'ไฮบริด แฟบริค' ดึงนวัตกรรมชุบชีวิต‘สิ่งทอ’

'ไฮบริด แฟบริค' ดึงนวัตกรรมชุบชีวิต‘สิ่งทอ’

"กิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์" ซีอีโอหนุ่มของ ไฮบริด แฟบริค ดึงนวัตกรรมมาชุบชีวิตธุรกิจ"สิ่งทอ" ให้รอดพ้นจากสภาวะ "SUNSET Business"

ธุรกิจสิ่งทอ ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นธุรกิจตะวันตกดิน หรือซันเซ็ท บิสซิเนส เท่าที่ผ่านมา อุตสาหกรรมนี้ในไทยแทบไม่มีผู้ประกอบการคนไหนต้องการลงทุนเครื่องจักรเพิ่ม แต่เรากลับเติบโตได้ทุกปี เมื่อเห็นตัวเลขการเติบโตแล้ว แม้จะโตปีละไม่มากนัก แต่ผมก็เชื่อว่าธุรกิจนี้ยังไม่ตาย” กิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ทายาทธุรกิจสิ่งทอที่เก่าแก่ยาวนานรายหนึ่งกล่าว 

แม้จะเกิดมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจสิ่งทอมาแต่เดิม แต่ กิตติพงศ์ ก็ไม่ได้สานต่อธุรกิจนี้ในทันทีที่เขาจบการศึกษา เขาเลือกที่จะเข้าสู่ธุรกิจอื่นๆ ที่เขามีความสนใจก่อน โดย กิตติพงศ์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านการตลาด จาก California State University Hayward, USA  จากนั้นก็ไปชิมลางในธุรกิจไอที,  อสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงเทรดดิ้ง โดยเขาเป็นหนึ่งในเทรดเดอร์ของเวบไซต์ ebay 

สาเหตุที่ไปลองผิดลองถูกในธุรกิจที่หลายหลาย ก็เพราะ ชอบความท้าทาย” เป็นพื้นฐาน และความชอบนี้เอง ที่ทำให้เขามีเครือข่ายในการทำธุรกิจเพิ่ม ทั้งเครือข่ายที่เป็นแวดวงนักธุรกิจต่างๆ ที่มาจากหลากหลายอุตสาหกรรม และเครือข่ายทางความคิด กิตติพงศ์ บอกว่า แต่ละธุรกิจที่เข้าไปหาประสบการณ์นั้น ไม่ซินเนอร์จีกัน ไม่ต่อยอดกับธุรกิจครอบครัวด้วยซ้ำ แต่เราก็ได้รับประสบการณ์การทำงานที่ดี และได้เครือข่ายเพิ่มขึ้นในเวลาเดียวกัน 

“ผมทำธุรกิจของตัวเองมาค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่ทำงานในบริษัทไอทีแห่งหนึ่งที่สหรัฐอเมริกา, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงเป็นคนขายของในอีเบย์ ของที่ขายก็หลากหลายแล้วแต่เทรนด์ในตอนนั้นๆ ว่าผมคิดว่าอะไรกำลังมา แต่การขายของบนอีเบย์นั้น มาจากความชื่นชอบเทคโนโลยีเป็นการส่วนตัว พอกลับมาที่ไทย และเริ่มเข้ามาช่วยธุรกิจที่บ้าน ผมก็ยังทำธุรกิจของผมเองด้วย คือส่งออกปลาสลิดทอดกรอบไปต่างประเทศ”

จังหวะการเป็นนักบริหารธุรกิจของ กิตติพงศ์ สะดุดในปี 2550 ซึ่งเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และตามมาด้วยปัจจัยลบทางเศรษฐกิจเรื่องไข้หวัดนก ทำให้เขาจำต้องยุติธุรกิจของตัวเขาเองไว้ และหันมาทุ่มเทให้กับธุรกิจครอบครัวอย่างเต็มที่ 

กิตติพงศ์ เล่าว่า ธุรกิจครอบครัวของเขาคือธุรกิจทอผ้า ชื่อว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ตั้ง เตียง ฮง ทำธุรกิจค้าขายผ้าในย่านสำเพ็งจนถึงปี พ.ศ.2535 ได้ขยายกิจการมาเป็นผู้ผลิตภายใต้โรงงานใหม่ ชื่อบริษัท ที.ที.เอช.นิตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ทำธุรกิจกาทอผ้า และต่อมาได้ขยายกิจการตัดเย็บครบวงจร 

กิตติพงศ์เริ่มต้นช่วยธุรกิจที่บ้านจริงจังเมื่อปี 2548 และคลุกคลีในทุกซอกมุมธุรกิจทอผ้า และในท้ายที่สุด เขาก็ตัดสินใจแตกหน่วยธุรกิจออกมาอีก 1 ธุรกิจในปี 2558 คือ บริษัท ไฮบริด แฟบริค จำกัด (HYBRID FABRIC) เพื่อทำธุรกิจ คิดต้นและพัฒนาในทุกกระบวนการผลิต จนเรียกได้ว่าเราคือ ผู้นำนวัตกรรมด้านสิ่งทอ อันดับ 1 ของประเทศไทย

ไฮบริด แฟคบริค นั้น ก่อตั้งโดย กิตติพงศ์ ด้วยประสบการณ์ในธุรกิจสิ่งทอกว่า 10 ปี และทีมงานที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสิ่งทอมาอย่างยาวนาน ด้วยการเล็งเห็นถึงปัญหาของวงการผ้าถักในประเทศไทยที่ถือว่ายังพัฒนาไปได้ช้าเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ทั้งๆ ที่ศักยภาพของประเทศไทยในด้านโครงสร้างของวัตถุดิบ ภาคการผลิต การวิจัยพัฒนา รวมถึงภาคการบริโภคถือว่ามีศักยภาพและความพร้อมไม่แพ้ประเทศอื่นๆ แต่เนื้อผ้าต่างๆ ที่มีจำหน่ายในประทศส่วนใหญ่นั้นถือว่าเป็นเพียงผ้าธรรมดา เครื่องจักรที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นรุ่นเก่า ขาดการบำรุงรักษา รวมทั้งขาดการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อผู้ผลิตส่วนใหญ่ได้ผลิตผ้าธรรมดาออกมาจำหน่าย จึงประสบปัญหากับสินค้าคู่แข่งจากเพื่อนบ้านที่มีลักษณะเหมือนแต่ราคาต่ำกว่า รวมทั้งผู้บริโภคเกิดความเบื่อหน่ายกับสินค้าเดิมๆ ที่มีจำหน่ายมาโดยตลอดหลายสิบปี

ไฮบริด แฟบริค จึงถูกต่อตั้งด้วยปณิธานของกิตติพงศ์ ที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ บนผ้า เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้แก่วงการผ้าในเมืองไทย โดยตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา จนปัจจุบันนี้ กิตติพงศ์ ทุ่มลงทุนไปแล้วกว่า 100 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา การลงทุนด้านเทคโนโลยี เพื่อผลักดันศักยภาพด้านการทอผ้าให้ไร้ขีดจำกัด โดย ณ งวด 9 เดือน ปี 2559 นี้ ไฮบริด แฟบริค มีรายได้ประมาณ 30 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าทั้งปีนี้น่าจะมีรายได้ประมาณ 40-50 ล้านบาท เนื่องจากไตรมาส 4 เป็นช่วงไฮซีซัน 

ขณะเดียวกัน กิตติพงศ์ คาดหวังว่า ปี 2560 ไฮบริด แฟบริค น่าจะมีรายได้มากกว่า 100 ล้านบาท หรือเติบโตจากปี 2559 ประมาณ 100% ปัจจัยหลักมาจากการขายสินค้าที่หลากหลายขึ้น  สัดส่วนลูกค้าที่ชัดเจนขึ้น และมาร์จินสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่ผลิตโดยไฮบริด แฟบริค 

สิ่งที่กิตติพงศ์ให้ความสำคัญมากๆ และเชื่อมั่นว่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ไฮบริด แฟบริค รวมถึงธุรกิจสิ่งทอฟื้นคืนชีพอีกครั้ง หรือรอดพ้นจากภาวะตะวันตกมาได้ ก็คือเทคโนโลยี โดยเขาสร้างแผนก R&D ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ Science Park ด้วยความร่วมมือกับบริษัทวิจัยชั้นนำของประเทศ อย่าง CDIP ที่ร่วมกันพัฒนาตั้งแต่วัตถุดิบที่นำมาใช้ทอผ้า ไม่ว่าจะเป็นเส้นใยธรรมชาติหรือเส้นใยสังเคราะห์ ด้วยวัตถุดิบทั้งในประเทศและนอกประเทศ เพื่อสร้างสรรค์เส้นด้ายที่นำมาใช้ทอผ้าในหลากหลายรูปแบบ หลากหลายฟังค์ชันที่เส้นด้ายแต่ละตัวมีคุณสมบัตินั้นๆ

เขากล่าวทิ้งท้ายว่า ธุรกิจสิ่งทอไทยนั้นไม่ใช่ธุรกิจที่กำลังจะตายอย่างแน่นอน  เพียงแต่คนที่จะเข้าฟื้นฟูธุรกิจนี้ต้องเข้าใจช่วงโหว่ของธุรกิจทั้งในด้านการเงิน การตลาด บริการหลังการขายและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งตัวเขา ซึ่งคลุกวงในธุรกิจมา 10 ปี สามารถจับใจความสำคัญของธุรกิจนี้ได้แล้ว

ก้าวต่อไปของไฮบริด แฟบริค ก็คือการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ระหว่างนี้อยู่ระหว่างการแต่งตัวให้เข้ากับคุณสมบัติที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด ส่วนเงินระดมทุนนั้น กิตติพงศ์  จะใช้ลงทุนสร้างโรงงานทอผ้าและโรงงานย้อมผ้าแห่งใหม่ เพื่อให้ไฮบริด แฟบริค เติบโตโดยที่มีขัดจำกัดน้อยที่สุด