พระอัจฉริยภาพ "ไอที-สื่อสาร"

พระอัจฉริยภาพ "ไอที-สื่อสาร"

พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย

ปี 2543 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบถวายการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2543 พร้อมกำหนดให้วันที่ 19 ต.ค.ของทุกปีเป็น “วันเทคโนโลยีของไทย” เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงนำความรู้ทางสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุกสาขาวิชามาใช้ในการพัฒนา ทุกแขนง ทุกโครงการที่มีพระราชดำริและประทานแก่ประชาชน ล้วนมีวิธีดำเนินการได้ง่าย ไม่ยุ่งยากซ้ำซ้อน สอดคล้องระบบนิเวศโดยรวมของธรรมชาติ และสภาพสังคมของชุมชนนั้นๆ 


ไม่ทรงปิดกั้นเทคโนโลยีใหม่จากต่างประเทศ แต่ทรงเน้นว่าจะต้องเลือกใช้เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์มาปรับปรุงใช้ได้ดีพอ เหมาะกับสภาพและฐานะของประเทศ

วิทยาการด้านเทคโนโลยีที่ทรงนำมาใช้ในการพัฒนานั้นมีหลายด้าน เช่น การเกษตร การบริหารจัดการน้ำ ทรงนำเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยุสื่อสาร ดาวเทียม และคอมพิวเตอร์มาใช้ดำเนินงาน ช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง เพิ่มปริมาณน้ำฝนให้แก่อ่างและเขื่อน เก็บกักน้ำเพื่อการชลประทาน การผลิตกระแสไฟฟ้า

ปี 2495 พระองค์ทรงจัดตั้งสถานีวิทยุ อ.ส.ขึ้นในพระราชวังสวนดุสิต ต่อมาจึงย้ายไปตั้งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชประสงค์ที่ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส.คือให้พสกนิกรมีโอกาสติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้น สถานีวิทยุยังทำหน้าที่ เป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรมจากภัยพิบัติต่างๆ

ทรงประดิษฐ์อักษรไทยในคอมพ์
ขณะที่ คอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์เครื่องแรกที่ใช้ทรงงาน คือ Macintosh Plus ผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย คือ ม.ล.อัศนี ปราโมช ทรงใช้สร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลข้อมูลด้วยพระองค์เอง ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทย ทรงใช้เพื่อบันทึกพระราชกรณียกิจต่างๆ รวมถึง ทรงใช้ประดิษฐ์ ส.ค.ส. อวยพรปีใหม่ให้กับประชาชนชาวไทยตลอดทุกปี ทรงประดิษฐ์อักษรไทยไว้หลายแบบ พระองค์ยังทรงใช้ Macintosh Plus ในงานทางด้านดนตรี ทรงใช้ในการประพันธ์เพลง บันทึกโน้ตเพลง และเนื้อร้อง ด้วยพระองค์เอง

คอมพิวเตอร์ เครื่องที่ 2 ของพระองค์ท่าน คือ คอมพิวเตอร์ IBM PC Compatible ทรงสร้างโปรแกรมใหม่ๆ ขึ้นมา รวมทั้งเทคนิคด้านการใช้งานของคอมพิวเตอร์ ทรงเปิดเครื่องออกเพื่อดูระบบต่างๆ ภายในด้วยพระองค์เอง ทรงปรับปรุงซอฟต์แวร์ ทรงแก้ไขโปรแกรมใช้งานส่วนพระองค์ ทรงสนพระทัยศึกษาพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ และทรงใช้คอมพิวเตอร์ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการทรงงานในพระราชกรณียกิจของพระองค์ด้วย

เครื่องรับวิทยุส่วนพระองค์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ยังทรงสนพระทัยด้านการสื่อสารตั้งแต่ทรงพระเยาว์ “...ทรงทดลองต่อสายไฟพ่วงขนานกับลำโพงขยาย ของเครื่องรับวิทยุส่วนพระองค์ที่ผลิตจากประเทศสวีเดน ยี่ห้อ ‘Centrum’ จากห้องที่ประทับพระองค์ท่านไปยังห้องที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทั้งสองพระองค์ทรงพอพระทัยในบริการเสียงตามสายไม่น้อย...” (สุชาติ เผือกสกนธ์, วันสื่อสารแห่งชาติ : 2530)

พระองค์ทรงมีดำริให้พัฒนาด้านระบบวิทยุสื่อสารอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง รับส่งได้ไกลยิ่งขึ้น ดังจะเห็นพระองค์ทรงใช้เครื่องมือสื่อสารพกติดพระองค์ เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ อยู่เสมอ สิ่งที่พระองค์ทรงขาดไม่ได้ คือ การสดับตรับฟังข่าวทุกข์สุขของประชาชน ดังเช่นระหว่างการเสด็จเยี่ยมราษฎรได้ทรงพบว่า มีผู้ใดกำลังเจ็บป่วย จำเป็นต้องบำบัดรักษา จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะแพทย์ผู้ตามเสด็จดูแลตรวจรักษาทันที

บางรายที่อาการป่วยหนัก จำเป็นต้องส่งตัวเข้าบำบัดรักษาในโรงพยาบาลท้องถิ่นหรือโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครโดยเร็ว หากมีเวลาเพียงพอ พระองค์ท่านจะรับสั่งผ่านทางวิทยุถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจตระเวนชายแดน ขอรับการสนับสนุนเรื่องการขนส่ง เช่น เฮลิคอปเตอร์ เพื่อนำผู้ป่วยเจ็บส่งยังที่หมายปลายทางด้วยพระองค์เอง

พระอัจฉริยะด้านการถ่ายภาพ
เช่นเดียวกับภาพที่ชินตาของพสกนิกร ยามเมื่อเสด็จไปในที่ต่างๆ มักเห็นภาพของพระองค์มีกล้องข้างพระวรกายอยู่เสมอ ท่านทรงมีความสนใจในศิลปะด้านการถ่ายภาพมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ข้อมูลระบุว่า การโปรดการถ่ายภาพทรงได้ต้นแบบมาจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระองค์ทรงพกกล้องถ่ายภาพ และมีอิริยาบถของนักถ่ายภาพ ไม่ว่าจะไปยังที่ใด ทุรกันดารแค่ไหน พระองค์มีกล้องข้างพระวรกายอยู่เสมอ

ท่านทรงใช้ในการบันทึกภาพทั้งบุคคล และสภาพภูมิประเทศ เพื่อใช้ประกอบการแก้ปัญหาในพระราชกรณียกิจ

พระราชทานนามดาวเทียมดวงแรก
ดาวเทียมไทยคม นับว่า เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การสื่อสารโทรคมนาคมของไทยก้าวสู่ยุคแห่งความล้ำหน้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติดวงแรกอย่างเป็นทางการว่า ”ไทยคม” (“THAICOM”) มาจากคำว่า Thai Communications หรือ ไทยคมนาคม เพื่อเป็นสัญญลักษณ์การเชื่อมโยงประเทศไทยกับเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ ดาวเทียมได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการสนองพระราชดำริ เรื่องของการศึกษา

โดยนายขวัญแก้ว วัชโรทัย เป็นผู้สนองพระราชภารกิจที่โรงเรียนไกลกังวล หัวหิน ได้นำดาวเทียมไทยคม เข้าไปใช้ในกิจการด้านการเรียนการสอน เจตนารมณ์ดังกล่าว เป็นการสนองตอบความต้องการของประชาชน และเป็นการปรับปรุงในเรื่องของการศึกษาให้สอดคล้องกับยุคสมัย สนองพระบรมราโชบายทางการศึกษา

ที่มา : ข้อมูลบางส่วนจาก เว็บไซต์ เรารักพระเจ้าอยู่หัว , softbizplus , thaiware