6 พฤติการณ์ 'ไม่ปกติ' ก.ล.ต.แบล็คลิสต์ 8 กรรมการเนชั่น

6 พฤติการณ์ 'ไม่ปกติ' ก.ล.ต.แบล็คลิสต์ 8 กรรมการเนชั่น

เปิดข้อมูล! 6 พฤติการณ์ "ไม่ปกติ" ก.ล.ต.แบล็คลิสต์ 8 กรรมการเนชั่น

คำประกาศ “ขาดคุณสมบัติ” ในการนั่งเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนของกรรมการทั้ง 8 คน บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. นำมาซึ่งข้อกังขาหลายประการ

สำหรับผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดทุนมาตลอด เห็นปฏิบัติการกล่าวโทษของ ก.ล.ต. มาหลายครั้ง คงงงงวย ว่า “ผู้บริหารเนชั่นกรุ๊ป” ทำผิดรุนแรงขนาดไหนหรือ สำนักงาน ก.ล.ต. ผู้เป็น “เสาหลัก” แห่งตลาดทุนไทย ถึงขั้นลงดาบ แบล็คลิสต์คณะกรรมการบริษัทแบบ “ยกเข่ง” ทั้ง 8 คน กระทั่งอาจส่งผลต่อการคงอยู่ของกิจการ

ย้อนกลับไปต้นทางของคดีความทั้งหมด มาจากจุดเริ่มต้นเดียว อันได้แก่ ความพยายามครอบงำกิจการ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยผิดกฎหมายของ บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ก จำกัด (มหาชน) ซึ่งเนชั่นฯ ได้ร้องเรียนไปยังสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อนการเปิดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อให้ตรวจสอบพฤติกรรม Acting In Concert ของกลุ่มนิวส์ เน็ตเวิร์ก หรือ SLC ในขณะนั้น

ทั้งนี้ ผู้บริหารเนชั่นกรุ๊ป ได้พยายามร้องขอให้สำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาเรื่องนี้ให้ชัดเจนก่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นวันที่ 29 เมษายน 2558 เพื่อป้องกันปัญหาต่อบริษัท แต่ ก.ล.ต. ก็ไม่ได้มีข้อวินิจฉัยจนล่วงเลยไปหลายเดือน จึงมีมติกล่าวโทษ บริษัทนิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น, บริษัทโพลาริส แคปปิตัล และ นายศิร์วสิษฎ์ สายน้ำผึ้ง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2559 ฐานมีพฤติกรรมเข้าครอบครองกิจการอย่างไม่ถูกต้อง

เรื่องร้องเรียนที่ค้างคาในเวลานั้น ทำให้ นายณิทธิมน หัสดินทร ณ อยุธยา ประธานกรรมการเนชั่นกรุ๊ป และ ประธานการประชุมผู้ถือหุ้น ตัดสินใจสั่งห้ามผู้ถือหุ้นบางส่วนเข้าร่วมประชุม และ ลงคะแนนเสียง ด้วยข้อสงสัยว่า “ครอบครองหุ้นอย่างไม่ถูกต้อง” ซึ่งยังไม่ได้รับคำตัดสินจาก ก.ล.ต.
เหตุการณ์ดังกล่าว นำมาซึ่งการร้องเรียนต่อ ก.ล.ต. ของบริษัทนิวส์ เน็ตเวิร์ก และพวก ว่าถูกเนชั่นกรุ๊ป กีดกันไม่ให้เข้าร่วมประชุม

จากนั้น ในเดือนธันวาคม 2558 ก.ล.ต. มีคำตัดสินว่า นายณิทธิมน หัสดินทร ณ อยุธยาประธานกรรมการ และ ประธานการประชุมผู้ถือหุ้น มีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์มาตรา 281/2 วรรคหนึ่งเพราะเป็นผู้มีอำนาจสั่งการในการประชุม โดยถูกกล่าวโทษ พร้อมประกาศ“ขาดคุณสมบัติ”เพียงคนเดียว

หลังจากที่ผ่านไปเกือบ 9 เดือน นับจากกล่าวโทษนายณิทธิมน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา กรรมการทั้ง 8 คนของเนชั่นกรุ๊ป กลับถูก ก.ล.ต.ประกาศ “ขาดคุณสมบัติ” การเป็น ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน พร้อมกันทั้งหมด

ทั้ง 8 คนจะต้องลงจากตำแหน่งบริหารในทันที ทั้งที่ 3 ใน 8 คน นั่งเป็น ซีอีโอของบริษัทเครือเนชั่นกรุ๊ป จนทำให้การดำเนินกิจการได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

ที่สำคัญคือ ในวันเดียวกับที่ ก.ล.ต.มีคำสั่ง “ขาดคุณสมบัติ” 6 ตุลาคม 2559 ศาลแพ่งจังหวัดพระโขนง ก็ได้มีคำพิพากษา ตัดสินว่ากรรมการทั้ง 8 ไม่ได้ทำผิดและไม่มีเหตุผลต้องออกจากการเป็นกรรมการ

เมื่อพิจารณาคำประกาศของ ก.ล.ต. ก็ยิ่งต้องบอกว่า “เซอร์ไพรส์” ที่เกิดขึ้นกับเนชั่นกรุ๊ป อยู่บนพื้นฐานของการดำเนินการตรวจสอบที่ “ไม่ปกติ” ของ ก.ล.ต. ในฐานะ ผู้คุมกฎของตลาดทุน

เหล่านี้ คือ 6 เรื่องที่ “ไม่ปกติ” ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต.ควรมีคำตอบ

1. “ไม่ปกติ” เพราะไม่เคยปรากฏมาก่อนที่ ก.ล.ต. แบล็คลิสต์ ผู้ที่ไม่ได้ถูกกล่าวโทษ
คำประกาศแบล็คลิสต์ 8 กรรมการเนชั่นกรุ๊ป ครั้งนี้ ต้องถือว่า “ไม่ปกติ” เพราะกรณีแจ้งขาดคุณสมบัติการเป็นบริษัทจดทะเบียน จะเกิดขึ้นพร้อมกับการกล่าวโทษ ซึ่งกรณีของเนชั่นกรุ๊ป ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบข้อร้องเรียน ในประเด็นลิดรอนสิทธิ์ผู้ถือหุ้นบางส่วนไม่ให้เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น โดยมีข้อสรุปชัดเจนไปเมื่อ ธันวาคม 2558 ว่า เป็นความผิดของนายณิทธิมน หัสดินทร ณ อยุธยา ประธานผู้มีอำนาจสั่งการในการประชุมผู้ถือหุ้นเพียงคนเดียว ซึ่งสอดรับกับการพิจารณาของศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2558 ในคดีที่มีเหตุเดียวกัน

แต่เหตุใด เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2559 สำนักงาน ก.ล.ต. จึงย้อนกลับมาประกาศ “ขาดคุณสมบัติ” ต่อ 8 กรรมการ ที่ก่อนหน้านี้ ก.ล.ต.มีข้อยุติไปแล้วว่า ไม่มีความผิด

ทั้งนี้ ในประกาศของ ก.ล.ต. ก็ยอมรับไว้ว่า “กรณีข้างต้นเป็นการดำเนินการกับผู้ที่ ก.ล.ต. มิได้กล่าวโทษโดยตรง”

หากย้อนไปดู แนวทางปฏิบัติในการประกาศขาดคุณสมบัติ ของ ก.ล.ต.ไม่เคยมีครั้งใดที่เกิดโดย
“มิได้กล่าวโทษโดยตรง”

อาจบอกได้ว่า 8 กรรมการเนชั่นกรุ๊ปเป็น กรณีแรกที่ถูกประกาศขาดคุณสมบัติ โดยใช้เหตุผลที่นอกเหนือกระบวนการภายในของ ก.ล.ต.มาดำเนินการ

2.“ไม่ปกติ” เพราะใช้อำนาจ ตีความกฎหมาย “ครอบจักรวาล”
นอกจากจะเป็นกรณีแรกที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศขาดคุณสมบัติ กับผู้ที่ ก.ล.ต. ไม่ได้กล่าวโทษโดยตรง การประกาศปลด 8 กรรมการเนชั่นกรุ๊ป ต้องถือเป็นกรณีแรกที่ ก.ล.ต. บังคับใช้กฎหมาย โดยอ้างอิง ว่าเมื่ออัยการ ส่งฟ้องและศาลรับฟ้องแล้ว ถือว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง “ขาดคุณสมบัติ” ในการเป็นผู้บริหาร บริษัทจดทะเบียน

การใช้อำนาจครั้งนี้ ก.ล.ต.ระบุไว้ว่า เมื่ออัยการส่งฟ้องบอร์ดของเนชั่นกรุ๊ป โดยรวบรวมพยานหลักฐานจากการดำเนินการ ของ ก.ล.ต.ในการกล่าวโทษนายณิทธิมน หัสดินทร ณ อยุธยา ประธานกรรมการ NMG ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมขณะนั้นเพียงคนเดียว แต่บอร์ดของเนชั่นกรุ๊ป อีก 8 คน ก็ต้องถูกย้อนกลับมาประกาศขาดคุณสมบัติด้วย

นักกฎหมายจำนวนไม่น้อย งุนงงต่อแนวทางนี้ และ ตั้งคำถามว่าเป็นความพยายาม “ตีความ” แบบผิดปกติ ของ ก.ล.ต. หรือไม่

ทั้งนี้ ก.ล.ต.ยึดแนวทางของ ประกาศ กจ.8/2553 ประกาศผู้บริหารต้องไม่มีลักษณะขาดความไว้วางใจ กลุ่มที่ 1 ที่กำหนดบุคคลต้องห้ามไว้ว่า

“1.)เป็นบุคคลล้มละลาย 2)เป็นคนไร้ความสามารถ หรือไร้ความสามารถ และ 3) อยู่ระหว่างการกล่าวโทษของสำนักงาน หรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี อันเนื่องมาจากสำนักงานกล่าวโทษ ..."
ประเด็นนี้เอง ที่ทำให้ต้องกังขาถึงการ “ตีความ”

กรรมการทั้ง 8 ของเนชั่นกรุ๊ป ไม่ใช่คนที่เคยถูก ก.ล.ต. กล่าวโทษแน่ๆ

กรรมการทั้ง 8 ได้ “ถูกดำเนินคดี” แล้วหรือยัง ในเมื่อ ณ ขณะนี้ กระบวนการทางกฎหมาย ยังไม่สิ้นสุด แต่อยู่ในชั้นศาล โดยอัยการส่งฟ้อง และศาลรับฟ้องเท่านั้น ยังไม่มีคำพิพากษาใดๆ หรือตัดสิน ถูก ผิด ใดๆ ในคดีที่เกี่ยวพันกัน ต่างกับศาลแพ่ง ซึ่งมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว
คำถามก็คือ ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีประเด็นทางกฎหมายและอยู่ในชั้นศาล จะถือว่า “ขาดคุณสมบัติ” ในความเห็นของ ก.ล.ต.หรือไม่

ข้อเท็จจริงก็คือ นี่คือ “ครั้งแรก” ของ ก.ล.ต. ในการประกาศขาดคุณสมบัติของผู้บริหาร โดยอ้างอิงการส่งฟ้องของอัยการ ต่อศาลอาญา

ไม่เช่นนั้น ป่านนี้คงมีผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนครึ่งตลาด ที่ไม่มีสิทธินั่งบริหารอีกต่อไป

นอกจากนี้ กระบวนในชั้นศาล มีผลต่อคำตัดสินของ ก.ล.ต.เป็นปกติ เมื่อศาลแพ่งมีคำพิพากษาว่า กรรมการทั้ง 8 คนไม่ได้ทำผิด และไม่มีเหตุผลต้องออกจากการเป็นกรรมการ หลังจากที่ได้ไต่สวน ทั้งโจทก์ และ จำเลยรอบด้านแล้ว คำตัดสินนี้ก็น่าจะมีผลต่อ ก.ล.ต. ไม่ต่ำไปกว่า คำฟ้องของอัยการ ซึ่งเป็นเพียงการอ้างคำกล่าวหาของฝ่ายโจทก์เป็นหลัก

หาก ก.ล.ต. อ้างว่าทำหน้าที่ด้วยความ รอบคอบ ยุติธรรมไฉนจึงยึดเอาคำฟ้องของอัยการเพื่อประหัตประหารกรรมการทั้ง 8 ได้?

การดำเนินการของ ก.ล.ต. โดยตีความกฎหมายแบบครอบจักรวาล ต่อ กรณี แบล็คลิสต์ 8 กรรมการเนชั่น จึงอยู่ในข่าย “ไม่ปกติ” อย่างชัดเจน

3.“ไม่ปกติ” ถึงขั้นที่ต้องมี“คนนอก” ก.ล.ต. เข้าร่วมตัดสินใจ
เรื่องราวที่ “ไม่ปกติ” ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เชื่อได้ว่า แม้แต่ผู้กระทำการอย่าง ก.ล.ต.ก็รับรู้ ว่า นี่หาใช่แนวทางปฏิบัติอย่างสามัญ ไม่เช่นนั้นในคำประกาศของ ก.ล.ต.คงไม่สำทับไว้ว่า

“กรณีข้างต้นเป็นการดำเนินการกับผู้ที่ ก.ล.ต. มิได้กล่าวโทษโดยตรง และเป็นผลสืบเนื่องจากการสั่งฟ้องคดีโดยพนักงานอัยการ ก.ล.ต. จึงต้องใช้เวลาในการประสานงานกับสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร รวมทั้งหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน และเพียงพอต่อการพิจารณาใช้อำนาจตามกฎหมาย”

บ่งชี้ ว่าการดำเนินการของ ก.ล.ต.ต่อการประกาศขาดคุณสมบัติ 8 กรรมการเนชั่นกรุ๊ป เกิดขึ้น โดยการดำเนินการที่นอกเหนือจากการดำเนินการปกติ ถึงขั้นว่า จะต้องมี “ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย” เข้ามาเกี่ยวข้อง

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต.ต่อกรณีนี้ ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ ให้กับการควบคุมดูแลบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุน ไปแล้ว

ผู้บริหารรายใดที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล ใครจะรู้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้ อาจเกิดขึ้นกับตัวเอง จนทำให้ธุรกิจต้องเผชิญความสุ่มเสี่ยงที่จะไร้หางเสือ จากการพิจารณาความผิดแบบ “ยกบอร์ด” โดยขาดความเป็นธรรม

4.“ไม่ปกติ” เพราะ คำตัดสินของ ก.ล.ต. มีน้ำหนักน้อยกว่า “คำฟ้องอัยการ”
แม้ว่าอัยการจะมีความเห็น สมควรส่งฟ้องต่อศาล ในคดีที่ผู้ถือหุ้นบริษัทนิวส์ เน็ตเวิร์คบางส่วนถูกกีดกันจากการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น

แต่ขั้นตอนนี้ยังห่างไกลคำว่า “คำพิพากษา” ของศาลในการชี้ถูก-ชี้ผิด เพราะเป็นเพียงแค่กระบวนการเริ่มต้นในชั้นศาลเท่านั้น

แต่ขณะนี้ ตำรวจตลาดทุน อย่าง ก.ล.ต.กลับสรุปไปแล้วว่า แค่ “การส่งฟ้องของอัยการ” มีน้ำหนักมากกว่า การทำงานตรวจสอบของตัวเอง เพราะ ก.ล.ต.มีคำตัดสินในกรณีเดียวกันไปเมื่อ ธันวาคม 2558 ให้นายณิทธิมน หัสดินทร ณ อยุธยาเป็นคนเดียวที่มีความผิด

น่าประหลาดใจยิ่งว่า แม้ศาลจะยังไม่ได้มีคำพิพากษา แต่ ก.ล.ต.ได้ยึดถือว่า การส่งฟ้องของกลุ่มบุคคลที่ถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษ กรณีครอบงำกิจการเนชั่นกรุ๊ป มีน้ำหนักมากพอที่จะ ก.ล.ต.จะหันกลับมาทบทวนคำตรวจสอบของตัวเอง

อาจมีข้อแย้งว่า ผู้ยื่นฟ้องในศาลอาญา ไม่ใช่บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค แต่เป็นผู้ถือหุ้นที่อ้างว่าเกิดความเสียหาย 3 รายคือ “นายศิริธัช โรจนพฤกษ์” ”นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม” และ “นายชาลี ดิษฐลักษณ”

ต้องถามว่า ผู้ถือหุ้นทั้ง 3 ราย เกี่ยวข้องกับ บริษัทนิวส์ เน็ตเวิร์ค ผู้ที่ต้องการครอบงำกิจการเนชั่นกรุ๊ปอย่างไม่ถูกกฎหมาย หรือไม่

2 ใน 3 ของบุคคลที่เป็นโจทก์ มีความเกี่ยวพันที่โจ่งแจ้ง
“ศิริธัช โรจนพฤกษ์”นักลงทุนรายใหญ่ ปัจจุบันมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของนิวส์เน็ตเวิร์ค
“สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม” ปรากฏเป็นผู้ถือหุ้น และผู้บริหารที่อยู่ระหว่าง “ดีล” ที่ซื้อขายกิจการ ระหว่าง “ทีนิวส์” และ “บริษัท นิวส์ หรือ SLC” จิ๊กซอว์ตัวสำคัญของ “แผนใหญ่” เทคโอเวอร์เนชั่นในขณะนั้น

2 ใน 3 ของโจทก์ที่เกี่ยวพันลึกซึ้ง กับ นิวส์ เน็ตเวิร์ค บุคคลที่ ก.ล.ต. กล่าวโทษ บ่งบอกได้ว่าวันนี้ระดับความเชื่อมั่นของ ก.ล.ต.ที่มีต่อกลกไกตรวจสอบของตัวเอง “ต่ำ” อย่างน่าประหลาดใจ

5.“ไม่ปกติ” เพราะก.ล.ต.ใช้อำนาจรวบรัด ไม่เป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา
สถานการณ์ที่ผู้คุมกฎจะมีสมมติฐานว่าตนทำพลาด หลังอัยการส่งฟ้องในคดีที่ตัวเองไม่ได้กล่าวโทษ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น เพราะอาจกังขาว่ากระบวนการตรวจสอบของตัวเองมีข้อผิดพลาด
กรณีที่อัยการ ส่งฟ้อง “8 กรรมการเนชั่นกรุ๊ป”ต่อศาลอาญา ก็อาจทำให้ผู้คุมกฎคิดคำนึงเรื่องนี้ได้
ยิ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ถ้า ก.ล.ต.จะขอทบทวนการตรวจสอบ ด้วยการเรียกสอบผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ซักถาม หาพยาน ดูหลักฐานเอกสารอีกครั้ง

แต่โอกาสใช้สิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นกับ 8 กรรมการเนชั่นกรุ๊ป ในช่วงเกือบ 2 เดือน นับจากวันที่ อัยการศาลอาญาส่งฟ้อง เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2559 จนถึง วันประกาศิตของ ก.ล.ต. 6 ตุลาคม 2559

ตลอดเวลาเกือบ 2 เดือน กรรมการทั้ง 8 ไม่เคยได้รับการเรียกหาใดๆ จาก ก.ล.ต. ถ้าพิจารณาจาก คำสั่งของ ก.ล.ต.ที่ระบุว่า ได้ปรึกษานักกฎหมายอย่างรอบคอบ แสดงว่า ก.ล.ต.ใช้เวลาพิจารณาในเรื่องนี้ไม่น้อย และมีผู้เกี่ยวข้องมากกว่า “คนใน” สำนักงาน ก.ล.ต.เอง

แต่ทำไม ก.ล.ต. จึงไม่มีเวลาให้กับ มาตรฐานการตรวจสอบ “ขั้นพื้นฐาน” โดยเปิดโอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง ตาม “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ที่ผู้ตรวจสอบทุกคนพึงทำ

ความ “ไม่ปกติ” ข้อนี้ คือ หัวใจก็ว่าได้ เพราะระดับตำรวจใหญ่อย่าง ก.ล.ต. ไม่ได้เดินตามมาตรฐานพื้นฐานแล้ว บริษัทจดทะเบียนจะหวังใครเป็นที่พึ่ง

การตรวจสอบความผิดปกติในการซื้อขายหลักทรัพย์ของ ก.ล.ต. มักถูกบอกกล่าวว่า ต้องใช้ความรอบคอบ อาจใช้เวลาหลายๆ ปีกว่าจะสามารถกล่าวโทษบุคคลใด บุคคลหนึ่งได้

แม้แต่นักลงทุนรายใหญ่ ชื่อกระฉ่อน มีชื่อเสียงด้านลบในการสร้างราคาหุ้น ก็ยังมีโอกาสได้ชี้แจงต่อ ก.ล.ต. ก่อนที่จะมีคำตัดสิน “กล่าวโทษ”

แต่เหตุใด 8 กรรมการเนชั่นกรุ๊ป จึงไม่ได้รับแม้กระทั่ง “สิทธิขั้นพื้นฐาน”

นี่คือเรื่อง “ไม่ปกติ” ใช่หรือไม่ สาธารณชนพึงพิจารณา

6.“ไม่ปกติ” เพราะ ไทม์ไลน์ใน “เหตุบังเอิญ”
เรื่อง “ไม่ปกติ” กรณีแบล็คลิสต์ 8 กรรมการเนชั่นกรุ๊ป เรื่องสุดท้ายมาจากความบังเอิญ
ทำไมประกาศ “ขาดคุณสมบัติ” ของ ก.ล.ต. จึงบังเอิญเป็นวันเดียวกับคำพิพากษาของศาลพระโขนง 6 ตุลาคม 2559

เป็นเหตุบังเอิญจริงหรือ ในเมื่อศาลกำหนดวันอ่านคำพิพากษาไว้อยู่แล้ว

ขณะที่ ก.ล.ต.มีเวลากว่า 50 วัน นับจากที่อัยการส่งฟ้องคดีอาญา เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2559 แต่กลับเลือกประกาศในวันที่ 6 ตุลาคม

ความบังเอิญนี้ ก.ล.ต.มีเป้าประสงค์ใดกันแน่ เป็นเรื่องต้องขบคิดวิกฤต ก.ล.ต. = วิกฤต ตลาดทุน

ประกาศ “ขาดคุณสมบัติ” หรือ แบล็คลิสต์ กรรมการทั้ง 8 คนของเนชั่น กรุ๊ป ด้วยวิถี และแบบแผนที่ “ไม่ปกติ” ครั้งนี้ บอกเราว่า ก.ล.ต.กำลังพา ตลาดทุนไทย เดินหน้าเข้าสู่ “แดนสนธยา”

เมื่อการใช้กลไก และ อำนาจศักดิ์สิทธิ์ ของ ผู้คุมกฎ ก้าวล่วงเส้นบางๆ ที่เรียกว่า “ความยุติธรรม”
“ความไม่ปกติ” ในการสั่งแบล็คลิสต์ 8 ผู้บริหารเนชั่นกรุ๊ป ไม่ใช่เรื่องระหว่าง กรรมการเนชั่นกรุ๊ป กับ ก.ล.ต.เท่านั้น เพราะกรณีนี้สะท้อนว่า ในเขตแดนตลาดทุน อาจมีเรื่องที่ “ไม่ปกติ” เกิดขึ้นกับใครก็ได้
บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าทางกฎหมาย

คงต้องคิดแล้ว คิดอีกว่า กลไกของ “เสาหลักตลาดทุน” จะมีบทบาทในการกำกับดูแล ความยุติธรรม ความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น หรือ จะส่งผลตรงข้ามบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ยังจะสามารถ “วางใจ” ก.ล.ต.ได้อีกหรือ นี่คือคำถามที่รอพิสูจน์

ไม่ใช่แค่ 45 ปีแห่งความน่าเชื่อถือของ เนชั่นกรุ๊ป เท่านั้น ที่ถูกทำลายลงข้ามคืน สำหรับ ก.ล.ต.แล้ว 25 ปี แห่งการดำรงไว้ซึ่ง “เสาหลัก” ตลาดทุน ก็อาจพังทลายลงได้เช่นกัน