ปปท.เดินหน้าไต่สวน 853 สำนวนคดี'จำนำข้าว'

ปปท.เดินหน้าไต่สวน 853 สำนวนคดี'จำนำข้าว'

ปปท.เดินหน้าไต่สวน 853 สำนวนคดี“จำนำข้าว” ภายในเดือนนี้ พร้อมเรียกสอบเจ้าหน้าที่ 3 องค์กรที่เกี่ยวข้องทั้ง “อ.ต.ก.-อคส.-ธ.ก.ส.”

นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวจากผู้ที่เกี่ยวข้องอีก 80% ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ขององค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) องค์การคลังสินค้า (อคส.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าไปเกี่ยวข้องแล้ว 853 คดี ว่าขั้นตอนการตรวจสอบเบื้องต้น ในสัปดาห์หน้า ป.ป.ท.จะพิจารณาสั่งไต่สวนคดีนี้ จากนั้นเมื่อคณะกรรมการป.ป.ท.สั่งไต่สวนแล้ว จะต้องเชิญคณะอนุกรรมการเข้ามาพูดคุยหารือ เพื่อให้การทำงานสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ขณะนี้คณะทำงานกำลังจัดทำคู่มือในการทำงาน เพราะแม้คดีโครงการรับจำนำข้าวเป็นเรื่องเดียวก็จริง แต่มีหลายคดีที่มีรายละเอียดแตกต่างกัน จึงต้องพูดคุยเพื่อวางแผนการทำงานก่อน อย่างไรก็ตามจะสามารถสั่งไต่สวนคดีได้ 500-700 คดีในสัปดาห์หน้า และขอยืนยันว่าพยายามจะทำคดีทั้ง 853 คดีในชั้นไต่สวนให้เสร็จทันภายในเดือน ต.ค.นี้

ถก“คลัง-พาณิชย์”ตามค่าเสียหาย80%

โดยการสอบสวนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ คดีอาญา และคดีแพ่ง โดยการดำเนินคดีแพ่ง จะมีศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เป็นหน่วยงานหลัก พิจารณาความเสียหาย 143,000 ล้านบาท หรือ 80% ของความเสียหายที่คณะกรรมการพิจารณารับผิดทางแพ่งสรุปไว้ โดยหลังจากนี้จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยในการบริหารจัดการคดี และรายละเอียดของแต่ละคดีส่วนใดที่เกี่ยวข้องกันก็จะดำเนินการร่วมกัน ขณะนี้ ป.ป.ท.กำลังรอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มอบหมายให้ ป.ป.ท.และ ศอตช.ดำเนินการในส่วนคดีแพ่ง ซึ่ง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สั่งการให้ ป.ป.ท.เตรียมข้อมูลให้พร้อมที่จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง

จำแนกข้าว3ส่วนในการพิจารณาคดี

ส่วนการดำเนินคดีอาญา 853 คดี จะปรับการทำสำนวนใหม่เพื่อลดขั้นตอน โดยถ้าคดีใดมีลักษณะข้อมูลคล้ายกันก็จะสอบสวนครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องพิจารณาในคดีข้าวมี 3 ประเด็นคือ 1.ข้าวผิดประเภท 2.ข้าวเสื่อมคุณภาพ และ 3.ข้าวที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานและจะเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ท.เพื่อพิจารณาไต่สวนคดีในสัปดาห์หน้า และหากสั่งการไต่สวนจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 6 เดือน และส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

“ใน 800 กว่าคดี จะมีรายละเอียดตามแบบที่ว่า แต่ขั้นตอนอื่นๆ จะทำเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นเราจึงไปลดขั้นตอนตรงนั้น ขณะที่ ศอตช. ก็จะดูแลในเรื่องของ 80% หรือคดีแพ่ง แต่ก็ไม่ได้ลงมาในคดี เข้ามาช่วยในเรื่องของการบริหารจัดการและบูรณาการ และพอผลสรุปออกมาทั้งหมดสุดท้ายก็เป็นเรื่องเดียวกัน ฉะนั้นวันที่เสร็จตรงหางจะมาพันกันหรือไม่ ก็ต้องดูข้อเท็จจริง”เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าว

อตก.พร้อมเข้าชี้แจงข้อมูลทุกด้าน

ด้านนายกมลวิศว์ แก้วแฝก ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา เตรียมข้อมูลรายละเอียดของโครงการเพื่อชี้แจงรายละเอียดต่อหน่วยงานภาครัฐตามการชี้มูลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ชี้มูล ซึ่งการดำเนินโครงการในช่วงที่ผ่านมา อตก.มีหน้าที่รับจำนำเพื่อจัดเก็บ และระบายข้าวตามนโยบายรัฐ มีการบันทึกการเข้าออกของเจ้าหน้าที่ในทุกโกดัง ข้าวในโกดังมีความเสียหายน้อยเพราะอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้อย ในขณะที่อตก. มีรายได้จากค่าบริหารจัดการตามที่รัฐบาลกำหนดให้ และในช่วงที่ผ่านมาไม่มีปัญหาในการดำเนินการแต่อย่างใด

ดังนั้น ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท. )เชิญเจ้าหน้าที่ของอตก. ไปให้ข้อมูลนั้นจึงพร้อมให้ความร่วมมือในทุกด้าน

รอพิจารณาเชื่อมโยงบอร์ดกขช.

สำหรับการหาตัวผู้ชดใช้ค่าความเสียหายจากโครงการจำนำข้าวอีก 80% ที่นอกเหนือจากในส่วนของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะมีคนที่เกี่ยวข้อง 2 กลุ่ม คือ ฝ่ายปฏิบัติ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ ที่ป.ป.ท. ตั้งเป็นคดีแล้ว 853 คดี ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ของ3 องค์กร และในส่วนของเอกชนที่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงสี

โดยพฤติกรรมของโรงสีคือ ไม่มีข้าวในโกดัง แต่แจ้งว่ามีข้าว หรือการซื้อขายโดยรับ–จ่ายเงินไม่ถูกต้อง เป็นข้อมูลการตรวจสอบมาจากคณะอนุกรรมการตรวจสอบที่มี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีการสอบเพิ่มเติมมาเรื่อยๆ จนมีคดีครอบคลุม 33 จังหวัด จังหวัดที่มีคดีมากสุดคือกำแพงเพชร 100 คดี และนครสวรรค์ 200 คดี จะต้องดำเนินการทางคดีอาญาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าในส่วนคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ทั้ง 24 คน กำลังมีการพิจารณาว่าเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบค่าเสียหายหรือไม่ และใครจะต้องรับผิด ไม่ได้เหมารวมทั้งหมด ซึ่ง กขช. มีการเข้า-ออกตามวาระการดำรงตำแหน่ง บางรายเกษียณอายุราชการและพ้นหน้าที่ไปแล้ว และมีการแต่งตั้งบางรายเข้ามาใหม่