แห่ร่วม 'อุ้มพระดำน้ำ' ขณะฝนเทกระหน่ำเมืองเพชรบูรณ์

แห่ร่วม 'อุ้มพระดำน้ำ' ขณะฝนเทกระหน่ำเมืองเพชรบูรณ์

พิธีกรรม "อุ้มพระดำน้ำ" เมืองเพชรบูรณ์ ฝนเทกระหน่ำ-ฟ้ามืดมิด ขณะที่ปชช.แห่ร่วมคับคั่ง

งานประกอบพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ พิธีอุ้มพระพุทธมหาธรรมราชาดำน้ำ ในงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำและการแข่งขันเรือยาวหนึ่งเดียวในโลก ของจังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปี 2559

โดยพ่อเมืองเพชรบูรณ์ป้ายแดง นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผวจ.เพชรบูรณ์ จัดขึ้นเป็นปีพิเศษเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์

ในปีนี้ได้รับเกียรติจาก พล.อ.ธนศักดิ์ ปฎิมาปกร รองนายกรัฐมนตรี และนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เดินทางมาร่วมงานและร่วมชมพิธีในครั้งนี้ ท่ามกลางประชาชน นักท่องเที่ยว สื่อสารมวลชนในพื้นที่และภูมิภาคจากทั่วประเทศให้ความสนใจมาร่วมพิธีกันเป็นจำนวนมาก ณ บริเวณท่าน้ำลำน้ำป่าสักวัดโบสถ์ชนะมาร อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์หลังจากทำพิธีเสร็จฝนได้ตกลงมาอย่างหนักนท้องฟ้ามืดมิด

สำหรับประเพณี “อุ้มพระดำน้ำ” เป็นประเพณีที่แปลกประหลาด มีเกิดขึ้นที่ จ.เพชรบูรณ์ เพียงแห่งเดียว นอกจากมีเรื่องราวเชิงอิทธิปาฏิหาริย์เข้าไปผูกพันแล้ว ยังนับเป็น “มรดกทางวัฒนธรรม” ที่แฝงไว้ด้วย “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ซึ่งบรรพบุรุษนำความเชื่อและศรัทธาจากชาวบ้านที่มีต่อพุทธศาสนาและองค์พระพุทธมหาธรรมราชา ให้เกิดการดูแลรักษาแม่น้ำลำคลอง

จุดกำเนิดของพิธีกรรม “อุ้มพระดำน้ำ” ประเพณีที่มีตำนานความเชื่อเล่าขานสืบทอดมาว่าสมัยเมื่อราว 400 ปี ที่ผ่านมามีชาวเพชรบูรณ์กลุ่มหนึ่ง ได้ออกหาปลาในแม่น้ำป่าสัก และในวันนั้นได้เกิดเหตุการณ์ประหลาดคือ ตั้งแต่เช้ายันบ่ายไม่มีใครจับปลาได้สักตัวเดียว เลยพากันนั่งปรับทุกข์ริมตลิ่ง ที่บริเวณ “วังมะขามแฟบ” อยู่ทางตอนเหนือของตัวเมืองเพชรบูรณ์ จากนั้นสายน้ำที่ไหลเชี่ยวได้หยุดนิ่ง พร้อมกับมีพรายน้ำค่อย ๆ ผุดขึ้นมา และกลายเป็นวังน้ำวนขนาดใหญ่ รวมทั้งมีพระพุทธรูปองค์หนึ่งลอย ขึ้นมาเหนือน้ำ แสดงอาการดำผุดดำว่ายอย่างน่าอัศจรรย์ ชาวบ้านคนหนึ่งในกลุ่มจึงลงไปอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดไตรภูมิ

จากนั้นในปีต่อมาซึ่งตรงกับ “วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10” พระพุทธรูปองค์นี้ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอย และมีผู้พบอีกครั้งแสดง อาการดำผุดดำว่ายอยู่กลางแม่น้ำป่าสัก บริเวณเดียวกับที่พบครั้งแรก ชาวบ้านจึงร่วมกันอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐาน ณ วัดไตรภูมิ เป็นครั้งที่ 2 พร้อมร่วมกันถวายนามว่า “พระพุทธมหาธรรมราชา” จากนั้นเป็นต้นมา เจ้าเมืองเพชรบูรณ์สมัยนั้น จะต้องอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา ไปประกอบพิธี “อุ้มพระดำน้ำ” เป็นประจำทุกปี ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ณ บริเวณวังมะขามแฟบ สืบทอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน แต่ยังมีข้อกำหนดอีกว่า ผู้ที่จะอุ้มพระดำน้ำได้นั้นจะต้องเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ คนเดียวเท่านั้น เพราะมีตำแหน่งเทียบเท่าเจ้าเมืองสมัย โบราณ จะให้ผู้อื่นกระทำแทนมิได้ ทั้งนี้หลังการประกอบพิธีเชื่อกันว่า องค์พระจะไม่หายไปดำน้ำเอง ฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองจะมีแต่ความสงบสุข

สำหรับ “พระพุทธมหาธรรมราชา” เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะสมัยลพบุรี หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 13 นิ้ว สูง 18 นิ้ว ไม่มีฐาน พุทธลักษณะพระพักตร์กว้าง พระโอษฐ์แบะ พระหนุป้าน พระกรรณยาวย้อยจดถึงพระอังสา พระเศียรทรงชฎาเทริด มีกระบังหน้า ทรงสร้อยพระศอพาหุรัด และรัดประคตเป็นลวดลายงดงาม โดยประวัติการสร้างไม่ปรากฏเด่นชัด มีเพียงการสันนิษฐานว่า ภิกษุแก่กล้าวิทยาคม 2 รูป เป็นผู้สร้างขึ้นสมัยลพบุรี ในช่วงที่ขอมเรืองอำนาจ จนกระทั่งต่อมากรุงสุโขทัยขยายอำนาจ จึงถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน

จนมาถึงยุค “พระยาลิไท” กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์พระร่วง ขณะนั้นเมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งอยู่ในขอบขัณฑสีมาของกรุงสุโขทัย ได้ว่างกษัตริย์ปกครอง จึงดำริให้ “ออกญาศรีเพชรรัตนานัครภิบาล” (นามเดิมว่าเรือง) ไปครองเมือง พร้อมกับมอบ “พระพุทธมหาธรรมราชา” ให้ไปเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง โดยได้กำชับว่าหากแวะที่ใดให้สร้างวัด และนำองค์พระประดิษฐาน ซึ่งการเดินทางสมัยนั้นต้องล่องไปตามลำน้ำต่าง ๆ ใช้ระยะเวลาแรมปีกว่าจะถึงเมืองเพชรบูรณ์ และเมื่อมาถึงมีดำริจะนำ “พระพุทธมหาธรรมราชา” ประดิษฐานวัดมหาธาตุ แต่เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการขัดต่อพระบรมราชโองการ จึงสร้างวัดขึ้นใหม่และตั้งชื่อว่า “วัดไตรภูมิ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติแก่พระร่วงที่ได้พระราชนิพนธ์เรื่องไตรภูมิพระร่วง พร้อมกับนำองค์พระขึ้นประดิษฐาน