งัด 'ม.44' ล้างไพ่รถร่วมขสมก.

งัด 'ม.44' ล้างไพ่รถร่วมขสมก.

"คมนาคม" เสนอใช้ "ม.44" ยกเลิกสัญญารถร่วมฯขสมก.ทั่วกรุง รวม 111 สัญญา หวังล้างไพ่ให้กรมขนส่งฯดูแลรถเมล์แทนขสมก.

ความพยายามปรับปรุงคุณภาพของรถสาธารณะในกรุงเทพมหานครมีมานานหลายรัฐบาล โดยสามารถทำได้แค่มาตรการให้ผู้ประกอบการปรับปรุงคุณภาพบริการ แต่ปรากฏว่ามักจะไม่ได้ผลนักและประชาชนจำนวนมากที่ใช้บริการยังคงบ่นบริการที่ย่ำแย่แม้จะมีการปรับขึ้นค่าบริการ

ล่าสุดกระทรวงคมนาคมเตรียมปฏิรูปรถเมล์ทั่วกรุงเทพฯ โดยเสนอรัฐบาลใช้มาตรา 44 ยกเลิกสัญญารถร่วม 111 สัญญา จากนั้นจะมีการเปิดประมูลใหม่ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน รวมทั้งให้อำนาจการกำกับดูแลไปอยู่ที่กรมการขนส่งทางบก(ขบ.)จากเดิมขึ้นอยู่กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)

นายดรุณ แสงฉาย รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางวานนี้ (27 ต.ค.) ว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กำลังพิจารณารายละเอียดการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เพื่อยกเลิกสัญญาการเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลของเอกชนที่ทำไว้กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ทั้งหมดรวม 111 สัญญา เนื่องจากต้องการจัดระเบียบใหม่ให้สัญญาทุกฉบับไปอยู่ใต้การกำกับดูแลของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ขั้นตอนต่อไป นายอาคมต้องเสนอเรื่องไปยังนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก่อนเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ หลังจากนั้นจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

“สัญญารถร่วมฯ แต่ละแห่งจะทยอยอายุหมดไม่เท่ากัน จึงจำเป็นต้องใช้ ม.44 ยกเลิกให้หมดอายุพร้อมกันเพื่อ Set Zero ใหม่ เมื่อยกเลิกสัญญาแล้ว รถเมล์ทุกสายจะต้องมาแข่งขันกัน โดยสายที่หมดอายุแล้วก็มาแข่งขันเลย ส่วนสายที่ยังไม่หมดอายุก็คงต้องมีการเยียวยา”นายดรุณ กล่าว

ปัจจุบัน รถโดยสารในกรุงเทพมหานคร มีทั้งสิ้น 15,492 คัน แบ่งเป็นรถโดยสารของขสมก. 3,008 คัน เป็นรถโดยสารขนาดใหญ่ของเอกชน 3,809 คัน และรถโดยสารขนาดเล็กของเอกชน 8,675 คัน ซึ่งขสมก.ได้ส่วนแบ่งค่าสัมปทานในแต่ละเส้นทาง

แต่รายได้ในแต่ละปีที่ขสมก.ได้รับไม่มากนัก โดยล่าสุดในปี 2558 ขสมก.ได้รับค่าส่วนแบ่งรวมรถทุกประเภทราว 140 ล้านบาท

เตรียมเยียวยาที่เหลืออายุสัญญา

นายดรุณ กล่าวว่าหลังสัญญาทั้งหมดสิ้นสุดลง ขบ.จะเป็นผู้กำกับดูแลรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลแทน ขสมก. ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาเรื่องแนวทางเยียวยาเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญาดังกล่าว เพราะบางสัญญาเหลืออายุอีก 3 ปี หรือ 5 ปี และสูงสุดถึง 7 ปี โดยแนวทางเบื้องต้นคือ อาจจะให้ต่อสัญญาแต่ไม่เกินปี 2561 จากนั้นจะเปิดให้มาให้ยื่นคำขอเพื่อคัดเลือกแข่งขันกันเป็นผู้ให้บริการในเส้นทางที่กำหนดต่อไป

สำหรับการประกาศเชิญชวนให้เอกชนเสนอราคาเส้นทางเดินรถโดยสารจะนำร่องใน 2 สายก่อน คือ สาย 113 และสาย 115 เพื่อเป็นรูปแบบในการดำเนินงานในเส้นทางอื่นต่อไป

นำร่องเปิดประกวดราคา 2 เส้นทาง

ด้านนายณันทพงศ์ เชิดชู รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบกกล่าวว่า สาเหตุที่นำร่องประกวดราคาใน 2 เส้นทางจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 7-9 เส้นทาง เนื่องจากเป็นเส้นทางที่หมดสัญญากับขสมก. และมีผู้ประกอบการเดินรถเพียงรายเดียวจึงไม่มีการแข่งขัน ทำให้ขั้นตอนการดำเนินงานไม่ยุ่งยากและได้ผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอมาเมื่อไร เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด แต่คาดว่าได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้

เตรียมแผนปฏิรูปเดินรถ269เส้นทาง

นอกจากนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้ ขบ. กลับไปทบทวนเรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาให้สัญญาสัมปทานการเดินรถและนำกลับมาเสนออีกครั้ง เนื่องจากต้องการให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามระเบียบที่ ขบ. กำหนด เช่น เก็บค่าโดยสารตามอัตราที่ระบุไว้ เดินรถตรงเวลา เป็นต้น

ขณะเดียวกับ ขบ. อยู่ระหว่างจัดทำแผนการปฏิรูปเส้นทางเดินรถ 269 เส้นทางว่า เป็นเส้นทางเดินรถขสมก. และรถร่วมฯ ขสมก. ในสัดส่วนเท่าใด รวมทั้งเพิ่มเส้นทางเดินรถที่เชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนประเภท เช่น รถไฟฟ้าใต้ดิน และรถไฟฟ้า

เอกชนร้องขอความเห็นใจ

นางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง (รถร่วมฯ ขสมก.) กล่าวว่าถ้ารัฐบาลใช้มาตรา 44 ยกเลิกสัญญารถร่วมฯ ทั้งหมด ก็คงไม่สามารถคัดค้านใดๆ ได้ แต่ส่วนตัวมองว่ามาตรา 44 จะส่งผลให้สถานการณ์แย่ลง จึงอยากให้รัฐบาลเห็นใจผู้ประกอบการเดิมซึ่งไม่ได้ทำอะไรผิดและให้ความเป็นธรรมกับภาคเอกชนด้วย

โดยเมื่อสัปดาห์ก่อน ทางสมาคมฯ ได้ส่งหนังสือถึงนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อขอเข้าพบและชี้แจงว่า การปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาเรื่องการบริการที่ถูกต้อง เพราะถ้ารัฐบาลปฏิรูปแล้วใช้เงื่อนไขหรือมีแนวคิดเรื่องอัตราค่าโดยสารแบบเดิม ก็จะทำให้เอกชนขาดทุนเหมือนเดิมและยังต้องรับภาระเพิ่มขึ้น เพราะค่าแรงขั้นต่ำที่จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 10 บาทต่อวันในวันที่ 1 ม.ค. 2560

นางภัทรวดี เห็นว่าแนวทางการปฏิรูปที่ถูกต้องคือ รัฐบาลควรช่วยชดเชยและเยียวยาเอกชนก่อนล้างไพ่ใหม่แล้วให้ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมเข้ามาประกอบธุรกิจ ที่สำคัญคือต้องกำหนดเงื่อนไขและอัตราค่าโดยสารที่ทำให้เอกชนคุ้มทุนและสามารถนำกำไรมาลงทุนพัฒนาคุณภาพบริการได้