‘ประจิน’ โยนงบ1.5หมื่นล. หนุน ‘ทีโอที’ ลุยเน็ตหมู่บ้าน

‘ประจิน’ โยนงบ1.5หมื่นล. หนุน ‘ทีโอที’ ลุยเน็ตหมู่บ้าน

กระทรวงดีอี ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคู่ขนาน

ยืดเยื้อมายาวนาน สำหรับโครงการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศตามนโยบายของรัฐบาล หรือโครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน ที่ผ่านมาประสบปัญหาความล่าช้า โดยเฉพะเรื่องการแบ่งงาน การรับผิดชอบ ความไม่ลงตัวของทีโออาร์ เกิดปัญหาท้วงติงมากมาย ส่งผลให้โครงการนี้ เป็นหนึ่งในโครงการของรัฐที่ถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดดีอี) โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้กระทรวงดีอีโอนเงินในการทำโครงการภายใต้กรอบงบประมาณ 15,000 ล้านบาท ให้บมจ.ทีโอทีรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินโครงการทั้งหมด ด้วยเชื่อมั่นว่า ทีโอทีเป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลของรัฐ และมีความโปร่งใส โดยกระทรวงดีอีจะยังเป็นผู้ตรวจสอบในทุกขั้นตอน

ทันทีที่บอร์ดดีอีเคาะ ก็มีกรอบเวลาที่แน่ชัดตามออกมาทันที โดยโครงการต้องเดินหน้าให้ได้ภายในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ และต้องติดตั้งให้ครบอย่างน้อย 85% ภายในปี 2560 และติดตั้งให้ครบทั้งหมดภายในต้นปี 2561

เชื่อใจ “ทีโอที” ดำเนินการ
เป็นคำยืนยันที่ดูแข็งขันของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดยล่าสุดเปิดเผยถึงความคืบหน้าอย่างละเอียดว่า กระทรวงดีอีจะโอนเงินในการทำโครงการภายใต้กรอบงบประมาณ 15,000 ล้านบาท ให้บมจ.ทีโอทีรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินโครงการทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การหลักเกณฑ์เงื่อนไข (ทีโออาร์) ตลอดจนวิธีการจัดซื้อจัดจ้างและต้องเริ่มลงมือทำโครงการให้ได้ในวันที่ 25 ธ.ค.เพื่อให้โครงการติดตั้งให้ครบ 85 % ภายในปี 2560 และติดตั้งให้ครบทั้งหมดภายในต้นปี 2561

พล.อ.อ.ประจิน ระบุว่า สาเหตุที่ตัดสินใจโอนเงินให้ทีโอทีทำแทนวิธีการเดิมที่กระทรวงดีอีต้องเขียนทีโออาร์ แล้วค่อยให้ทีโอทีเข้ามาประมูลแบบวิธีพิเศษนั้น เนื่องจากปัญหาความล่าช้าของโครงการที่มีแต่ปัญหามาโดยตลอด ทั้งที่รัฐบาลได้มอบนโยบายให้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือน ม.ค.และมีการอนุมัติงบประมาณและมอบให้กระทรวงตั้งแต่เดือน พ.ค. แต่เรื่องการเขียนทีโออาร์ก็มีปัญหาจากการท้วงติงของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 ก.ย.ทีโอทีส่งเอกสารมาก็พบว่าไม่ตรงกับทีโออาร์ที่กระทรวงเขียน ถือว่าไม่ผ่าน จึงต้องหาทางออกเพื่อให้สามารถดำเนินการให้ได้ ซึ่งกระทรวงก็มีการประชุมกันหลายครั้ง ในวันที่ 20 และ 23 ต.ค.ตามลำดับ เพื่อให้โครงการเดินหน้าเดินหน้าต่อ ดังนั้นเมื่อดูระเบียบแล้วเห็นว่ากระทรวงสามารถโอนเงินให้รัฐวิสาหกิจในหน่วยงานเพื่อทำโครงการได้ กระทรวงจึงขอเลือกทางเดินนี้

“ตอนแรกที่ไม่เลือกวิธีนี้ เพราะเราก็ไม่คิดว่ากระทรวงทำเองจะเจอปัญหาแบบนี้ แต่ถ้าให้กลับไปทำตามวิธีเดิมมันก็เสี่ยงเกินไป โครงการได้เงินมาแล้ว ท่านนายกฯ ก็ไม่พอใจที่โครงการล่าช้า ไม่พอใจทุกคน ผมด้วย ปลัดกระทรวงด้วย แต่ท่านให้โอกาส โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางที่ให้ทีโอทีรับหน้าที่ดำเนินงานอีกครั้งหนึ่งภายในเดือนพ.ย.นี้”

อย่างไรก็ดี แม้กระทรวงดีอีจะโอนเงินทั้งหมดให้ทีโอทีเป็นผู้จัดการ แต่ก็อยากให้มั่นใจว่ากระทรวงจะเข้าไปดูและตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินงานทั้งหมด ซึ่งมั่นใจว่าทีโอทีจะรับผิดชอบโครงการนี้ด้วยความโปร่งใส เพราะเป็นหน่วยงานราชการอยู่ภายใต้ความควบคุมของกระทรวงอยู่แล้ว

ดีอี ตั้งกก.ตรวจสอบคู่ขนาน
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า จากเดิมที่กระทรวงดีอีต้องทำโครงการจำนวน 40,432 แห่ง ก็มีข้อท้วงติงว่าซ้ำซ้อนกับโครงการของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งแม้กระทรวงยืนยันว่าไม่ทับซ้อน แต่ที่ประชุมก็มีข้อสรุปให้กระทรวงดีอีและกสทช.แบ่งกันทำ

โดยกระทรวงดีอีโอนเงินให้ทีโอที 1.5 ล้านบาท เพื่อทำโครงการ 24,700 แห่ง กสทช.ทำ 15,732 แห่ง โดยใช้งบโครงการการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม (ยูเอสโอ) ที่เหลืออยู่ประมาณ 20,000 ล้านบาททำโครงการ โดยจะแบ่งเป็นโครงการยูเอสโอที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเพิ่งปลดล็อกคำสั่งชะลอโครงการ 3,920 แห่ง ที่ต้องเสร็จภายในเดือน ธ ค.นี้ และอีก 11,812 แห่ง โดยต้องรอประชุมร่วมกับกระทรวงในการจัดสรรพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง

ส่วนข้อกังวลว่าเมื่อโอนเงินให้ทีโอทีทำทั้งหมดแล้วจะเกิดปัญหาทุจริตหรือไม่นั้น ตนเองขอยืนยันว่าโครงการนี้เป็นโครงการเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ดังนั้นมั่นใจว่าทีโอทีก็พร้อมจะทำเพื่อประเทศ แต่กระทรวงดีอีก็ไม่นิ่งนอนใจ ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบด้วยการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันตรวจสอบซึ่งสื่อมวลชนและประชาชนเองก็ต้องร่วมกันตรวจสอบด้วย โดยโครงการนี้ต้องบอกว่าทีโอทีต้องทำเท่าต้นทุนเหลือเท่าไหร่ต้องคืนรัฐบาลไม่มีการคิดค่าบริหารจัดการเหมือนรูปแบบการทำโครงการแบบแรกแน่นอน

เปิดงาน “ซอฟต์แวร์ แฟร์”
พร้อมกันนี้ พล.อ.อ.ประจิน ได้เป็นประธานเปิดงาน Thailand Software Fair 2016 ที่จัดขึ้นในวันที่ 3-4 พ.ย.นี้ โดยระบุว่า การขับเคลื่อนประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ให้สำเร็จ การเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะต้องมีส่วนที่เป็นฮาร์ดไซต์ และซอฟต์ไซต์ควบคู่กันไป
หากมองการเติบโตของตลาดซอฟต์แวร์ไทย จะเห็นได้ว่า มีแนวโน้มดีมากขึ้นเรื่อยๆ จากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของธุรกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งใช้ซอฟต์แวร์ในการขับเคลื่อนเป็นหลัก แนวโน้มที่น่าสนใจ และกำลังเข้ามาพลิกโฉมธุรกิจไทยอย่างชัดเจนคือ ธุรกิจแบบ Software-enable Service คือ การให้บริการที่เกิดจากการใช้ซอฟต์แวร์เป็นหลักผ่านแอพพลิเคชั่นหรือหน้าร้านออนไลน์ จนอาจไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านจริง ซึ่งต่อไปจากนี้ตลาดซอฟต์แวร์ของไทยจะมีการพัฒนาคนที่ทักษะเฉพาะด้านดังกล่าวเข้าสู่ตลาดมากขึ้น

โดยสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยก้าวสู่การเป็นเอสเอ็มอี 4.0 อาจจะพลิกโฉมของผู้ประกอบการช่วยเพิ่มกำไร ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น เพราะการใช้ซอฟต์แวร์นั้นเป็นเหมือนการติดอาวุธให้ธุรกิจ สามารถตอบโจทย์ความต้องการในยุคดิจิทัลของเอสเอ็มอี หรือแม้กระทั่งองค์กรขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ทุกอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ภายในงานจะเป็นการแสดงและจำหน่ายโซลูชั่นของสมาชิกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย แบ่งตามคลัสเตอร์ สำหรับธุรกิจขนาดกลาง และย่อมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 6 กลุ่ม ได้แก่ การศึกษา ,การท่องเที่ยว ,โรงงานอุตสาหกรรม ผู้ผลิตสินค้า ,ค้าปลีกและการจัดส่ง ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง และธุรกิจทั่วไป