“ในหลวง” ในห้วงคำนึง

“ในหลวง” ในห้วงคำนึง

แม้จะผ่านพ้นวันมหาวิปโยคมาได้ระยะหนึ่งแล้ว หากทว่า ความโศกศัลย์ทรมานยังฝังอยู่ในหัวใจของประชาชนชาวไทยทุกคน

จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีช่วงเวลาไหนเลยที่คนไทยไม่คิดถึง “พระองค์”

ตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างหนักมาโดยตลอด ทั้งนี้ก็เพื่อประชาชนคนไทยได้อยู่ดีกินดี ซึ่งหากบันทึกเป็นถ้อยคำ หน้ากระดาษนับล้านๆ แผ่นอาจไม่เพียงพอต่อคำบรรยายความรู้สึกที่พสกนิกรไทยเกือบ 70 ล้านคนมีต่อพระองค์ผู้ทรงเป็น “พ่อแห่งแผ่นดิน” ได้


“จุดประกาย” จึงขอนำเรื่องราวความทรงจำและความประทับใจในมุมต่างๆ ของบุคคลผู้เป็นตัวแทนของชนชาวไทยมาเสนอ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และย้ำเตือนใจประชาชนถึงหลักคำสอนต่างๆ ที่พระองค์พระราชทานแก่ประชาชนคนไทยเสมอมา

 

+++++++++++


“จริงๆ ผมก็เหมือนเด็กต่างจังหวัดคนอื่นๆ ที่ไม่มีสิ่งบันเทิงอะไรนอกจากวิทยุเล็กๆ เครื่องหนึ่ง ซึ่งจะเปิดเพลงพระราชนิพนธ์มากๆ ในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมของทุกปี พระองค์พระราชนิพนธ์เพลงไว้เยอะมาก เวลาเราฟังช่วงนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศหนาวๆ ด้วยนะ ฟังแล้วชื่นใจมาก


ภาพแมวทรงเลี้ยงเราเคยเห็นตั้งแต่ตอนเด็กๆ เป็นแมวที่น่ารักมาก ได้ใกล้ชิดกับพระองค์ท่านขณะทรงเปียโนเพื่อพระราชนิพนธ์เพลง เราเองก็ชอบเสียงเปียโน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูก 3 คนของเราก็ได้เล่นเปียโน โดยลูกชาย 2 คนได้ทุนไปเรียนเปียโนต่อที่อเมริกา เลยเป็นความผูกพันกับภาพนี้มากๆ


ภาพนี้เขียนก่อนพระองค์เสด็จสวรรคต รายละเอียดของภาพนี้เดิมเป็นภาพที่เบลอมาก เราเลยต้องให้ลูกชายช่วยแกะว่าโน้ตอะไร ซึ่งภาพนี้ลูกชายมีส่วนช่วยเยอะมาก แล้วพอวันที่ได้ทราบข่าวพระองค์ คือ...มันปะทะใจเรามากจนต้องหยุดเขียนภาพ เขียนไม่ได้เลย มันมากกว่าการเขียนภาพคือมันไปต่อไม่ได้ ณ ตอนนั้น


โดยส่วนตัวผมไม่มีโอกาสรับใช้พระองค์โดยตรง แต่โดยทางอ้อมก็คือได้เขียนภาพในหลวงให้กับธนาคารหลายๆ แห่งเพื่อทำปฏิทิน พระองค์ยังอยู่ในใจของพวกเราตลอดไป พระองค์เป็นดั่งแม่สีที่อยู่ในใจคนทำงานศิลปะ เป็นแม่สีที่เป็นลมหายใจของพวกเรา สีอื่นอาจจะขาดได้ แต่จะขาดสีใดสีหนึ่งของ “แม่สี” ไปไม่ได้ นี่คือในหลวงที่เป็นแสงสว่างของพวกเรา” สุรเดช แก้วท่าไม้ – อาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

+++++++++++

“ความรู้สึกแรกที่รู้สึกจริงๆ คือเรารู้สึก ว่าปีนี้เป็นปีมหาวิปโยคของคนไทย ที่จริงของคนทั้งโลกนะครับ เพราะว่าทั่วโลกก็รู้สึกว่าเป็นกษัตริย์ของเขา เรารู้สึกว่าเป็นกษัตริย์ของเรา แต่ว่าทั้งโลกเขารู้สึกว่าเป็นกษัตริย์ของเขา เพราะฉะนั้นโลกนี้ก็กำลังมีปัญหา พระองค์ท่านทรงเตือนเอาไว้แล้วว่า โลกนี้จะเจอวิกฤตหลายอย่าง ภาวะสงครามโลกตอนนี้ถ้าใครตามจริงๆ ก็น่าเป็นห่วง เพราะฉะนั้นน่าจะเป็นปีที่...สำหรับคนไทยถือว่าทั้งปีนี้จะเป็นปีมหาวิปโยคทีเดียว ทั้งโลกก็คงจะเจออะไรมากมาย และเป็นโอกาสดีทีเดียวที่เราจะพลิกวิกฤตนี้มาเป็นโอกาสที่จะสร้างความพอเพียง สร้างชีวิตให้มั่นคง คือให้มีภูมิคุ้มกัน ถ้าเกิดสงครามโลกขึ้นจริง เกิดวิกฤตภัยพิบัติธรรมชาติหรืออื่นๆ ขึ้นจริง เราก็จะเป็นประเทศแรกของโลกที่จะอยู่ได้อย่างมั่นคง


ที่จริงอยากใช้คำของพระองค์ท่านอย่างง่ายที่สุดเลย ทรงใช้คำว่า “พอ” คือใช้คำง่ายๆ ว่า แค่คำว่าพอก็พอแล้ว คือคำว่าพอมันเริ่มจาก หนึ่ง ชีวิตเรา เราต้องเลี้ยงครอบครัวให้พอกิน ตัวเราคนเดียวก่อน แล้วครอบครัวเราทำไงจะมีพอกิน สอง ชีวิตคนจะแค่กินอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องมีของใช้ ทำไงเราจะมีอุปกรณ์ในการซักผ้า ทำไงเราจะมีเครื่องอุปโภค ของกินก็คือเครื่องบริโภค เครื่องอุปโภคทำไงจะมี วิธีการที่เขาทำกันทั่วไปคือไปหาตังค์ แล้วเอาตังค์ไปซื้อ แต่วิธีการของพระองค์ท่านคือ ไปทำเองเลย เอามาใช้เอง ทำเอามากินเองเลย ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องไปทำกิน จะต้องไปทำใช้ทั้งหมด ซื้อไม่ได้ ไม่ใช่นะครับ แต่ให้เริ่มคิดว่า ทำยังไงเราจะลดการพึ่งพาคนอื่นให้น้อยลง แล้วหันมาพึ่งตนเอง เนี่ย...ทำให้มันพอ พอกิน พอใช้ พออยู่อาศัย และทุกคนชอบความร่มเย็น ชอบความสบาย ก็ต้องมีความร่มเย็นสบายพอ นี่คือขั้นพื้นฐานง่ายๆ” ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร – ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ


++++++++++++


“การถวายงานพระมหาชนกนั้น ทำให้ผมได้ล่วงรู้หลายๆ อย่างจากพระองค์ท่าน ผมเห็นพระองค์ท่านทรงตรวจงานของพวกเราเป็นปึ๊งใหญ่ ขนาดใหญ่ แล้วก็สเก็ตของเรา...จะเป็นร้อยรูปที่พระองค์ทรงนำกลับไปที่วัง แล้วพระองค์ก็ทรงขับรถมาเอง พระองค์ท่านทรงขับรถแล้วทรงหอบรูปที่พระองค์ทรงตรวจ แล้วพระองค์เสด็จฯ มาถึงก็ทรงหอบลงรถพระองค์เดียว ขับมาพระองค์เดียว แล้วก็ทรงนำมาวาง แล้วก็ตรัสว่า เมื่อคืนนี้ไม่ได้นอนเลย พระองค์ท่านทรงรับสั่งกับพวกเรา พวกเราตกใจมาก ที่เข้าเฝ้าฯ ทุกคนตกใจมาก เราไม่เคยคิดเลยว่าพระเจ้าอยู่หัวจะทรงขับรถมาเอง แล้วทรงหอบงานปึ๊งใหญ่มาด้วยพระองค์เอง ทรงนำมาวางแล้วตรัสว่า เราไม่ได้นอนทั้งคืนเลยนะเนี่ย ไม่ได้นอนทั้งคืนเลย ทรงตรวจอย่างละเอียด แล้วมีพระราชวินิจฉัยรูปอย่างละเอียดไปหมดว่าอันนี้ควรจะอย่างนั้นควรจะอย่างนี้ ทีละรูปๆ นั่นล่ะคือที่มาและเหตุที่ทำให้ผมต้องถวายชีวิตตัวเอง...ถวายชีวิตตัวเอง


ตั้งใจในวันนั้นเลยว่า เสร็จงานพระมหาชนก กูจะกลับบ้าน กูจะกลับบ้าน แล้วกูจะมาทำ กูจะทำสิ่งที่พระองค์ท่านทรงปรารถนา สร้างจนวันตาย ทุ่มเท จะทำศิลปะที่ยิ่งใหญ่ประจำรัชกาลของพระองค์ท่าน ทุ่มเททำจนวันตาย ผมไม่รู้จะพูดอะไร นี่คือสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจที่สุด


ผมรู้จักพระเจ้าอยู่หัว ผมรัก และผมก็มีโอกาสเหมือนที่ผมฝัน ผมได้ใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัวอยู่ใต้พระบาทท่าน แล้วทำงาน ผมไม่ได้ทำงานพระมหาชนกอย่างเดียว ผมทำเหรียญเมื่อพระองค์ท่านประชวรครั้งแรก ผมมอบแบบเหรียญ ผมทุ่มเทวัดร่องขุ่น ทุกอย่างคือความรัก วัดร่องขุ่นคือสิ่งที่ผมแทนพระมหากรุณาธิคุณพระองค์ท่าน ความยิ่งใหญ่ของผมนั้นผมอยากทำถวายพระองค์ท่าน ผมอยากทำให้มันยิ่งใหญ่ที่สุด ให้คนทั้งโลกรู้จักงานศิลปะแห่งยุคสมัยของพระองค์ที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือสิ่งที่ผมปรารถนา และตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ทรงเมตตาต่อประชาชนทั้งประเทศ ทรงทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อประชาชน” เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ – จิตรกรไทย


+++++++++++++++++


“ดิฉันมีโอกาสเป็นคนแรกที่ผลิต “กระจกหกด้าน” เผยแพร่พระราชกรณียกิจเมื่อ 30 กว่าปีมาแล้วทางช่อง 7 สี โดยผลิตสารคดีพระราชกรณียกิจ 10 ชุด ชุดละ 12 ตอน อื่นๆ อีก 8 ตอน รวมทั้งสิ้น 128 ตอน


ดิฉันมีโอกาสพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์, พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์, พระตำหนักทักษิณราชวิเวศน์, พระราชวังไกลกังวล, รับประทานข้าวหลวง, ยาหลวง, บ้านหลวง มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ส่วนพระองค์ 1 ครั้ง เป็นทางการ 3 ครั้ง รวม 4 ครั้ง ทุกครั้งตัวเย็นเยียบ หัวใจเต้นเร็ว ขนลุกทั้งกาย ดิฉันมีพระบรมฉายาลักษณ์ทรงปิดทองหลังหลวงพ่อโสธรไว้บูชา จึงยึดมั่นในพระราชดำรัส ปิดทองหลังพระไปเรื่อยๆ แล้วทองจะล้นออกมาที่หน้าพระเอง"- สุชาดี มณีวงศ์ – รายการกระจกหกด้าน


+++++++++++++++++


"ช่วงที่ผมทำงานช่วงแรกๆ ที่ค่อนข้างยากลำบากเพราะทำงานในป่า เจอปัญหา เจออุปสรรค ความท้อแท้มีอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรามีกำลังใจ คือ เมื่อเราไปที่ไหนก็จะพบเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ และพระบรมสาทิสลักษณ์ ทำให้เราระลึกถึงแล้วมีกำลังใจ


สำหรับการทำงาน สิ่งที่เราคิดอย่างเดียวคือเรามีหน้าที่บริการประชาชน ช่วยเหลือประชาชนในฐานะที่เราเป็นข้าราชการ เป็นตัวแทนของพระองค์ท่าน เวลาเราทำงานมันมีคำถามว่า เราจะเสียสละไปทำไม เราให้ไปแล้วเราจะได้อะไร เราควรทำสิ่งที่ทำแล้วได้อะไรตอบแทนไม่ดีกว่าหรือ สำหรับในหลวง พระองค์ทรงใช้คำว่า หลักสังฆทาน ซึ่งมีความหมายลึกซึ้งคือ ให้เพื่อให้ เป็นการให้โดยไม่เลือก ไม่ได้ให้เพื่อหวังผลตอบแทน


ตอนนี้พระองค์ท่านเสด็จไปอยู่บนสรวงสวรรค์ ทรงทอดพระเนตรเห็นพสกนิกรทุกคน พระองค์ทรงมอบสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้ทุกคนสานต่อ อย่าให้ “พ่อ” ผิดหวัง” – นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน – สัตวแพทย์สัตว์ป่า ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช


+++++++++++++++


“ผมชอบพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน เวลาได้ฟังมาหลายๆ อย่าง ก็อยากจะรู้ว่า หลักในการสอนคนในพระราชดำรัสของพระองค์ท่านมาจากไหน ถ้าเราไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ เราจะไปสอนคนไม่รู้เรื่อง ฉะนั้นเมื่อเรามาพิจารณาแล้วพบว่าใช้กับชีวิตเราได้จริงๆ พอศึกษาหาดู ปรากฏว่า พระราชดำรัสของพระองค์ท่านส่วนมากมาจากพระพุทธศาสนา เช่น เศรษฐกิจพอเพียง ถ้าเราไม่อยากก็จะไม่เกิดทุกข์ พอใจในสิ่งที่เรามี


พระราชดำรัสของพระองค์มีประโยชน์จริงๆ นะ ถ้าคนไทยน้อมนำไปใช้ผมว่าจะทำให้ประเทศไทยเจริญ พระองค์ทรงเคยตรัสอยู่ว่า ไม่มีใครทำให้ใครเป็นคนดีได้ แต่เราจะต้องไม่ให้คนไม่ดีมามีอำนาจบริหารบ้านเมือง


เมื่อประมาณสิบกว่าปีก่อน ผมเพิ่งสึกมา แล้วทางผู้จัดละครกำลังสร้างละครเทิดพระเกียรติเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ผมก็ได้ร่วมเล่นด้วย ซึ่งทุกคนก็น่าจะอยากเป็นส่วนหนึ่ง ที่จะได้ถ่ายทอดสิ่งที่พระองค์ทรงสอนมาให้คนได้เข้าใจมากขึ้น ผมจึงภูมิใจมาก” ธนากร โปษยานนท์ – นักแสดง

++++++++++++++++