Special One: เลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ :โอกาสของโดนัลด์ ทรัมป์

Special One:    เลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ :โอกาสของโดนัลด์ ทรัมป์

สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 45 ที่กำหนดจะมีขึ้นในวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน นี้ กล่าวกันว่า

อย่างน้อยที่สุด มีสองปัจจัยหรือกฏสองข้อที่จะบ่งบอกโอกาสของโดนัลด์ ทรัมป์ที่จะชนะการเลือกตั้งเหนือคู่แข่งอย่างฮิลลารี คลินตัน

                กฏข้อหนึ่ง เรียกว่า "กฏแห่งไพร์มารี"   เฮลมุท นอร์พอธ นักวิชาการรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้ศึกษาข้อมูลการเลือกตั้งย้อนหลังไปหลายทศวรรรษและจนสามารถพัฒนาแนวคิด "Primary Model" ขึ้นมาในปี 1996 เพื่อวิเคราะห์ทำนายผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี

                หลักสำคัญของ "Primary Model. หรืออาจจะเรียกว่า "กฏแห่งไพรมารี" ที่สามารถนำมาวิเคราะห์

ทำนายผลการเลือกตั้งได้อย่างถูกต้องแม่นยำ(เกือบ)ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็คือ ผู้สมัครของพรรคใดพรรคหนึ่ง (พรรคริพับลิกันและเดโมแครต) ที่สามารถทำคะแนนได้ดีกว่าผู้สมัครของอีกพรรคหนึ่ง(โดยเปรียบเทียบ) ในการแข่งขันชิงชัยรอบไพร์มารีเพื่อเป็นตัวแทนของพรรคก้าวขึ้นไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะมีโอกาสได้รับเลือกเป็นผู้นำประเทศสูงมาก

                ในการวิเคราะห์ทำนายผลการเลือกตั้งห้าครั้งหลังสุด (ปี1996 -2012) ปรากฏว่าถูกต้องทุกครั้ง โดยเฉพาะครั้งล่าสุดในปี 2012 ซึ่งเฮลมุท นอร์พอธได้วิเคราะห์ทำนายผลล่วงหน้าเกือบหนึ่งปีและฟันธงอย่างถูกต้องแม่นยำว่า บารัค โอบามาจะชนะมิตต์ รอมนีย์แบบสะดวกโยธิน

                อย่างไรก็ตาม กฏข้อนี้ไม่ตรงกับผลการเลือกตั้งในปี 2000 ซึ่งอัล กอร์พ่ายแพ้ให้แก่จอร์จ บุช แบบอื้อฉาวน่าเคลือบแคลงสงสัย เพราะปัญหาการนับคะแนนในมลรัฐฟลอริดาที่ต้องยุติตามคำสั่งของศาลและส่งผลทำให้อัล กอร์จำใจต้องยอมรับความพ่ายแพ้ ว่ากันว่าหากการนับคะแนนที่รัฐฟลอริดาโปร่งใสชัดเจน

ที่สุดไม่มีทฤษฏีสมคบคิดใดๆให้กังขาแล้ว อัล กอร์(จะ)ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกแห่งสหัสวรรษใหม่อย่างค่อนข้างแน่นอน

                ในขณะเดียวกัน หากนำกฏหรือโมเดลนี้ไปพิจาณาการเลือกตั้งย้อนหลังร้อยปีตั้งแต่ปี 1912 พบว่า มีความถูกต้องแม่นยำเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ (96.1%) ยกเว้นเฉพาะในปี 1960 เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นปีที่จอห์น เอฟ เคนเนดี้ชนะริชาร์ด นิกสันแบบหักตำราหักโมเดล

                สำหรับการเลือกตั้งในปี 2016 นี้ เฮลมุท นอร์พอธเชื่อมั่นในความถูกต้องและความขลังของกฏแห่งไพรมารี่เช่นเดิมพร้อมทั้งวิเคราะห์ทำนายผลตั้งแต่ต้นปีแบบมั่นใจว่า โดนัลด์ ทรัมปมีโอกาสสูงถึง 87 เปอร์เซ็นต์ที่จะได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 และอาจจะชนะฮิลลารี คลินตันมากถึง 5 จุดหลังการนับคะแนน เพราะสถิตข้อมูลในการแข่งขันรอบไพร์มารี่สะท้อนให้เห็นเช่นนั้น

                ถึงแม้จะเปิดตัวเกือบหลังสุด แต่โดนัลด์ ทรัมป์สามารถเอาชนะคู่แข่งอีก 16 คนได้แบบค่อนข้างสบายๆ มีผลงานที่ดีกว่าอย่างเห็นๆเมื่อเปรียบเทียบกับฮิลลารี คลินตันซึ่งเปิดตัวเป็นผู้สมัครคนแรกของพรรคเดโมแครต และตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่า "หืดขึ้นคอ" กว่าที่จะคว้าชัยเป็นตัวแทนของพรรคได้

                ทั้งนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ได้รับคะแนนสนับสนุนป๊อบปูล่าโหวตทั้งประเทศ (14 ล้านเสียง) มากกว่าเทด ครูซคู่แข่งอันดับสอง (7.8 ล้านเสียง) เกือบ 2 เท่า ในขณะที่ฮิลลารี คลินตันได้รับเสียงโหวต 17 ล้านเสียง มากกว่าคู่แข่งคือเบอร์นี่ ซานเดอร์สซึ่งได้รับ 13 ล้านเสียงเพียงแค่ 0.7 เท่า

 

                กฏข้อที่สองก็คือ "กฏแห่งโอไฮโอ" ถึงแม้จะเป็นเพียงรัฐเล็กๆรัฐหนึ่งที่มีจำนวนคะแนนเสียงสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีเพียงแค่ 18 เสียงเท่านั้น แต่ในวงการเมืองสหรัฐฯแล้ว ชื่อของ "โอไฮโอ" มีความหมายจนถึงขั้นศักดิ์สิทธิเป็นอย่างยิ่ง เพราะจากสถิติข้อมูลทางประวัติศาสตร์การเมืองแล้ว พบว่านับตั้งแต่อับราฮัม ลินคอล์นชนะการเลือกตั้งในปี 1860แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่า มีผู้สมัครของพรรคริพับลิกันคนใดที่จะสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำของประเทศได้เลยหากพ่ายแพ้ในรัฐที่มีชื่อคล้ายในภาษาญี่ปุ่นรัฐนี้              ในขณะเดียวกัน นับตั้งแต่ปี 1904 ต่อเนื่องมาจนถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2012 มีผู้สมัครของพรรคเดโมแครตเพียงสองคนเท่านั้นที่สามารถก้าวข้ามเอาชนะกฏแห่งโอไฮโอนี้ได้ นั่นคือ แฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ (ปี 1944) และจอห์น เอฟ เคนเนดี้ (ปี 1960)

                ด้วยสถิติข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ดังกล่าว จนในที่สุดได้พัฒนากลายเป็นคาถาความเชื่อทางการเมืองสำหรับผู้สมัครทั้งสองพรรคจนถึงปัจจุบันนี้ว่า จะชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้ต้องชนะเลือกตั้งที่โอไฮโอให้ได้ นั่นคือ หากไม่ชนะในรัฐโอไฮโอ ประตูทำเนียบขาวก็แทบจะปิดตายในทันที

                ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ จึงไม่เป็นที่สงสัยว่า โอไฮโอได้รับความสำคัญจากผู้สมัครของทั้งสองพรรคเป็นอย่างมาก ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2012 ฝั่งของพรรคเดโมแครตต่างยกโขยงเดินทางมายังโอไฮโอในช่วงวันเสาร์อาทิตย์สุดท้าย(สองวัน)ก่อนถึงวันเลือกตั้งเพื่อหาเสียงครั้งสำคัญที่จะพลาดไม่ได้ ทั้งบารัค โอบามาและรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทั้งสตรีหมายเลขหนึ่ง (มิเชล โอบามา) และสตรีหมายเลข 2 (จิล ไบเดน) ต่างพาเหรดไปรวมตัวกันที่นั่นอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา   ในขณะที่ฟากของพรรคริพับลิกัน ทั้งมิตต์ รอมนี ผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีและ พอล ไรอัน ผู้สมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดีก็เดินทางไปปรากฏตัวหาเสียงที่โอไฮโอเช่นกัน เพราะมนต์ขลังของชื่อโอไฮโอนั้นศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าจะมองข้ามไปได้  

                เช่นเดียวกับช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งในปี 2016 ซึ่งปรากฏว่า ฮิลลารี คลินตันให้ความสำคัญกับโอไฮโอเป็นอย่างมาก การเดินทางไปรณรงค์หาเสียงที่รัฐแห่งนี้ถึงสองครั้งในช่วงวันสุดสัปดาห์ก่อนถึงวันเลือกตั้งในอีกสองวันข้างหน้า ย่อมแสดงให้เห็นว่า โอไฮโอมีความหมายความพิเศษสำหรับอดีตสตรีหมายเลขหนึ่งคนนี้อย่างมากๆ

                ผิดกับโดนัลด์ ทรัมป์ที่ดูเหมือนจะทุ่มเทไปที่รัฐอื่นๆจนมองข้ามไม่เดินทางมารณรงค์หาเสียงในรัฐที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเหมือนฮิลลารี คลินตัน (จนอาจจะกลายเป็นความผิดพลาดและก่อให้เกิดความเสียหายทางการเมืองอย่างชนิดแก้ไขอะไรไม่ได้) ส่วนสำคัญหนึ่งเพราะมั่นใจในฐานเสียง เพราะ ณ ปัจจุบันนี้ โอไฮโอคือรัฐที่พรรคริพับลิกันมีบทบาทและตำแหน่งทางการเมืองมากที่สุด และผลสำรวจความคิดเห็นของสำนักโพลต่างๆล้วนแต่บ่งบอกว่าโอไฮโอน่าจะอยู่ในกำมือของโดนัลด์ ทรัมป์ค่อนข้างสูงในความเป็นไปได้

                หากว่า โดนัลด์ ทรัมป์สามารถเอาชนะในรัฐโอไฮโอได้จริงๆ นอกเหนือจากความได้เปรียบตามกฏแห่งไพรมารีแล้ว ก็ย่อมทำให้เกิดความมั่นใจอย่างลึกๆว่า มีโอกาสชนะการเลือกตั้งครั้งนี้

                แต่ในโอกาสความเป็นไปได้หนึ่งเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในปี 1960 อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด         เพราะในครั้งนั้น ทั้งๆที่ริชาร์ด นิกสันเข้าหลักเกณฑ์ทั้งสองข้อนี้ นั่นคือมีคะแนนในรอบไพร์มารี่ดีกว่าจอห์น เอฟ เคนเนดี้และชนะเลือกตั้งในรัฐโอไฮโอ แต่สุดท้ายก็แพ้ดวงของจอห์น เอฟ เคนเนดี้แบบไม่มีใครช่วยได้เลย

                หรือว่า บางทีโดนัลด์ ทรัมป์กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นผู้สมัครคนที่สองต่อจากจอห์น เอฟ เคนเนดี้ก็เป็นได้