ครึ่งปีไทยลงทุนเพื่อนบ้านพุ่ง 867%

ครึ่งปีไทยลงทุนเพื่อนบ้านพุ่ง 867%

ธุรกิจไทยแห่ลงทุนเพื่อนบ้าน ครึ่งปีแรกพุ่ง 867% แบงก์เผยส่วนมากเป็นรายใหญ่ ขณะเริ่มเห็นเอสเอ็มอี “ใหญ่-กลาง” เข้าไปลงทุนมากขึ้น

เป็นเวลาเกือบ1ปีของการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงการลงทุนของธุรกิจไทย จากเดิมจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ออกไปลงทุนเพื่อขยายการผลิตและต้นทุนต่ำ โดยเริ่มเห็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)เข้าไปลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะในด่านตามชายแดน

ธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานตัวเลขนักลงทุนไทยที่ออกไปลงทุนโดยตรง(ทีดีไอ) ในอาเซียนช่วงครึ่งแรกของปีนี้ พบว่า มีมูลค่ารวมที่4,815.67ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่497.53ล้านดอลลาร์ หรือมีมูลค่าการเพิ่มขึ้นอยู่ที่4,318.14ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 867.91%

แม้มูลค่าทีดีไอไม่ได้สะท้อนปริมาณนักลงทุนไทยมากนัก เนื่องจากในปีนี้มีการลงทุนของธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้านหลายราย แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก

นายไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่าก่อนหน้าที่จะเปิดเออีซีมีลูกค้ารายใหญ่เห็นโอกาสที่จะออกไปลงทุนในอาเซียนเพื่อขยายฐานการผลิต หรือหาต้นทุนที่ถูกลงโดยเฉพาะด้านแรงงานและวัตถุดิบในพื้นที่ แต่ในช่วง1-2ปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่าลูกค้าเอสเอ็มอีสนใจออกไปลงทุนในอาเซียนอย่างคึกคักมากขึ้น

นายไชยฤทธิ์ กล่าวว่าเอสเอ็มอีที่เข้าไปลงทุน เป็นธุรกิจค่อนไปทางใหญ่ (Mid Corporate) ที่สนใจออกไปต่างประเทศ ขณะเอสเอ็มอีรายเล็กยังไม่ออกไปมากนัก

“ส่วนใหญ่สนใจที่จะเข้าไปลงทุนในซีแอลเอ็มวี ทั้ง พม่า เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ซึ่งเมื่อเข้าสู่เออีซีก็ช่วยกระตุ้นความสนใจของนักลงทุนในระดับหนึ่ง”

เอสเอ็มอีสนลงทุนธุรกิจสิ่งทอ

นายไชยฤทธิ์ กล่าวอีกว่าเอสเอ็มอีที่จะออกไปในอาเซียนยังไม่พร้อมในเรื่องของเงินทุน และขนาด เพราะการขยายไปต่างประเทศ มีความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดอีกมาก ต้องมีสายป่านที่ยาวมากพอดังนั้นส่วนใหญ่ที่ออกไปลงทุนเป็นกลุ่มทางการค้ามากกว่าการลงทุน โดยเฉพาะตามแนวชายแดน ที่เห็นความคึกคักมากในช่วง1-2ปีนี้

นายไชยฤทธิ์ กล่าวว่ารัฐบาลก็เล็งเห็นและพยายามพัฒนาเมืองชายขอบอย่างอรัญประเทศ สระแก้ว หรือแม่สอดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษมีการลงทุนมากขึ้นเพื่อสนับสนุนให้มีการตั้งโรงงานผลิตไปรองรับการค้าในพื้นที่ในช่วง 1-2 ปีนี้

“เราดูรายงานย้อนหลัง5ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าในช่วง2ปีหลังมีความคึกคักอย่างมาก มีลูกค้าไทยที่ไปคุยกับสาขาหรือเออีซีคอนเน็คของธนาคารมากขึ้น และเริ่มเห็นการขอสินเชื่อโดยเฉพาะการ์เม้นท์นี่ชัดเจนมาก เพื่อไปใช้สิทธิประโยชน์จีเอสพีในประเทศที่ยังมี รวมถึงโลจิสติกส์หรือแวร์เฮ้าส์และโรงแรมที่คึกคักมาก”

นายไชยฤทธิ์ กล่าวว่าลูกค้าที่เข้ามาติดต่อสาขาธนาคารมากขึ้นทำให้ธนาคารต้องเพิ่มพนักงานทางด้านการตลาดและเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์(อาร์เอ็ม)เพื่อรองรับธุรกิจต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่า10%ในปีนี้และยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นเพราะมีการแข่งขันแย่งตัวค่อนข้างมาก โดยเฉพาะบุคคลากรท้องถิ่นแต่ละประเทศที่คุณสมบัติผ่านเกณฑ์ธนาคารได้ยังมีน้อย

ทิศทางเศรษฐกิจยังไม่เอื้อรายเล็ก

นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าที่ผ่านมาลูกค้าขนาดใหญ่ของธนาคารได้ออกไปลงทุนในภูมิภาคอาเซียนหลายปีแล้ว ทั้งในฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยในอินโดนีเซียและพม่าเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมหนัก ส่วนการย้ายฐานการผลิตจะเห็นในประเทศที่มีแรงงานราคาถูกอย่างฟิลิปปินส์และกัมพูชา รวมถึงอุตสาหกรรมพลังงานที่เกิดขึ้นมากในพม่าและลาว

อย่างไรก็ตามในส่วนของลูกค้าขนาดกลางหรือเอสเอ็มอียังออกไปไม่มากนัก แม้ในปีนี้จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์ที่ยังไม่เอื้อมากนัก ทั้งการส่งออกและภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่แข็งแรงมากพอ เป็นอุปสรรคที่ทำให้เวลานี้ยังไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสมที่ลูกค้าขนาดกลางจะออกไปลงทุน ทำให้ภาพรวมสินเชื่อธุรกิจต่างประเทศยังไม่โตมากนัก ส่วนใหญ่เป็นดีลที่นักลงทุนจีนเข้ามาไทยเพื่อขยายไปเพื่อนบ้าน

การค้าชายแดนดึงเอสเอ็มอีลงทุน

นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในช่วงปีนี้ที่เห็นการออกไปลงทุนในอาเซียนของไทยยังเป็นลูกค้ารายใหญ่ โดยในปีนี้มีดีลใหญ่3-4ดีลที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามเป็นหลัก เพราะมีความพร้อมที่สุด และเดิมมีเรื่องของความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(TPP)ทำให้นักลงทุนสนใจเข้าไปลงทุนค่อนข้างมาก

ส่วนพม่าเองหลังจากเปลี่ยนรัฐบาลยังมีความไม่ชัดเจนในแง่การเติบโตทางเศรษฐกิจมากนัก แต่ทุกคนยังรอดูการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจของพม่าที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย

“ส่วนใหญ่ที่เห็นออกไปลงทุนจะเป็นลูกค้ารายใหญ่ อย่างในปีนี้ออกไปเวียดนามกันเยอะเช่นกลุ่มทีซีซี บุญรอด หรือปูนใหญ่ ส่วนพม่ายังรอดูเชิงกันอยู่โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างไฟฟ้าที่ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง”

สำหรับการปล่อยสินเชื่อในอาเซียนนั้นปัจจุบันธนาคารสามารถปล่อยได้ในสปป.ลาวเพียงประเทศเดียว โดยในช่วง1ปีที่ผ่านมาสามารถปล่อยสินเชื่อไปแล้ว300ล้านบาท เป็นสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีและรายใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในลาว ไม่รวมสินเชื่อที่ธนาคารปล่อยให้กับโครงการลงทุนของรัฐบาลลาว ซึ่งสินเชื่อที่ปล่อยไปส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนทั้งการตั้งบริษัทในลาว หรือร่วมทุนกับนักลงทุนลาว ทั้งวัสดุก่อสร้างและสินค้าอุปโภคบริโภค

แนวโน้มธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนเพิ่มขึ้น

นายภัทรพงศ์ กล่าวว่าแนวโน้มเหล่านี้มีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากเข้าสู่เออีซีอย่างเป็นทางการ โดยเป็นผู้ประกอบการไทยที่อยู่ตามแนวชายแดนเล็งเห็นโอกาสและยอดขายที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการท้องถิ่นที่เคยสั่งซื้อของจากฝั่งไทยมีทุนไม่เพียงพอที่จะรองรับ ทำให้บริษัทไทยต้องเข้าไปตั้งบริษัทเองในเวียงจันทน์ และบางรายต้องร่วมทุนเพื่อขยายไปยังหัวเมืองอื่น ๆ ในลาวด้วย

"ก่อนเปิดเออีซีจะเห็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นในรูปของการค้าข้ามชายแดน แต่หลังจากต้นปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นว่าบริษัทไทยไปตั้งบริษัทหรือเป็นดีลเลอร์เองในเวียงจันทน์เพื่อสั่งของจากฝั่งไทยเข้าไป เพราะพาร์ทเนอร์ในลาวมีทุนไม่เพียงพอ และเมื่อมียอดซื้อสูงพอ เติบโตมาสักพักก็ร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์ชาวลาวขยายไปหัวเมืองใหญ่ในลาว นี่คือแนวโน้มที่เราเกิดขึ้นกับกลุ่มเอสเอ็มอีที่มียอดขาย300-400 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มนี้เราก็พอจะเห็นกับลูกค้าที่อยู่ตามแนวชายแดนกัมพูชาเช่นกัน

นักวิเคราะห์ชี้ธุรกิจใหญ่-กลางทยอยออก

ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การออกไปลงทุนในอาเซียนของภาคธุรกิจไทยเริ่มมาก่อนหน้านี้พอสมควรแล้ว รุ่นแรกๆ ที่ไปส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ เรียกว่าบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มเซ็ท50ออกไปลงทุนกันเกือบหมด สาเหตุสำคัญเพราะค่าแรงในประเทศสูงขึ้น อีกทั้งเรายังโดนตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป(จีเอสพี) ด้วย ทำให้หลายธุรกิจต้องออกไปใช้ฐานการผลิตประเทศอื่น

“เรื่องการเปิดเออีซี เป็นผลมาทีหลังมากกว่า เพราะภาคธุรกิจที่ไปเป็นเรื่องการปรับตัวของเขาเอง การเปิดเออีซีผมมองว่าเป็นเรื่องที่มาพร้อมกับการเติบโตของเศรษฐกิจเพื่อนบ้าน รวมทั้งการผ่อนคลายกฎระเบียบที่มีมากขึ้น แต่เหตุผลหลักๆ ที่เขาไป เป็นเรื่องปัจจัยการผลิตที่มีต้นทุนถูกกว่า”

ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอีจะเห็นว่า ระยะหลังเริ่มออกไปมากขึ้น แต่เป็นการไปเพื่อผลิตสินค้าป้อนให้กับรายใหญ่ที่ทำธุรกิจอยู่แล้วมากกว่า เหมือนไปเติมเต็มห่วงโซ่การผลิต ส่วนไปผลิตอะไรนั้น ก็ขึ้นกับแต่ละประเทศ

นายอมรเทพ กล่าวว่า ระยะหลังจะเห็นว่าธุรกิจไทยออกไปกลุ่มซีแอลเอ็มวี(กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) มากขึ้น การผลิตในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภค และภาคธุรกิจก่อสร้าง เพราะสิ่งที่กลุ่มประเทศนี้ต้องการคือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับการก่อสร้างออกไปลงทุนในประเทศเหล่านี้ค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตามการที่ภาคธุรกิจไทยออกไปลงทุนต่างประเทศกันมาก นายอมรเทพ มองว่า ไม่ได้เป็นเรื่องที่ไม่ดีต่อเศรษฐกิจไทย เพราะรัฐบาลพยายามปรับโครงสร้างการผลิตจากการผลิตที่เน้นทักษะแรงงานต่ำไปสู่การผลิตที่อาศัยทักษะแรงงานสูงขึ้นผ่าน“ไทยแลน์4.0”ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของไทย และยังช่วยแก้ปัญหาความสามารถการแข่งขันที่เสียไปในเรื่องของค่าแรง

“อุตสาหกรรมที่อยู่ในเมืองไทยแล้วยังเน้นแข่งกับกลุ่มซีแอลเอ็มวี ผมว่าคงแข่งยากขึ้น เราไม่ควรมองเขาเป็นคู่แข่งแล้ว แต่ควรมองเป็นคู่ค้ามากกว่า เราต้องมองไปข้างหน้า ซึ่งเรากำลังจะแข่งกับ เกาหลีใต้ ใต้หวัน หรือแม้แต่มาเลเซีย”