แลภาพเล่าเรื่อง น้อมรำลึกจากใจชาวจุฬาฯ

แลภาพเล่าเรื่อง น้อมรำลึกจากใจชาวจุฬาฯ

เปิดบันทึก "พระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 9" แลภาพเล่าเรื่อง น้อมรำลึกจากใจชาวจุฬาฯ

“ชื่อมหาวิทยาลัยของท่าน คือ จุฬาลงกรณ์ จะติดตัวท่านไปด้วยเสมอไม่ว่าจะประพฤติดีหรือประพฤติชั่ว นั้น ทุกๆ ครั้งที่ท่านจะกระทำการสิ่งใดลงไปจงคิดแล้วคิดอีก ทบทวนดูทั้งทางได้ทางเสียให้แน่ชัดเสียก่อน จุฬาลงกรณ์ หาได้เป็นแต่เพียงชื่อมหาวิทยาลัยนี้เท่านั้นไม่ ยังเป็นนามของผู้พระราชทานกำเนิดของสถานที่แห่งนี้ด้วย ฉะนั้น จึงเป็นการจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านจะต้องปฎิบัติตนให้เหมาะสมกับเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมสั่งสอนไปจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้” พระบรมราโชวาท ตอนหนึ่ง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในวันพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่นิสิตจุฬาฯ

“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ก่อตั้งจัดการเรียนการสอนมาอย่างยาวนาน เข้าสู่ 100 ปี ในการยืดหยัดเป็นเสาหลักของแผ่นดิน และในช่วงเวลา 100 ปีนี้จุฬาฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9” ทุกด้านเป็นเวลา 70 ปี เพราะช่วงเวลา 100 ปีของจุฬาฯ70 ปี เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 9มีเรื่องราว เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย และพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านไม่ได้จำกัดขอบเขตเกิดขึ้นเฉพาะจุฬาฯ เท่านั้น พระองค์ไม่ได้เลือกให้ความสำคัญ ไม่ได้เลือกหน้าผู้คน ต่อให้ประชาชนตัวเล็กตัวน้อย พระองค์ท่านไม่เคยทอดทิ้ง ทุกสถาบันการศึกษาล้วนได้รับพระมหากรุณาธิคุณทั้งสิ้น

ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อุปนายกสภาจุฬาฯ อดีตนิสิตจุฬาฯ และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ย้อนเล่าเปิดบันทึกเหตุการณ์ แลภาพเล่าเรื่อง ใต้ร่มพระบรมราชูปถัมภก จุฬาฯ ในรัชกาลที่ 9 ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวจุฬาฯ อย่างมาก โดยมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมาตลอด 70 ปี เริ่มตั้งแต่ ปี 2489 เสด็จออกรับนิสิตจุฬาฯ ในการพระบรมศพรัชกาลที่ 8 พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และในครั้งเมื่อเสด็จไปทรงพระอักษรต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์นิสิตจุฬาฯ ก็ได้ไปส่งเสด็จ และได้ขอให้เขียนหนังสือต้อนรับนิสิตใหม่ลงวารสารของจุฬาฯทรงพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวจุฬามาโดยตลอด ต่อมาเสด็จกลับมาเมืองไทย เพื่อประกอบพระราชพิธีสำคัญ โดยในพระราชพิธีดังกล่าวจะต้องมีการจัดริ้วกระบวนและ4พ.ค.2493นิสิตจุฬาฯ เข้าริ้วกระบวนเป็นมหาดเล็กคู่แห่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

“21 พ.ค.2493 เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกให้แก่นิสิตจุฬาฯ และจากการค้นประวัติพบว่า มีนิสิตจุฬาฯ จำนวน 190,000 คน ที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของพระองค์ท่าน ซึ่งเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต หรือได้ประสบด้วยตนเองและเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชหลายคนอาจจะมองว่าอยู่ในความทรงจำก็มีคุณค่ามากแล้ว แต่ผมอยากชักชวนคนไทย โดยเฉพาะนิสิตจุฬาฯ ช่วยกันบันทึกเหตุการณ์สำคัญๆ หรือความรู้สึกที่มีต่อพระองค์ท่าน เพื่อเป็นการรวบรวม บันทึกเรื่องราวทั้งหมดให้เป็นที่ประจักษ์ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องเล่าที่ขาดความชัดเจน ควรจะมีการสืบทอด ซึ่งหลังจากนี้ ผมจะนำข้อเสนอให้ทางจุฬาฯ บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่พระองค์ท่าน รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่จุฬาฯ จะได้ไว้ให้ลูกหลานในอนาคตได้ศึกษา เรียนรู้ ไม่ให้สูญหายไปพร้อมกับความทรงจำของคนรุ่นหลัง”

 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ให้ความสำคัญต่อการศึกษา และได้เสด็จมาร่วมกิจกรรมต่างๆ ของชาวจุฬาฯ มากมาย อาทิ ปี พ.ค.2495 เสด็จทอดพระเนตรงานแสดงวิทยาศาสตร์, วันที่ 6 ก.ย.2500 พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นิสิตจุฬาฯ จำนวนกว่า 3,000 คน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี, 14ก.พ.2504 ทรงฟังการอภิปรายเรื่อง “พระพุทธศาสนากับนิสิตในมหาวิทยาลัย จัดโดยกลุ่มศึกษาพุทธศาสตร์และประเพณี ส.จ.ม.

“อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญต่อชาวจุฬาฯ คือ วันที่ 15 ม.ค.2505 เสด็จมาทรงปลูกต้นจามจุรีห้าต้น ซึ่งปัจจุบันต้นไม้ ทั้ง 5 ต้น เจริญเติบโตในมหาวิทยาลัย หยั่งรากลึกลงไปในดินและใจของชาวจุฬาฯ ครั้งนั้นพระองค์มีพระราชดำรัสว่า ได้ทรงเพาะต้นจามจุรีที่วังไกลกังวล และตอนนี้ต้นไม้โตมากพอที่จะเข้าโรงเรียนได้แล้ว ทรงพามาฝากเข้ามหาวิทยาลัย บริเวณหน้าหอประชุม พระบรมรูปสองรัชกาล จะได้เห็นต้นจามจุรี 5 ต้น และในวันพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 20-21 ต.ค.2559 ที่ผ่านมา บัณฑิตจุฬา ฯ นอกจากถวายบังคมพระบรมรูปสองรัชกาลแล้ว ได้ร่วมร้องเพลง ต้นไม้ของพ่อ เพื่อเป็นการถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอีกด้วย”

ต่อมา 20 ก.ย.2504 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรี ณ เวทีลีลาศ สวยอัมพร,29 ก.ค.2505 เสด็จมาร่วมอภิปราย “ปัญหาการใช้คำไทย” ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ ,20 ก.ย.2508 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรี ณ หอประชุมจุฬาฯ, 24 ธ.ค.2509 เสด็จเป็นองค์ประธานในการแข่งขันฟุตบอลประเพณี(ปัจจุบันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์) ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ ,20 ก.ย.2511 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรี ณ หอประชุมจุฬาฯและ 20 ก.ย.2514 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรี ณ หอประชุมจุฬาฯ

ศ.พิเศษ ธงทอง เล่าต่อไปว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จมาทรงฟังอภิปรายก็ดูแปลกแล้ว ยังทรงมาร่วมอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาการใช้คำไทยด้วย จัดโดยชุมนุมเล็กๆ ในคณะหนึ่ง จุฬาฯแสดงให้เห็นว่าพระองค์ให้ความสำคัญกับการศึกษา และชาวจุฬาฯ อย่างมาก อย่าง งานฉลอง 50 ปี จุฬาฯ 26 มีนาคม 2509 อธิการบดีรับพระราชทานพระเกี้ยวจากองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระเกี้ยวที่ใช้ในงานพิธีการสำคัญ เช่น พิธีอธิการปติประทานการ หรือพิธีรับมอบตำแหน่งอธิการบดีจุฬาฯรวมถึงมีพระเกี้ยวองค์ใหญ่ ที่ใช้ในงานกิจกรรมของนิสิต พ.ศ.2512 นายกสโมสรนิสิตรับพระราชทานพระเกี้ยว สำหรับใช้ในกิจกรรมของนิสิตจุฬาฯ

นอกจากนั้น วันที่ 10 ธ.ค.2515 ทรงเปิดงานนิทรรศการทางวิชาการของสโมสรนิสิตจุฬา,11 ก.พ.2520 ทรงเปิดฝายน้ำล้น “ยุววิศวกรบพิธ 5“(ปัจจุบันทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ยังคงดำเนินการกิจกรรมดังกล่าวอยู่) สร้างโดยชมรมค่ายอาสาพัฒนา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ,23 พ.ย.2530 ทรงเปิดพระบรมรูปสองรัชกาล และจุฬาฯ วิชาการประจำปีการศึกษา 2530 ,13 ม.ค.2532 ทรงเจิมและทรงพระสุหร่ายพระเกี้ยวก่อนพระราชทานแก่มหาวิทยาลัย ,14 ก.ค.2531 นายอนุสรณ์ธรรมใจ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ทูลเกล้าฯ ถวายพระมหาสังข์รัชมงคล ภายหลังพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในเดือน ก.ค.พ.ศ.2531 ,11 ก.ค.2539 จุฬาฯ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระพุทธปฎิมาแก้วผลึก เนื่องในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี , 17 ก.ค.2541 พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งสุดท้ายที่เสด็จพระราชดำเนิน และ20-21 ต.ค.2559 พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งสุดท้าย ในพระปรมาภิไธย รัชกาลที่ 9

“ทุกเหตุการณ์ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในรั้วจามจุรี และพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีมากมาย และผมไม่อยากให้กลายเป็นตำนาน กลายเป็นจินตนาการ แต่พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เป็นคำสอนที่มีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของทุกคน การพัฒนาประเทศ ซึ่งทุกๆ วินาทีของพระองค์ล้วนให้แง่คิด และเป็นการทำเพื่อประชาชนชาวไทย อย่างนาทีการมอบปริญญาบัตร พระองค์ท่านได้ให้ข้อคิด บทเรียนสุดท้าย ว่าการพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระหัตถ์กระดาษแผ่นเดียวต้องใช้คนสองคนช่วยกัน แต่ถ้าใครปล่อยมือ กระดาษแผ่นนั้นจะตกลงสู่พื้นทรงอยากให้บัณฑิตเห็นบทเรียนสุดท้าย ทำเป็นตัวอย่าง ว่าการพระราชทานปริญญาบัตร พระองค์ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของตัวเอง แต่เพื่อความสุขของคนอื่น เช่นเดียวกันบางครั้งคนเราไม่ได้ทำอะไรเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่เพื่อคนอื่น ถ้าบัณฑิตสังเกต นำบทเรียนดังกล่าวไปสู่การสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติต่อไป”ศ.พิเศษ ธงทองกล่าว

หลังจากนี้“ศ.พิเศษ ธงทอง” จะเสนอให้ทางจุฬาฯ เตรียมนำเรื่องราวต่างๆ มาบันทึกในลักษณะของข้อความ ภาพ เพื่อเป็นประวัติศาสตร์ เรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพราะวันนี้ ตอนนี้ ทุกคนอาจจดจะได้ แต่ก็ไม่มีใครจะรู้ว่าความทรงจำของตัวเองจะอยู่ได้ยาวนานขนาดไหน จึงอยากชักชวนให้คนไทยทุกคนช่วยกันบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ท่าน เพื่อคุณค่า และประโยชน์แก่บุคคลรุ่นต่อๆ ไป

นายศิวัช สุดาเดช นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาประธานสภานิสิตจุฬาฯ กล่าวว่าตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา จุฬาฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่านมาโดยตลอด เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือทรงรับเป็นพระราชกรณียกิจมาพระราชทานปริญญาบัตร ถึงแม้ช่วงหลังไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาด้วยตนเอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯทรงเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ นอกจากนั้น ได้ทรงพระราชทานเอาใจใสในการพัฒนา และติดตามความก้าวหน้าของจุฬาฯทั้งด้านวิชาการ และความเป็นอยู่ของนิสิต บุคลากร อาจารย์จุฬาฯในฐานะนิสิต จุฬาฯ อยากเป็นส่วนหนึ่งในการถวายอาลัยแด่พระองค์ และระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อชาวจุฬาฯ มาตลอดซึ่งโดยส่วนตัวก็ได้มีการน้อมนำคำสอนของพระองค์มาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การประมาณตน เพราะคำสอนเหล่านี้ไม่ว่ายุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน ก็ยังคงนำมาใช้ได้อยู่ ดังนั้น อยากให้คนรุ่นใหม่ออกมาแสดงจิตอาสาช่วยเหลือประชาชน และนำหลักคำสอนของพระองค์มาใช้

ก่อนที่ความทรงจำของทุกคนจะกระจัดกระจาย เลือนหายไปตามกาลเวลา การบันทึกทุกเรื่องราว ย้อนอดีตพระมหากรุณาธิการของพระองค์ท่านจวบจนปัจจุบัน ล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถกระทำได้ เพื่อเป็นหลักคำสอน ประวัติศาสตร์สืบทอดทั้งหลักฐาน ตราตรึงในจิตใจของพสกนิกรไทยตลอดกาล