ธปท.สั่งแบงก์สำรอง‘บัตรเอทีเอ็ม’ให้เพียงพอ

ธปท.สั่งแบงก์สำรอง‘บัตรเอทีเอ็ม’ให้เพียงพอ

“แบงก์ชาติ” กำชับสถาบันการเงิน เตรียมบัตรเอทีเอ็ม-เดบิต ให้เพียงพอความต้องการของลูกค้า หลังมีข้อร้องเรียนจากลูกค้าจำนวนมาก

นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ลงนามในหนังสือเวียนที่ส่งถึงธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทยทุกแห่ง โดยขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มปริมาณสำรองบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตชนิดธรรมดาให้มีความเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า

ทั้งนี้สืบเนื่องจาก ธปท. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากลูกค้าของธนาคารพาณิชย์เกี่ยวกับการทำบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต ในลักษณะของการถูกบังคับให้ทำบัตรประเภทที่มีบริการอื่นๆ เสริม โดยพนักงงานธนาคารพาณิชย์อ้างว่าบัตรธรรมดาหมดและต้องใช้เวลารอนาน ดังนั้นลูกค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้บัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตจึงต้องทำบัตรแบบที่มีบริการอื่นเสริม ทำให้ภาระต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีสูงกว่าบัตรธรรมดา

ธปท. ได้สำรวจปริมาณการสำรองบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตประเภทต่างๆ พบว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีการสำรองบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตธรรมดาไว้ที่สาขาในปริมาณที่น้อยกว่าบัตรประเภทที่มีบริการอื่นเสริม ทำให้ลูกค้าไม่สามารถทำบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตตามชนิดที่ต้องการได้

ดังนั้นเพื่อให้ลูกค้าได้รับสิทธิในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ตามความจำเป็นซึ่งเป็นไปตามสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค ตามแนวนโยบายเรื่องการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 1 ต.ค.2556 แนวนโยบายเรื่องการกำกับดูแลการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 21 พ.ย.2555 และ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2) พ.ศ.2541 ที่ได้บัญญัติสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไว้ 5 ประการดังนี้

1.สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ
2.สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ
3.สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ
4.สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา
5.สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย

ธปท.จึงขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มปริมาณสำรองบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตชนิดธรรมดาให้มีความเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า พร้อมอธิบายให้ลูกค้าเข้าในบริการบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตประเภทต่างๆ อย่างถ่องแท้ เพื่อประกอบการตัดสินใจ และเป็นไปตามสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค

ทั้งนี้ขอให้หน่วยงานด้านการกำกับการปฎิบัติตามกฎเกณฑ์และหน่วยงานตรวจสอบภายในของธนาคารพาณิชย์มีส่วนร่วมในการกำกับดูแลและประเมินการปฎิบัติตามแนวปฎิบัติดังกล่าว