คนไทยสุดเสี่ยง!! ‘ผัก-ผลไม้’เต็มไปด้วยสารเคมี

คนไทยสุดเสี่ยง!! ‘ผัก-ผลไม้’เต็มไปด้วยสารเคมี

การรับประทานอาหารของคนไทย โดยเฉพาะผักและผลไม้ มีความปลอดภัยมากแค่ไหน กลายเป็นคำถามตัวโตๆ ลังมีการออกมาเปิดข้อมูลจากองค์กรพัฒนาเอกชน

 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ที่สุ่มตรวจสอบพบสารเคมีอันตราย ในผักและผลไม้ ในห้างสรรพสินค้า และตลาดค้าส่งสำคัญของกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่ามีปริมาณเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้

วันนี้สังคมไทย มีความตื่นตัวแค่ไหน ในฐานะผู้บริโภคผักและผลไม้ ที่ตีตราประทับสำคัญตามกฏหมาย ซื้อจ่ายแพงขึ้น แต่กลับไม่ได้รับความคุ้มครอง ได้รับประทานวัตถุมีพิษภัย สะสมเอาไว้มาก ๆ ซึ่งจะมีอันตรายถึงตายได้โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ประเทศไทย โดยภาครัฐต้องเสียหายงบประมาณจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในการมารักษาพยาบาล ผู้ป่วยที่ได้รับวัตถุมีพิษเหล่านี้สะสมเพิ่มมากขึ้น ทั้งโรคมะเร็ง โรคต่อมไร้ท่อ และสารพัดโรคที่จะติดตามมา

ประเทศไทย สูญเสียรายได้ สูญเสียโอกาส ในการส่งออก พืชผัก ผลไม้ ไปยังตลาดต่างประเทศ เนื่องจากถูกตรวจพบว่าค่าสารเคมีต้องห้าม หรือ วัตถุมีพิษต้องห้าม ตกค้างอยู่ในพืชผักผลไม้ปริมาณเกินค่าที่ประเทศนั้นๆ กำหนดไว้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายปีละนับหมื่น นับแสนล้านบาท

น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ระบุถึงภาพรวมการตรวจผัก-ผลไม้ รอบ 2 ว่าพบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน (MRL) ถึง 56% จากตัวอย่างทั้งหมด ตัวอย่างผักที่เก็บช่วงปลายเดือนส.ค.2559 พบว่าผัก-ผลไม้ทุกชนิดมีสารเคมีตกค้างเกินค่า MRL และพบการตกค้างสูงกว่าตัวอย่างที่เก็บช่วงกลางเดือนมี.ค.2559 ที่ผ่านมา

“เราสุ่มตรวจผักและผลไม้ โดยไม่ให้ผู้ขายรู้ตัว โดยสุ่มมา 158 ตัวอย่าง กลุ่มผัก ได้แก่ พริกแดง กะเพรา ถั่วฝักยาว คะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี แตงกวา มะเขือเปราะ และมะเขือเทศ และผลไม้ 6 ชนิด ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง มะละกอ แตงโม แคนตาลูป ฝรั่ง และแก้วมังกร

โดยเก็บตัวอย่างจากห้างโมเดิร์นเทรด 3 ห้าง หลัก ได้แก่ บิ๊กซี แมคโคร เทสโก้โลตัส ตลาดค้าส่ง 3 ตลาด ได้แก่ ตลาดไท ตลาดปฐมมงคล จ.นครปฐม และตลาดศรีเมือง จ.ราชบุรี

หลังจากนั้น ได้นำไปตรวจสอบ ในห้อง ปฏิบัติการ ในประเทศอังกฤษ พบมีค่ามาตรฐาน ที่จุดจำหน่าย เกินค่าจำนวนทั้งหมด 56 % ถือว่าเกินกว่าระดับที่กฏหมายยอมรับ ดังนั้นการกระทำเหล่านี้เป็นการกระทำที่ผิดกฏหมายทั้งสิ้น และสารเคมีที่พบในครั้งนี้ เป็นสารเคมีประเภทที่ไปกำจัด สารที่ทำมาเพื่อฆ่า โดยที่พบคราวนี้พบ 68 ชนิดสาร ถือว่าเยอะมาก"

สำหรับตัวอย่างผักที่เก็บช่วงปลายเดือนส.ค.2559 พบว่าผัก-ผลไม้ทุกชนิดมีสารเคมีตกค้างเกินค่า MRL และพบการตกค้างสูงกว่าตัวอย่างที่เก็บช่วงกลางเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยผักผลไม้จากห้างค้าปลีก และที่ได้รับฉลาก Q เป็นกลุ่มที่มีปัญหามาก

อาจมีคำถามว่าฉลากที่มีเครื่องหมาย Q และ Organic Thailand นั้น คืออะไร ?

Organic Thailand หมายถึงฉลากที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกเอาไว้ เพื่อรับรองว่าเป็นการปลูกโดยใช้วิธีการเกษตรอินทรีย์ โดยไม่มีการใช้สารเคมี

ส่วน Q นั้นมี 2 ประเภท คือ

Q-GAP เป็นการรับรองมาตรฐานกระบวนการผลิตในระดับฟาร์ม เป็นการปฏิบัติที่ดีทางการเกษตร เมื่อผลผลิตออกจากแปลงต้องมีค่าสารเคมีตกค้างไม่เกินค่าที่กฏหมายกำหนด

Q-GMP เป็นการรับรองโรงตัดแต่งคัดบรรจุ ถูกต้องตามสุขอนามัย แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องมาจาก Q-GAP เท่านั้น

ซึ่งเมื่อนำไปตรวจสอบ ทุกเครื่องหมาย และที่ไม่มีเครื่องหมาย พบว่ามีสารพิษตกค้างเหมือนกัน แต่มากน้อยต่างกันไป และการที่เราจำแนก ห้างสรรพสินค้า กับตลาดสด ที่ไปสุ่มตรวจสอบ พบว่ามีสารพิษแทบจะไม่แตกต่างกัน

ขณะนี้ ห้างสรรพสินค้า หลายแห่งได้ติดต่อเข้ามา เพื่อจะสอบถามข้อมูล และนำไปตรวจสอบว่า เกิดการผิดพลาดในกระบวนการตรงไหนอย่างไร

ส่วนผู้บริโภค ก็มีคำถามว่าสามารถที่จะฟ้องร้องได้หรือไม่ เพราะเท่ากับติดป้าย เพื่อเพิ่มมูลค่า แต่มีสารพิษเท่ากับผักในตลาด แบบนี้เป็นการหลอกลวงประชาชน ซึ่งตามกฏหมายสามารถฟ้องร้องได้ และสามารถยื่นหนังสือไปที่ 4 หน่วยงานหลัก คือ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิชาการเกษตร คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีหน้าที่ไปตรวจสอบ เพราะนอกจากเรื่องนี้แล้ว ยังพบอีกว่า มีสารตกค้างที่ประเทศของเราประกาศให้เลิกสารพิษไปแล้วเพราะมีอันตรายมาก เช่นยาฆ่าแมลงบางตัว ให้ยกเลิกการใช้ไปตั้งแต่ปี 2547 แต่พบว่ามีในการสุ่มตรวจในครั้งนี้ด้วย ประมาณ 20 % 

ซึ่งทางหน่วยงานรับผิดชอบคือกรมวิชาการเกษตร จะต้องออกไปตรวจสอบว่า ในเมื่อเลิกใช้มาตั้งหลายปีแล้ว ยังตรวจพบอยู่แสดงว่า มันต้องมีการลักลอบจำหน่าย ลักลอบใช้ได้อย่างไร