'Deliveree' ตอบโจทย์คนเมืองเรื่องการส่งของ

'Deliveree' ตอบโจทย์คนเมืองเรื่องการส่งของ

ปัญหาเรื่องของการขนส่ง “สิ่งของ” คงไม่ต่างไปจากการเดินทางไปไหนมาไหนของ “คน” คือการหารถที่บริการดีๆ ได้ยากแสนยาก

เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Deliveree (เดลิเวอรี) บริการเรียกรถขนของผ่านแอพพลิเคชั่น ที่รูปแบบธุรกิจคล้ายคลึงกับแกร็บแท็กซี่และอูเบอร์


“ชนิสา เรืองคีรีอัญญะ” Country Manager เล่าให้ฟังว่า เดลิเวอรี เป็นสตาร์ทอัพที่พัฒนาขึ้นโดย Inspire Ventures ซึ่งเป็น Venture Capital หรือเรียกสั้นๆ ว่า VC เพราะต้องการจะแก้โจทย์ในเรื่องนี้


"เริ่มจากความคิดที่ว่าเวลาที่คนในกรุงเทพต้องการจะขนของ ส่วนใหญ่วิธีมักมองหารถ ง่ายๆก็ไปดูป้ายประกาศรับจ้างที่แปะไว้ตามเสาไฟฟ้า จากนั้นก็โทรไปแล้วต่อรองราคา ซึ่งก็จะตกลงกันว่า ระยะทางประมาณนี้ ราคาก็จะประมาณนี้ มันไม่ได้มีมาตรฐานที่ชัดเจน หรือไม่ก็ใช้วิธีเสิร์ซหาจากกูเกิล ซึ่งไม่ว่าวิธีไหนก็ต้องใช้ความพยายามไม่แพ้กัน"


ต่อจากนั้น เดลิเวอรีก็เริ่มลงลึกไปถึงธุรกิจต่างๆ ร้านค้าต่างๆ เอสเอ็มอีต่างๆ ว่ามีวิธีขนของ หรือขนส่งสินค้ากันอย่างไร ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าวิธีการไม่แตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไป ก็คือไปดูตามประกาศ หรือไม่ก็มีการบอกต่อกันมาว่าให้ไปใช้บริการที่ไหน คือไม่มีระบบระเบียบหรือมีพิธีรีตองอะไรทั้งสิ้น


“ ทีมงานเลยคิดว่าถ้าเรามีเทคโนโลยี ที่เชื่อมต่อช่วยทำให้กระบวนการตรงนี้มันง่ายขึ้น มันเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ น่าจะเป็นสิ่งที่ดี”


เดลิเวอรี จึงเป็นแอพบริการรถขนส่งของที่มีสโลแกนว่า เรียกใช้บริการง่าย มีความรวดเร็ว และไว้ใจได้ และก็เหมือนกับสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ที่มักจะวางตัวเป็น “มาร์เก็ตเพลส” ทำหน้าที่เชื่อมระหว่าง “ดีมานด์” และ “ซัพพลาย” ซึ่งในหน้าที่ของตัวกลาง เดลิเวอรีมีการขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน โดยทางฝั่งของลูกค้า ก็ดูว่ามีใครบ้างที่ต้องการใช้บริการ


“ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเราค่อนข้างหลากหลาย ทั้งเอสเอ็มอี บริษัทใหญ่ และลูกค้าทั่วไป แต่ที่ตอบโจทย์ได้ดีที่สุดน่าจะเป็นเอสเอ็มอี”
ขณะที่ฝั่งของซัพพลาย ในเบื้องต้นจำเป็นต้องมีการกำหนดเสียก่อนว่า รถประเภทใดที่เหมาะกับการเข้ามาอยู่ในระบบ แล้วค่อยไปหาคนขับรถประเภทนั้นๆ


เดลิเวอรี จะมีส่วนของเทคโนโลยีอยู่ตรงกลาง โดยทีมที่พัฒนาแอพ , เว็บ และเทคโนโลยีต่างๆ จะอยู่ที่เมืองโฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนามทั้งหมด และทำหน้าที่สนับสนุนธุรกิจที่อยู่ภายใต้ Inspire Ventures ทั้งหมด


ส่วนในเรื่องของความท้าทาย เธอบอกว่า ระยะแรกในมุมของดีมานด์ถือว่าเป็นเรื่องยาก เพราะคนไทยเมื่อประมาณปีสองปีที่ผ่านมาไม่คุ้นหูไม่รู้จักกับธุรกิจสตาร์ทอัพแม้แต่น้อย ดังนั้น การเดินเข้าไปแนะนำตัวว่าเป็นแอพบริการส่งของ การเข้าไปแนะนำถึงวิธีเรียกรถผ่านทางแอพ กระทั่งทำให้คนเกิดความเข้าใจว่ามันใช้งานอย่างไร ต้องใช้กำลังและเวลา


“แต่ในปีนี้่เกิดความเปลี่ยนแปลงชัดมาก เพราะคนไทยเริ่มคุ้นหูกับแอพต่างๆ และคำว่าสตาร์ทอัพมากขึ้น พอเขาได้เจอกับแอพใหม่ๆ เซอร์วิสใหม่ๆ จะตัดสินใจลองใช้เร็วขึ้นกว่าเมื่อก่อน”


ทางด้านฝั่งคนขับเองก็ค่อนข้างมีความหลากหลาย เพราะเดลิเวอรีมีรถให้เลือกใช้บริการตั้งแต่มอเตอร์ไซค์ อีโคคาร์ รถปิคอัพ และรถกระบะที่มีตู้ ซึ่งต้องตั้งทีมงานดูแลโดยเฉพาะ เนื่องจากคนขับบางคนก็คุ้นเคย เพราะเป็นมืออาชีพวิ่งงานรับจ้างประจำอยู่แล้ว แต่ในส่วนคนขับอีโคคาร์มักเป็นมือใหม่ไม่เคยทำงานเชิงขนส่งมาก่อน แต่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องผ่านการเทรนนิ่งเพื่อการเป็นมาตรฐานเดียวกันของเดลิเวอรี


"อีกข้อดีของแพลตฟอร์มแบบเราที่คนมักไม่ค่อยพูดถึงก็คือ โอกาสในการทำงาน โอกาสในการสร้างรายได้ให้กับคนขับรถที่อยู่ในระบบ ให้เขาได้มีทางเลือกมากขึ้น เราถือว่าพวกเขาก็คือพาร์ทเนอร์ของเรา ดังนั้นเราจะไม่ได้สนใจแค่ลูกค้าเท้านั้นแต่สนใจคนขับด้วย"


คือเดิมทีคนขับรถเหล่านี้อาจขับรถให้กับบริษัทใหญ่หรือผู้รับเหมาต่างๆและมักมีปัญหาเรื่องของการจ่ายเงิน เนื่องจากบริษัทใหญ่ๆ มักจะมีเครดิตเทอม ทำให้คนขับต้องออกค่าน้ำมัน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ล่วงหน้าไปเป็นเดือนหรือสองเดือนจึงได้รับค่าจ้าง ซึ่งคนไม่มีเงินทุนก็ทำงานตรงนั้นไม่ได้ ขณะที่ เดลิเวอรี จะหักเปอร์เซ็นต์ค่าบริการและค่าใช้แพลตฟอร์มจากคนขับ ด้วยตัวเลขเปอร์เซ็นต์มาตรฐานของมาร์เก็ตเพลสโดยทั่วๆไป ซึ่งเริ่มต้นที่ 5%


"แต่เราทำให้เขาได้เข้าถึงงานได้ดีขึ้น ง่ายขึ้น ถ้าลูกค้าเราจ่ายเงินมาเป็นเงินสด คนขับเขาก็จะได้รับเงินค่าจ้างเป็นเงินสดเลย แต่ถ้าเป็นลูกค้าเป็นบริษัท เราจะมีไทม์ไลน์ไว้ว่าจะจ่ายเป็นรายอาทิตย์หรือสองอาทิตย์ แต่จะไม่นานเป็นเดือน"


ปัจจุบัน เดลิเวอรี บริการขนส่งของในพื้นที่เขตกรุงเทพและปริมณฑล โดยที่ลูกค้าสามารถเรียกรถได้ภายใน 45 นาทีหรือจองล่วงหน้าได้ถึง 30 วัน


“ถามว่ามีข้อจำกัดไหม ต้องบอกว่าเบสิคมากๆ คือเราจะไม่ขนของที่อันตราย ของผิดกฏหมาย รวมถึงสินค้าที่ต้องใช้ไลเซ่นส์ในการขนส่ง เช่นแก๊ส วัสดุไวไฟต่างๆ”


อย่างไรก็ดี ชนิสา มองว่า เดลิเวอรี ยังมีอะไรอีกมากมายที่ต้องทำ สิ่งที่ทุกๆสตาร์ทอัพรู้ดีก็คือ การไม่ได้เป็นบริษัทใหญ่ ไม่ได้มีเงินทุนมหาศาล จึงจำเป็นต้องคิดหาทางว่าต้องทำอย่างไรเพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความรับรู้ในตลาด การทำให้คนรู้จักเดลิเวอรีมากยิ่งขึ้น


"ระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา เราได้รับฟีดแบ็คมาตลอดว่า เรื่องของการขนส่งเป็นอะไรที่คนมีความต้องการจริงๆ และเทรนด์ในอนาคตไม่ว่าจากปัจจัยเรื่องของเวลา และรถที่ติดอยู่บนท้องถนน มันยิ่งจะทำให้การขนส่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนด้วย การสั่งของ การสั่งอาหารจะเป็นไลฟ์สไตล์ของคนเมือง มันเลยมีโอกาสในตลาดอีกเยอะ"


ที่เดลิเวอรี จะโฟกัสก็คือ การพัฒนาเรื่องของการบริการ มากกว่าคิดจะขยายพื้นที่ให้กว้างไปกว่ากรุงเทพและปริมณฑล ตรงกันข้ามมีแผนจะขยายไปยังประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น เพราะแพลตฟอร์มเดลิเวอรีสามารถปรับใช้ได้กับทุกประเทศ และปัจจุบันได้ขยายไปยังเมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียและเมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์แล้ว


" ในแง่โอเปอเรชั่นอาจมีความแตกต่างกันบ้าง ต้องปรับให้เข้ากับโลคัล แต่ในภาพใหญ่ๆ แพลตฟอร์มของเราคืออะไร แวลลูของเราคืออะไร มันใช้ได้ดีกับทุกประเทศที่ปัญหาเรื่องของออฟชั่นการขนส่ง ที่อาจมีแต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพ ในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งเมืองจาร์กาตาและมะนิลาเองเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่มีปริมาณคนเยอะกว่าถ้าเทียบกับไทยเรา แต่ไทยมีอินฟราสตรัคเจอร์ค่อนข้างดีกว่า ออฟชั่นในการขนส่งดีกว่า"

Small is beautiful


ชนิสา บอกว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานในบริษัทสตาร์ทอัพนั้น คือว่า “ Humble” ในแง่ที่ว่า การเป็นบริษัทเล็กจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นของลูกค้าและคนรอบด้าน ต้องพร้อมแก้พร้อมปรับ


“เพราะเวอร์ชั่นโปรดักส์ที่เรามี เซอร์วิสที่เรามีในตอนแรกไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดอยู่แล้ว ทำให้เราฟังเยอะขึ้น”

ซึ่งตรงกับแนวคิดหนึ่งที่เธอได้ร่ำเรียนจากหลักสูตรเอ็มบีเอที่ “เคลล็อก” ก็คือ ในบางครั้งคนอาจมองว่าสตาร์ทอัพ คือการสร้างเทคโนโลยีหรือสร้างแอพที่เจ๋งสุดๆ แต่มันก็ทำให้สตาร์ทอัพปลื้มและเคลิ้มไป 

“แต่อีกเสี้ยวหนึ่งหรืออีกจิ๊กซอว์หนึ่งที่สำคัญก็คือ ผู้ใช้งานแอพ ,ผลิตภัณฑ์ หรือเซอร์วิสของเรา คืออย่ามองหนักไปแค่ฝั่งเดียว สิ่งที่เราคิดว่าเจ๋งจริงมันก็อาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของคนอยากจะใช้ คนอาจมองว่ามันเจ๋ง แต่การใช้งานของมันกลับไม่ได้เข้าชีวิตประจำวันทำให้เขามองไม่เห็นมีประโยชน์เลย สุดท้ายมันก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์”


เธอบอกว่า ข้อดีของสตาร์ทอัพก็คือ ด้วยความที่ทีมมันเล็ก การปรับเปลี่ยนจะทำได้ง่าย ทำได้เร็ว แต่ก่อนอื่นควรต้องยอมรับด้วยว่ามันก็เป็นเรื่องยาก แต่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้


"องค์กรเล็กๆไม่ว่าใครทำอะไร ล้วนมีผลทั้งหมด ทั้งคนที่คอยรับโทรศัพท์ของลูกค้า เขาเป็นคนที่คุยกับลูกค้าโดยตรง และช่วยเหลือลูกค้าได้เยอะมาก ทำให้ลูกค้ารู้จักใช้งานแอพใช้บริการของธุรกิจหรือทีมที่ช่วยแก้ปัญหาหรือทำหน้าที่เทรนให้คนขับเองเขาก็มีส่วนที่ทำให้สุดท้ายแล้วลูกค้าเกิดความประทับใจ ความรับผิดชอบ หน้าที่ของทุกๆคนที่อยู่ในทีมจะอิมแพ็คกับสตาร์ทอัพมากๆ"