ประเพณีลากพระข้ามทะเลแห่งเดียวในโลก ถวายเป็นพระราชกุศล

ประเพณีลากพระข้ามทะเลแห่งเดียวในโลก ถวายเป็นพระราชกุศล

ชาวตำบลหาดสำราญ จังหวัดตรัง จัดงานประเพณีลากพระทางน้ำ ข้ามทะเลหนึ่งเดียวในประเทศไทย และแห่งเดียวในโลก

ที่เป็นเอกลักษณ์ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น และทำบุญถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

เมื่อวานนี้ (24 ต.ค) ชาวหาดสำราญ กว่า 200 คน ร่วมกันจัดงานประเพณีลากพระข้ามทะเล และจัดให้มีพิธีการทำบุญถวายพระ และพิธีกรรมทางศาสนา เนื่องในวันออกพรรษา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยชาวตำบลหาดสำราญ ยังคงสวมใส่ชุดดำ

ในการประกอบพิธี จุดเครื่องทองน้อย และกราบถวายสักการะต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ และร่วมลงนามแสดงความอาลัย แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมถึงร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ท่านทรงมีต่อปวงชนชาวไทย

สำหรับการลากพระข้ามทะเลนี้ นับเป็นประเพณีที่เก่าแก่ และยาวนาน โดยชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวันที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จลงมาจากสวรรค์สู่โลกมนุษย์ หลังเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดุสิต ตลอดพรรษา ซึ่งชาวบ้านทั่วไปจะเดินทางไปร่วมงานลากเรือพระทางบก

สำหรับประเพณีลากพระข้ามทะเลปีนี้ ตรงกับวันที่ 24 ตุลาคม 2559 แรม 8 ค่ำ เดือน 11 ชาวหาดสำราญ ร่วมกันนำเอาเรือที่ใช้กันทำประมงมาประกอบตกแต่งเป็นเรือพระ และมีเรือเล็กที่ชาวบ้านจัดทำขึ้นเรียกว่า เรือพระเคราะห์ ซึ่งเป็นเรือจำลองขนาดเล็กเพื่อไว้เป็นเรือสะเดาะห์เคราะห์ขอขมาพระแม่คงคา ให้นำสิ่งไม่ดีออกไป และขอให้มีแต่สิ่งดีดีเข้ามา ลอยไปกับเรืออีกลำและจะนำไปปล่อยในแม่น้ำตามความเชื่อของชาวบ้าน

โดยการลากเรือครั้งนี้ มีเรือแค่ 2 ลำ ซึ่งลำที่ 1 เป็นผู้ชายชาวหาดสำราญ มีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมเขียนข้อความป้ายผ้าสีขาวความว่า“ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป “

และลำที่ 2 เป็นผู้หญิงชาวหาดสำราญสวมชุดดำ ร่วมพายเรือที่ผูกลากเรือพระ ไปในคลองปากปรน จากท่าเทียบเรือบ้านปากปรน ต.หาดสำราญ อ.หาดสำราญ เพื่อไปยังบริเวณปากคลอง ก็จะปล่อยเรือพระเคราะห์ในกลางทะเลอันดามัน เป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร

จากนั้นจะตั้งขบวนเรือ และร่วมกันลากกลับที่ท่าเรือบ้านปากปรน โดยได้มีการถือปฏิบัติสืบทอดกันเรื่อยมานับร้อยปี จนกระทั่งถึงปัจจุบัน แต่ปีนี้งดเว้นงานมหรสพและงานรื่นเริงทั้งหมด โดยต้องการรักษา และสืบสานงานประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นเอาไว้ เพื่อทำดีถวายแด่พ่อหลวงของปวงชนชาวไทยให้คงอยู่ตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน