แชมป์นี้เพื่อ'พ่อหลวง' ทนงศักดิ์ แสนสมบูรณ์สุข

แชมป์นี้เพื่อ'พ่อหลวง' ทนงศักดิ์ แสนสมบูรณ์สุข

แบดมินตัน เป็นอีกชนิดกีฬาที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรด

 ตั้งแต่เมื่อครั้งยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย

ด้วยสายพระเนตร อันยาวไกล ทรงรับสั่งกับผู้ใกล้ชิดว่า แบดมินตัน เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเภทที่คนไทยสามารถไต่เต้าไปสู่ระดับโลกได้ เพราะไม่เสียเปรียบ ทางด้านรูปร่าง และพละกำลังมากจนเกินไป 

ครั้งหนึ่ง หนังสือพิมพ์สเตรทไทม์ส ของสิงคโปร์ บันทึกว่าในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวงการแบดมินตันไทย ตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมฯ ในปี พ.ศ.2493 จนวงการแบดมินตันไทย มีรากฐานที่ดี และมีนักกีฬาทั้งระดับชาติและระดับโลกมากมาย ตั้งแต่ยุคของ ศ.(พิเศษ) เจริญ วรรธนะสิน เรื่อยมาถึงแชมป์โลกคนแรกของไทย รัชนก อินทนนท์ ​รวมถึงฮีโร่คนล่าสุด ทนงศักดิ์ แสนสมบูรณ์สุข

ว่าที่มือหนึ่ง

แม้ในรอบหลายปีที่ผ่านมา โฟกัสของวงการแบดมินตันไทย จะไปตกที่ฝั่งนักกีฬาหญิงเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ฝ่ายชาย โดยเฉพาะในประเภทเดี่ยว ดูจะมีเพียง “ซูเปอร์แมน” บุญศักดิ์ พลสนะ เป็นดาวค้างฟ้าของวงการอยู่นานหลายปี

ขณะที่ ทนงศักดิ์ แสนสมบูรณ์สุข หรือ “สอง” ได้รับการจับตามองในฐานะนักแบดมินตันฝีมือดี เคยคว้าแชมป์ระดับอินเตอร์เนชั่นแนล ซีรีส์ “เดอะ สไมลลิ่ง ฟิช แบดมินตัน อินเตอร์เนชั่นแนล ซีรีส์” 2 สมัย ในปี 2008 และ 2009 และรองแชมป์ กรังด์ปรีซ์โกลด์ 2 รายการ ไต้หวัน โอเพ่น 2011 และ โคเรีย โอเพ่น 2012

กระนั้น ก็ยังถูกมองว่ายังขาดความคงเส้นคงวา ในการก้าวขึ้นมารับช่วงต่อจาก บุญศักดิ์ ในฐานะนักแบดมินตันชายเดี่ยวเบอร์หนึ่งของไทย 

“สอง เป็นนักแบดมินตันที่มีฝีมือดี แต่ผลงานที่ผ่านมายังไม่คงเส้นคงวา ทำให้ไม่เป็นที่สนใจเท่าไหร่ แต่ระยะหลังมานี้ สอง พัฒนาฝีมือขึ้น โอกาสที่จะก้าวเป็นมือหนึ่งของประเทศไทยก็ไม่น่าจะยาก หากยังคงการเล่นที่ยอดเยี่ยมอย่างนี้ต่อไป” คือความเห็นของ บุญศักดิ์ ถึงรุ่นน้องรายนี้ เมื่อหลายปีก่อน

ขณะที่ สมพล คูเกษมกิจ อดีตผู้ฝึกสอนแบดมินตันทีมชาติไทย ก็ให้ทรรศนะถึง ทนงศักดิ์ ว่าเป็นนักแบดมินตันที่เก่ง ตีได้ดุดันและน่ากลัว แต่พอตีไม่ดี ก็จะหลุดฟอร์มไปทันที สิ่งที่ต้องปรับปรุงคือควรนิ่งและใจเย็นมากกว่านี้ หากต้องการก้าวสู่ระดับโลก

38 ปีที่รอคอย

นับแต่ซีเกมส์ หรือกีฬาแหลมทอง (เดิม) ครั้งที่ 8 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อ พ.ศ. 2518 ไม่เคยมีนักกีฬาแบดมินตันชายไทยคนไหน คว้าแชมป์ชายเดี่ยวต่อจาก บัณฑิต ใจเย็น ตำนานนักตบลูกขนไก่ไทยได้เลย เพราะที่ผ่านมา ความสำเร็จดังกล่าวถูกยึดครองไว้โดยนักแบดมินตันจากมาเลเซีย และอินโดนีเซียตลอด

กระทั่งในการแข่งขัน ซีเกมส์ ครั้งที่ 27 ที่เมียนมา เมื่อพ.ศ. 2556 ทนงศักดิ์ แสนสมบูรณ์สุข ก็สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ได้สำเร็จ ในความพยายามครั้งที่ 3 หลังจากเคยได้เหรียญทองแดง และเงินมาครองก่อนหน้านี้ 

ในรอบตัดเชือก ทนงศักดิ์ เอาชนะ เหงียน เทียน มินห์ ยอดนักตบลูกขนไก่จากเวียดนาม มือหนึ่งของรายการ ต่อด้วยการเอาชนะ ฮยอม รัมบูก้า จาก อินโดนีเซียได้ในรอบชิงชนะเลิศ คว้าเหรียญทองที่คนทั้งชาติรอคอยมานานถึง 38 ปี ได้สำเร็จ โดยในปีเดียวกันนั้นเอง เจ้าตัวก็ได้เหรียญทองจากกีฬามหาวิทยาลัยโลกที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซียด้วย

ผู้ชนะใจคนไทย

และในเดือนต.ค. 2559 ทนงศักดิ์ ในฐานะมือ 5 ของรายการ ก็คว้าแชมป์ระดับกรังด์ปรีซ์ โกลด์ ได้เป็นครั้งแรกในชีวิต ในรายการ  ”เอสซีจี ไทยแลนด์ โอเพ่น 2016“ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยการโค่น โซนี วี คันโคโร มือ 2 ของรายการ 2 เกมรวด ทั้งที่สถิติการเจอกันที่ผ่านมา “สอง” เป็นรองคู่ปรับจากอินโดนีเซียโดยตลอด 

จากนั้น เพียงสัปดาห์เศษ หลังวันเกิดครบรอบ 26 ปี ทนงศักดิ์ ที่ขยับขึ้นมาเป็นมือ 18 โลก ก็ก้าวไปอีกขั้นด้วยการคว้าแชมป์ต่อเนื่อง ด้วยชัยชนะเหนือ ชอน วาน โฮ มือ 7 ของโลกด้วยสกอร์ 21-13 และ 23-21 นับเป็นนักแบดมินตันชายไทยคนแรก ที่คว้าแชมป์ระดับซูเปอร์ซีรีส์พรีเมียร์ได้สำเร็จ

หลังจบการแข่งขัน ทนงศักดิ์ ได้ก้มลงกราบ เพื่อถวายความอาลัยแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ไว้ในมือ ขณะขึ้นโพเดียมเพื่อรับรางวัล 

ระหว่างการรับรางวัล ทั้งป้ายเงินรางวัล ช่อดอกไม้ หรือแม้แต่ถ้วยรางวัลที่ได้มาอย่างยากลำบาก ทนงศักดิ์ ก็เลือกวางทุกสิ่งไว้บนพื้น โดยถือพระบรมฉายาลักษณ์ไว้ตลอด ด้วยเหตุผลที่คนต่างชาติจำนวนมากอาจไม่เข้าใจ

เพียงเท่านี้ ก็ชนะใจคนไทยทั้งชาติที่รับรู้ถึงความหมายที่เจ้าตัวต้องการสื่อ โดยไม่ต้องมีคำอธิบายใดๆ