‘ตระกูลดัง’รวย ดันบ.ลูกระดมทุนเพิ่มมูลค่า

‘ตระกูลดัง’รวย ดันบ.ลูกระดมทุนเพิ่มมูลค่า

กาารนำ "บริษัทลูก" เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการ "สร้างมูลค่าเพิ่ม" ให้กับบริษัทแม่และบริษัทลูก

จากต้นปีที่ผ่านมา ความสนใจในการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า การขายหุ้นไอพีโอ ยังคงเป็นหนึ่งในช่องทางระดมทุนที่หลายบริษัทเลือกใช้ และการที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดดัชนีเพิ่มขึ้นยืนเหนือระดับ 1,500 จุดได้ จึงน่าจะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญ

หุ้นไอพีโอที่เข้ามาระดมทุนในช่วงปีนี้ หลายบริษัทเป็นบริษัทลูกของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว อย่างบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) ของตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ บริษัทบ้านปู เพาเวอร์ (BPP) ของตระกูลว่องกุศลกิจ เตรียมจะเข้าระดมทุนในช่วงปลายเดือน ต.ค. ถึงกลางเดือน พ.ย. นี้ โดยเป็นการระดมทุนในระดับสูงกว่าหมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกัน บริษัทดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ซึ่งเป็ฯของ สมยศ อนันตประยูร ก็เตรียมจะเข้าระดมทุนช่วงต้นปี 2560 ส่วนก่อนหน้านี้ก็มีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของตระกูลพานิชชีวะ อย่าง บริษัทชีวาทัย (CHEWA) เข้าระดมทุนไปแล้ว 419 ล้านบาท

นอกจากตระกูลต่างๆ ที่เลือกจะใช้ตลาดทุนต่อยอดธุรกิจแล้ว หน่วยงานภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ก็เป็นผู้ถือหุ้นอีกกลุ่มหนึ่งที่เลือกจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียน อย่างบริษัท บีซีพีจี (BCPG) บริษัทลูกของบริษัทบางจากปิโตรเลียม (BCP) ซึ่งมีสำนักงานประกันสังคม กระทรวงการคลัง และกองทุนวายุภักษ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็เข้ามาระดมทุนไปแล้วก่อนหน้านี้ 5,900 ล้านบาท

นอกจากนี้ก็ยังมีบริษัทที่จ่อคิวอยู่อย่าง บริษัทยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ (UU) บริษัทลูกของบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยการประปาส่วนภูมิภาค และบริษัท ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ก็เตรียมจะเข้าระดมทุนในช่วงต้นปีหน้า

สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากการแยกบริษัทลูกเข้าจดทะเบียน คือการดำเนินงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และได้รับเงินระดมทุนเข้ามาต่อยอดธุรกิจ นอกจากนี้ จะช่วยให้การวิเคราะห์มูลค่าหุ้นของทั้งบริษัทลูกและบริษัทแม่สะท้อนตามความเป็นจริง รวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูลให้กับผู้ถือหุ้นทั่วไปได้รับรู้

เผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการเงินทุนบุคคล บล.กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โดยหลักแล้วการที่บริษัทแม่ดันบริษัทลูกเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ มักเป็นความจำเป็นในเชิงธุรกิจที่อาจจะต้องแยกธุรกิจที่ไม่เหมือนกันให้มีความชัดเจนเมื่อเดินไปถึงจุดหนึ่ง และกำลังต้องการเงินระดมทุน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
และในอีกมุมหนึ่ง การนำบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนจะช่วยให้มูลค่าที่แท้จริงสะท้อนออกมา รวมถึงการสะท้อนมูลค่าในหุ้นแม่เองด้วย

“ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งของการนำบริษัทเข้าระดมทุนคือ การทำให้บริษัทลูกสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในการระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจ ส่วนมูลค่าหุ้นที่สะท้อนออกมาก็เป็นผลดีอีกอย่างหนึ่งที่ตามมา แต่ก็สามารถเป็นดาบ 2 คม ได้เช่นกัน เพราะหากบริษัทลูกไม่ดีจริง ราคาหุ้นแม่ก็อาจจะฝืดได้เช่นกัน”

สำหรับมูลค่าหุ้นที่จะสะท้อนออกมานี้ ในส่วนของหุ้นแม่อาจจะได้ส่วนแบ่งกำไรที่มากขึ้น หลังจากที่บริษัทมีเงินลงทุนมากขึ้นเพื่อใช้ขยายธุรกิจ ขณะเดียวกันผู้ลงทุนคงจะสามารถตีมูลค่าสินทรัพย์ต่างๆ ให้เป็นไปตามมูลค่าที่แท้จริงได้