอกชนเรื่องแรงงานต่างด้าวว่าเราจะมีการให้แรงจูงใจในการจ้างงานกับเขาอย่างไร รวมทั้งการดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานต่างด้าว พวกนี้ต้องให้กระทรวงสาธารณสุขเข้ามาดู ไม่อย่างนั้นเขาอาจจะกลับไปทำงานที่ประเทศของเขาหมดเมื่อตลาดแรงงานในเพื่อนบ้านเติบโตขึ้นในอนาคต”นายสมคิดกล่าว

“ประวิตร”ตั้งเป้าปีหน้าหลุดบัญชีค้ามนุษย์

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ได้มอบหมายนโยบายแก่ผู้บริหารของกระทรวงแรงงานให้ดำเนินภารกิจให้สำเร็จโดยเฉพาะปัญหาการค้ามนุษย์ที่ตั้งเป้าว่าในปี 2560 ประเทศไทยต้องสามารถหลุดจากบัญชีเฝ้าระวัง (Watch list) ในบัญชีเทียร์ 2 ให้ได้ โดยที่ผ่านมาการแก้ปัญหาแรงงาน และการค้ามนุษย์ถือว่ามีความคืบหน้าโดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องแรงงานประมงที่สหรัฐชื่นชมการแก้ปัญหา

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ในระยะต่อไปจะเร่งเดินหน้าการแก้ปัญหาโดยการให้สัตยาบันอนุสัญญากับองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่สำคัญอย่างน้อย 3 ฉบับ ได้แก่ อนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรอง อนุสัญญาฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงและพิธีสารภายในอนุสัญญาฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานภาคบังคับ และกำหนดให้กระทรวงแรงงานเป็นศูนย์กลางการบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานราชการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องในระยะยาว