ยอด‘ตกงาน’ปี59พุ่งกว่า2เท่า

ยอด‘ตกงาน’ปี59พุ่งกว่า2เท่า

สปส.เผยชดเชย2เดือนแรกสูงกว่าทั้งปี58 'ประกอบรถยนต์-สิ่งทอ'อ่วม ขณะที่ปลัดกระทรวงแรงงาน รับอยู่ในสถานการณ์เฝ้าระวัง-เน้น4จังหวัดอุตสาหกรรม

จากสถานการณ์การเลิกจ้างงานและปิดกิจการของนายจ้างที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2559 ข้อมูลการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ของสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน พบว่าจำนวนผู้ขอรับเงินเพียงแค่ 2 เดือนแรกในปี 2559 มีจำนวนถึง 123,087 คน ใกล้เคียงกับจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนในปี 2558 ตลอดทั้งปี ที่ 123,536 คน และการสำรวจล่าสุดในปลายเดือน ส.ค.2559 มีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนแล้ว 161,012 ราย

แหล่งข่าวสำนักงานประกันสังคม ระบุว่าสาเหตุที่ตัวเลขผู้ขอรับเงินชดเชยมีจำนวนสูง เพราะในช่วงปลายปีต่อเนื่องต้นปี มีบริษัทขนาดใหญ่ปิดกิจการหลายราย ทั้งจากการย้ายฐานการผลิต ประสบภาวะขาดทุน และมีปัจจัยของการนำเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาใช้อีกบางส่วน 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ แต่ก็อยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง ที่กระทรวงแรงงานต้องมีการจับตาอย่างใกล้ชิด และมีแนวโน้มเป็นไปได้ว่า ตัวเลขผู้ขอรับเงินชดเชย ซึ่งสะท้อนถึงการว่างงานของลูกจ้างในระบบ ในสิ้นปีนี้อาจสูงกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 รวมทั้งพบว่าการจ้างงานหลายประเภทมีจำนวนผู้ขอรับเงินชดเชยเพิ่มสูงขึ้นมาก อย่างเช่นการปรกอบยานำพาหนะจาก 4 พันกว่าคนในปี 2558 พบว่าในปี 2559 มีผู้ขอรับเงินแล้วกว่า 7 พันคน 

รับเงินทดแทนปี58กว่า1.2แสนราย

สำหรับการรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในปี 2558 มีทั้งหมด 123,536 ราย แบ่งเป็น เลิกจ้าง 26,972 คน สมัครใจลาออก 91,807 คน และสิ้นสุดสัญญาจ้าง 4,757 คน จำแนกตามประเภทกิจการ 1.การค้า 24,341 คน 2.ผลิตภัณฑ์จากโลหะ 14,852 คน 3.การก่อสร้าง 8,994 คน 4.การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม 7,843 คน 

5.การผลิตสิ่งทอถัก เครื่องประดับ 6,609 คน 6.ผลิตภัณฑ์เคมี น้ำมันปิโตเลียม 6,366 คน 7.การขนส่ง การคมนาคม 5,537 คน 8.ผลิต-ประกอบยานพาหนะ 4,914 คน 9.ผลิตภัณฑ์จากกระดาษ การพิมพ์ 2,094 คน 10.อุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ 1,750 คน11.การทำป่าไม้ ผลิตภัณฑ์จากไม้ 1,714 คน 

12.ผลิตภัณฑ์จากแร่อโลหะ 1,572 คน 13.การผลิตโลหะขั้นมูลฐาน 1,447 คน 14.การสำรวจ การทำเหมืองแร่ 1,144 คน 15.สาธารณูปโภค 361 คน 16.ประเภทกิจการอื่นๆ28,759 คน 17.ไม่สามารถแยกประเภทกิจการได้ 5,239 คน

2เดือนแรกปี59ยอดพุ่งเท่าปีก่อน

ในขณะที่จำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานปี 2559 ถึงเดือนส.ค. รวมทั้งหมด 161,012 คน แบ่งเป็น เลิกจ้าง 29,068 คน สมัครใจลาออก 125,427 คน และสิ้นสุดสัญญาจ้าง 6,517 คน จำแนกเป็น 1.การค้า 31,853 คน 2.ผลิตภัณฑ์จากโลหะ 18,593 คน 3.การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม 12,150 คน 4.การก่อสร้าง 9,390 คน 

5.ผลิตภัณฑ์เคมี น้ำมันปิโตเลียม 8,616 คน 6.การขนส่ง การคมนาคม 7,682 คน 7.ผลิต-ประกอบยานพาหนะ 7,042 คน 8.การผลิตสิ่งทอถัก เครื่องประดับ 6,813 คน 9.อุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ 2,831 คน 10.ผลิตภัณฑ์จากกระดาษ การพิมพ์ 2,699 คน 11.การสำรวจ การทำเหมืองแร่ 2,591 คน 

 12.ผลิตภัณฑ์จากแร่อโลหะ 2,008 คน 13.การผลิตโลหะขั้นมูลฐาน 1,865 คน 14.การทำป่าไม้ ผลิตภัณฑ์จากไม้ 1,675 คน 15.สาธารณูปโภค 533 คน 16.ประเภทกิจการอื่นๆ 38,494 คน 17.ไม่สามารถแยกประเภทกิจการได้ 6,177 คน

ปลัดแจง“สิ่งทอ-ยานยนต์”จ้างลดลง

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าในส่วนของสถานการณ์การจ้างงาน ว่างงาน และเลิกจ้าง กระทรวงแรงงานมีการติดตามและเฝ้าระวังเป็นประจำทุกเดือน โดยข้อมูลเดือน ส.ค.2559 อัตราการจ้างงานขยายตัวอยู่ที่ 1.93% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2558 มีผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เพิ่มขึ้น 196,441 คน รวมทั้งหมด 10,385,238 คน โดยประเภทกิจการที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถาบันการเงินและบริการด้านธุรกิจ ที่พักและบริการด้านอาหาร การค้าเครื่องไฟฟ้า ยานพาหนะ การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก และบริการสุขภาพ 

ส่วนประเภทกิจการที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ การก่อสร้าง การผลิตซ่อมวิทยุ โทรทัศน์ชิ้นส่วน สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และการผลิตท่อโลหะที่ใช้ในการก่อสร้าง

สำหรับสาเหตุที่ขณะนี้มีสถานประกอบการหลายแห่งต้องเลิกจ้างงาน เนื่องจากประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ขาดทุนหรือยอดการสั่งซื้อของลูกค้าลดลง โดยกระทรวงแรงงานก็ได้มีการเฝ้าระวังใน 4 จังหวัด คือ จ.ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา(เป็นจังหวัดที่เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ม.ค.2559) สมุทรปราการ และชลบุรี ขณะที่อุตสาหกรรมที่เฝ้าระวัง ได้แก่ การผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน การผลิตสิ่งทอ เป็นต้น

สถานการณ์“เลิกจ้าง”ต้องเฝ้าระวัง

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการจ้างงานในภาพรวมของตลาดแรงงานอีก 12 เดือนข้างหน้าตั้งแต่เดือน ก.ค.2559 – มิ.ย.2560 ตนเห็นว่า ยังอยู่ในภาวะปกติ โดยดัชนีผสมส่งสัญญาณเตือน 2 ตัว คือ การใช้กระแสไฟฟ้าชะลอตัว เป็นการปรับลดในกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวในหลายภาคการผลิต อาทิ การผลิตยานยนต์ การผลิตยาง การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ขณะที่แนวโน้มการว่างงานอยู่ในสัญญาณปกติ ส่วนแนวโน้มการเลิกจ้าง อยู่ในสถานะเฝ้าระวัง

สำหรับการเฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้างนั้น กระทรวงแรงงาน ได้กำหนดแนวปฏิบัติในการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับสถานการณ์เลิกจ้าง โดยแบ่งการทำงานเป็น 4 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะเฝ้าระวัง เช่น การหาข่าวติดตามสถานการณ์ ประเมินสถานการณ์และแนวโน้มการเลิกจ้าง โดยการแต่งตั้งชุดปฏิบัติการระดับจังหวัด 2.การดำเนินการ โดยการให้บริการด้านแรงงาน การหาตำแหน่งงานที่ตรงกับความต้องการ และการให้ข้อมูลสิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นต้น

3.การรายงานสถานการณ์ ใช้กลไกขับเคลื่อนในระดับพื้นที่เป็นหลัก โดยให้หน่วยปฏิบัติรายงานต่อผู้บังคับบัญชาหน่วยขึ้นตรง และสำนักงานแรงงานจังหวัดรายงานสถานการณ์ในภาพรวม และ 4.การติดตามผล มอบหมายผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานที่รับผิดชอบเขตตรวจราชการ ติดตามสถานการณ์ ลงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและรายงานปลัดปลัดกระทรวงแรงงานทราบ

จับมือธุรกิจ-พัฒนาคนแก้ว่างงาน

“ขณะนี้ที่กระทรวงแรงงานทำเชิงรุก อย่างในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่เริ่มมีการปิดกิจการเยอะ ทางกระทรวงแรงงานก็จับมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เข้าไปจัดโครงการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน ในลักษณะการปรับเปลี่ยนบุคลากร(Re-training) ให้ไปอยู่งานในด้านอื่นๆ 

หรือหากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีการปิดกิจการมาก ก็จะไปจับกลุ่มทำแผนงานร่วมกัน เพราะถ้าจะเลิกจ้างจริงๆ ก็ต้องมีการเตรียมคนให้มีความพร้อม หรือปรับทักษะให้เขาใหม่ เพื่อเปลี่ยนงานได้ ซึ่งก็จะทำให้แรงงานได้รับผลกระทบน้อยลง”

ทั้งนี้ อาจจะมีการเลิกจ้างในบางไลน์การผลิต แต่ก็มีเพิ่มการจ้างงานในบางสาขา ซึ่งสถานการณ์การเลิกจ้างขณะนี้ ยังมองว่า ไม่รุนแรงมาก ซึ่งกระทรวงแรงงานก็ได้มีการติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างอย่างใกล้ชิด เชื่อว่า ตำแหน่งงานว่างในตลาดแรงงานยังมีเพียงพอที่จะสามารถรองรับได้

กกจ.เร่งสร้างปวช-ปวส.ป้อนตลาด

ด้านนายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์การว่างงาน ว่าประเทศไทยไม่ได้มีปัญหากับการว่างงาน แต่เรามีปัญหากับการขาดแคลนแรงงาน ตนไม่เชื่อว่า ประเทศไทยคนจะว่างงาน แต่มองว่าไม่ทำงานมากกว่า จากตัวเลขการว่างงาน น่าจะมาจากคนที่จบการศึกษาแล้ว อยากจะเรียนต่อต่างประเทศ แล้วกลับมาทำงานไม่มีคุณภาพ หรือเรียนตามพ่อแม่ เพื่อน ต้องการ ทำให้ออกมาทำงานจริงก็ทำงานไม่ได้

ที่ผ่านมา กกจ. มีการทำระบบทวิภาคีร่วมกับอาชีวศึกษา เพื่อทำให้เด็กที่จบปวช. ปวส. สามารถทำงานได้เลยและมีใบประกาศรับรอง เมื่อเด็กพวกนี้ทำงานก็จะทำได้รับค่าจ้าง 15,000 บาท เท่ากับเด็กจบปริญญาตรี ดังนั้น ระบบการศึกษาทุกวันนี้ทำให้คนมีโอกาสการทำงานลดน้อยลง แต่เชื่อว่าระบบทวิภาคีของ กกจ. จะสามารถเตรียมความพร้อมของผู้เรียน ผู้สอนได้

“ถ้ามีโอกาสไปดูการศึกษาอาชีวะในประเทศสิงคโปร์ บางคณะเป็น Polytechnic University เรียนแค่ 3 ปี สามารถมีความถนัดเท่ากับเรียนสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยดีๆ ในบ้านเรา เรียนแค่ 3 ปี ก็ได้งานแล้ว”

ฝึกอาชีพทหารเกณฑ์ต่อยอดทำงาน

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 13 ต.ค. กระทรวงแรงงาน จะลงนามความร่วมมือกับกระทรวงกลาโหม เพื่อนำทหารที่จะปลดประจำการ ทหารกองหนุน ทหารผ่านศึก ที่จะเข้าไปช่วยฝึกงานฝึกอาชีพให้ เพื่อจะได้มีทักษะติดตัวไปประกอบอาชีพได้ ซึ่งเรื่องที่ทาง กกจ. กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) จะทำร่วมกัน

 “ตัวเราเองต้องมีสิ่งที่มุ่งมั่น ทุกคนต้องหาสิ่งที่ดีกว่า เราต้องสร้างทัศนคติของเด็กให้คิดสิ่งที่ดีกว่า แต่โรงเรียนนั้นไม่สร้างทัศนคติตรงนี้ วินัยในองค์กร ต้องเป็นความชอบในงาน ทัศนคติกับงาน เราต้องจึงมีการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อให้เราทุกคนไปทดสอบฝีมือ ถ้าสอบได้ก็ควรได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น และผมก็เชื่อว่า นายจ้างก็สามารถยอมรับอัตราค่าจ้างตรงนี้ได้” นายสิงหเดช กล่าว