เปิดข้อบังคับ 'ประธานศาลฎีกา' วิธีการดําเนินคดีทุจริตฯ

เปิดข้อบังคับ 'ประธานศาลฎีกา' วิธีการดําเนินคดีทุจริตฯ

ประกาศ! ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีการดําเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีการดําเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๕ วรรคสอง มาตรา ๗ วรรคสาม มาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๔๖ วรรคสอง (๗) และมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙ ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีการดําเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
“ศาล” หมายความว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
“องค์คณะผู้พิพากษา” หมายความว่า องค์คณะผู้พิพากษาซึ่งมีอํานาจหน้าที่ในการพิจารณาและวินิจฉัยคําร้องตามมาตรา ๔๕
ข้อ ๔ ในกรณีที่มีความจําเป็นต้องมีวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดในทางธุรการเพื่อให้การปฏิบัติตามข้อบังคับนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้กําหนดวิธีการนั้น
ข้อ ๕ ให้ประธานศาลฎีการักษาการและมีอํานาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติรวมทั้งออกระเบียบ ประกาศ คําสั่ง หรือคําแนะนําเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามข้อบังคับนี้

หมวด ๑ บททั่วไป
ข้อ ๖ การติดต่อระหว่างศาลกับศาลอื่น หรือระหว่างศาลกับคู่ความหรือผู้เกี่ยวข้องในคดีศาลอาจกระทําโดยทางโทรสาร จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นก็ได้
ข้อ ๗ การสืบพยานก่อนฟ้องคดี การไต่สวนมูลฟ้อง หรือการพิจารณาคดีในกรณีที่ศาลอนุญาตให้พยานเบิกความที่ศาลอื่นหรือสถานที่ทําการของทางราชการหรือสถานที่แห่งอื่น โดยจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพ ให้นําข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการสืบพยานคดีอาญาในลักษณะการประชุมทางจอภาพ พ.ศ. ๒๕๕๖ หรือข้อกําหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยแนวทางการนําสืบพยานหลักฐานและการสืบพยานบุคคลที่อยู่นอกศาลโดยระบบการประชุมทางจอภาพ พ.ศ. ๒๕๕๖ แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้


หมวด ๒ การพิจารณา พิพากษาคดีและวิธีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดี
ข้อ ๘ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้อง ให้เจ้าพนักงานคดีตรวจสอบฟ้องในเบื้องต้น หากฟ้องไม่ถูกต้องให้เจ้าพนักงานคดีทํารายงานเสนอศาลเพื่อมีคําสั่งแก้ไขฟ้องให้ถูกต้อง
ข้อ ๙ เมื่อศาลมีคําสั่งประทับฟ้องและจําเลยมาอยู่ต่อหน้าศาล ให้เจ้าพนักงานศาลตรวจสอบบัตรประจําตัวประชาชนหรือเอกสารอื่นใดที่ทางราชการออกให้ซึ่งมีข้อมูลเพียงพอสําหรับตรวจว่าใช่จําเลยหรือไม่ เมื่อศาลเชื่อว่าเป็นจําเลยจริง ให้ดําเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ถ่ายรูปจําเลย เก็บลายพิมพ์นิ้วมือไว้ในสํานวนและฐานข้อมูลของศาล
(๒) ถ่ายสําเนาบัตรประจําตัวประชาชนจําเลย หรือเอกสารอื่นใดที่ทางราชการออกให้เก็บไว้ในสํานวน หรือ
(๓) ดําเนินการอื่นใดเท่าที่จําเป็นและสมควรเพื่อให้มีข้อมูลของจําเลยเพียงพอเก็บไว้ในสํานวน
ข้อ ๑๐ ในคดีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ หากความปรากฏต่อศาลว่ามีการกล่าวหาในเรื่องเดียวกันกับที่โจทก์ยื่นฟ้องต่อหน่วยงานที่มีอํานาจหน้าที่ในการสอบสวนคดีทุจริตและประพฤติมิชอบใดให้ศาลสอบถามไปยังหน่วยงานนั้น และมีอํานาจเรียกรายงานและสํานวนการสอบสวนหรือสํานวนการไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวมาเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลได้ ถ้าศาลเห็นว่าเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างสอบสวนและหากดําเนินคดีต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่การดําเนินการในชั้นสอบสวนอันกระทบต่อความยุติธรรม ศาลอาจสั่งให้รอการไต่สวนมูลฟ้อง หรือการพิจารณาคดีไว้ก่อนได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ ให้คํานึงถึงความล่าช้าในการสอบสวนความสุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งความเดือดร้อนของผู้เสียหายประกอบด้วย
ข้อ ๑๑ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการตรวจพยานหลักฐาน ก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐานศาลอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีดําเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ตรวจสํานวน รวมทั้งสํานวนการสอบสวนและสํานวนคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช.หรือคณะกรรมการ ป.ป.ท. จัดทําสรุปย่อการกระทําความผิดของจําเลยตามฟ้อง รวมทั้งพยานหลักฐานต่างๆที่ปรากฏในสํานวนการสอบสวนและสํานวนคดี
(๒) จัดทําสรุปรายการพยานหลักฐาน โดยระบุพยานหลักฐานที่คู่ความไม่โต้แย้งกันเพื่อความสะดวกในการที่ศาลจะสอบถามคู่ความและให้คู่ความรับข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานนั้นโดยไม่ต้องไต่สวน รวมทั้งสรุปรายละเอียดประเด็นแห่งคดีที่คู่ความยังโต้แย้งกัน จํานวนพยานความเกี่ยวข้องกับประเด็น ความจําเป็นที่ต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าว รวมทั้งจัดเตรียมพยานหลักฐานดังกล่าวก่อนหลังตามที่คู่ความประสงค์จะนําสืบ
(๓) ค้นคว้าข้อกฎหมาย และคําพิพากษาที่เกี่ยวข้องรวมไว้ในสํานวน หรือกระทําการอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๑๒ ในกรณีที่มีเหตุสมควร เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการตรวจและได้มาซึ่งพยานหลักฐาน ศาลอาจมีคําสั่งให้คู่ความส่งพยานหลักฐานเพื่อให้มีการตรวจสอบให้เสร็จสิ้นก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐานก็ได้
ข้อ ๑๓ ในกรณีที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดโดยไม่มีเหตุอันสมควร หากศาลเห็นว่ากรณีมีเหตุจําเป็นต้องสืบพยาน ก็ให้ศาลดําเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยมิให้นําบทบัญญัติในมาตรา ๑๖๖แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับ
ข้อ ๑๔ ในกรณีที่โจทก์ยื่นคําร้องขอถอนฟ้อง ให้ศาลพิจารณาสั่งคําร้องขอถอนฟ้อง โดยคํานึงถึงประโยชน์สาธารณะและความเสียหายที่มีผลกระทบต่อรัฐเป็นสําคัญ ทั้งนี้ ศาลอาจไต่สวน ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคําร้องก็ได้ แต่ถ้าคําร้องนั้นได้ยื่นในภายหลังเมื่อจําเลย ให้การแก้คดีแล้ว ให้ถามจําเลยว่าจะคัดค้านหรือไม่ แล้วให้ศาลจดคําแถลงของจําเลยไว้ ในกรณีที่จําเลยคัดค้านการถอนฟ้อง ให้ศาลยกคําร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย
ข้อ ๑๕ ในการพิจารณาพิพากษาคดี ให้ศาลนํารายงานและสํานวนการสอบสวนหรือสํานวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของโจทก์ มาเป็นหลักในการแสวงหาความจริง แต่ไม่ผูกพันศาลว่าจะต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้น ศาลมีอํานาจแสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ หรือพยานหลักฐานอื่นใดนอกเหนือจากพยานหลักฐานที่คู่ความอ้างอิงได้ตามที่ศาลเห็นสมควร
ข้อ ๑๖ ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือในชั้นพิจารณาคดี หากศาลเห็นว่ามีความจําเป็นเพื่อให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ศาลอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีดําเนินการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานอันเป็นประเด็นแห่งคดี การตรวจสอบกรณีการริบทรัพย์สิน หรือมีหนังสือเรียกให้หน่วยงานหรือบุคคลใดมาให้ข้อมูลหรือจัดส่งพยานหลักฐาน รวมทั้งตรวจสอบข้อเท็จจริงอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่การไต่สวนมูลฟ้อง พิจารณาและพิพากษาคดีในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานคดีอาจแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลที่จําเป็นหรือมีหนังสือเรียกบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาให้ข้อมูลหรือทําหนังสือชี้แจง จัดส่งเอกสารมาเพื่อประกอบการดําเนินการ แล้วจัดทํารายงานเสนอต่อศาล โดยอาจระบุถึงพยานหลักฐานที่ศาลสมควรเรียกมาสืบเพิ่มเติมตามมาตรา ๒๒ ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลสมควรรับฟังความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาตามมาตรา ๒๖
ข้อ ๑๗ พยานหลักฐานหรือความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญตามรายงานของเจ้าพนักงานคดีตามข้อ ๑๖ ให้ศาลแจ้งให้คู่ความทราบก่อนการสืบพยานนั้นตามสมควร เพื่อให้คู่ความมีโอกาสโต้แย้งพยานหลักฐานดังกล่าวหรือเรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญฝ่ายตนมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมได้

ข้อ ๑๘ ในการสืบพยาน ศาลมีอํานาจให้พยานเข้าเบิกความก่อนหลัง ตามความสําคัญและความสะดวกในการพิจารณาคดี พยานคนใดทราบวันนัดสืบพยานโดยชอบแล้วไม่ไปศาลในวันนัดดังกล่าวและศาลเห็นว่าคําเบิกความของพยานที่ไม่มาศาลคนใดเป็นข้อสําคัญในการวินิจฉัยชี้ขาดคดี ให้ศาลเลื่อนการสืบพยานออกไปและดําเนินการติดตามพยานมาเบิกความหรือให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีตามที่เห็นสมควร
ข้อ ๑๙ ศาลอาจมีคําสั่งให้ถือเอาบันทึกคําเบิกความพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคําเบิกความพยานในชั้นพิจารณา โดยพยานไม่ต้องเบิกความใหม่ทั้งหมด แต่ถ้าจําเลยขออนุญาตถามพยานโดยอ้างเหตุว่าตนไม่ได้มาศาลในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลพึงให้โอกาสแก่จําเลยในการต่อสู้คดี
ข้อ ๒๐ ในการสืบพยานของศาล หากศาลเห็นว่าคดีใดมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลจะมีคําสั่งให้งดการสืบพยานเสียก็ได้
ข้อ ๒๑ ในกรณีที่มีการบันทึกคําพยานโดยใช้วิธีการบันทึกลงในวัสดุ ซึ่งถ่ายทอดออกเป็นภาพหรือเสียงหรือโดยใช้วิธีการอื่นใด ซึ่งคู่ความและพยานอาจตรวจสอบถึงความถูกต้องของบันทึกการเบิกความนั้นได้ ศาลอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีควบคุม และตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของข้อความที่บันทึกตลอดจนการจัดทําสําเนาข้อความดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรหรือสิ่งบันทึกอย่างอื่น
ข้อ ๒๒ ศาลอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีช่วยควบคุมและแนะนําให้คู่ความดําเนินคดีไปตามขั้นตอนของกฎหมาย หากพบว่ามีข้อบกพร่องให้รายงานต่อศาลพร้อมด้วยแนวทางแก้ไขโดยเร็วเพื่อให้ศาลพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร
ข้อ ๒๓ ก่อนศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลอาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควร ซึ่งรวมทั้งการเรียกพยานที่สืบแล้วมาสืบใหม่ด้วยโดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอก็ได้
ข้อ ๒๔ การริบทรัพย์สินในคดีทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หากปรากฏต่อศาลว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินดังกล่าว ให้ศาลแจ้งบุคคลนั้นเพื่อส่งข้อมูลที่จําเป็นประกอบการพิจารณาสั่งคําร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ให้ประกาศคําร้องดังกล่าว ณ ที่ทําการศาล และศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ และประกาศในหนังสือพิมพ์ที่มีจําหน่ายแพร่หลายทั่วไปอย่างน้อยสามวันติดต่อกัน นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ครอบครองหรือมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ดังกล่าวมิใช่ผู้ถูกกล่าวหา ให้ศาลส่งสําเนาประกาศดังกล่าวแก่บุคคลดังกล่าวด้วย

หมวด ๓ อุทธรณ์
ข้อ ๒๕ ในการยื่นอุทธรณ์ของจําเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขัง จําเลยต้องมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลหากจําเลยร้องขอขยายระยะเวลาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาล ให้ระบุถึงเหตุผลความจําเป็นที่ต้องขอขยายระยะเวลาพร้อมแสดงหลักฐานและที่อยู่หรือช่องทางที่สามารถติดต่อกับจําเลยได้ การพิจารณา
คําร้องให้ศาลคํานึงถึงความหนักเบาของโทษที่จําเลยได้รับ พฤติการณ์หรือโอกาสที่จําเลยอาจหลบหนีรวมถึงความสุจริตในการต่อสู้คดีของจําเลยประกอบกันในการแสดงตนของจําเลย ให้เจ้าพนักงานศาลดําเนินการตามข้อ ๙ (๑)

ข้อ ๒๖ ในการยื่นอุทธรณ์ หากจําเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังไม่มาแสดงตน หรือเมื่อครบกําหนดขอขยายระยะเวลาแสดงตนแล้ว จําเลยไม่มาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาล ให้เจ้าพนักงานศาลทํารายงานเจ้าหน้าที่เสนอต่อศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นส่งฟ้องอุทธรณ์ดังกล่าวพร้อมสํานวน รวมทั้งรายงานเจ้าหน้าที่ไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเพื่อพิจารณาสั่งต่อไป

หมวด ๔ ฎีกา
ข้อ ๒๗ ในการยื่นคําร้องขออนุญาตฎีกาของจําเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขัง จําเลยต้องมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาล โดยให้นําหมวด ๓ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลมข้อ ๒๘ คําร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาไว้พิจารณาต้องแสดงถึง
(๑) ปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายที่ขออนุญาตฎีกา และ
(๒) ปัญหาที่ขออนุญาตฎีกานั้นเป็นปัญหาสําคัญดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๖ หรือในข้อบังคับนี้ซึ่งศาลฎีกาควรรับวินิจฉัย
ข้อ ๒๙ ในกรณีที่อัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาของพนักงานอัยการว่ามีเหตุอันควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย ตามมาตรา ๔๖ วรรคสี่ คําร้องตามมาตรา ๔๔ เพียงแสดงว่าอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายได้ลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาของพนักงานอัยการว่ามีเหตุอันควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย
ข้อ ๓๐ ให้ศาลชั้นต้นมีอํานาจตรวจคําร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาไว้พิจารณาและฎีกาและมีคําสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘ หากผู้ฎีกาไม่ปฏิบัติตามคําสั่ง ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคําร้องและฎีกาดังกล่าวพร้อมสํานวนไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่งโดยเร็วต่อไปกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าองค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่าคําสั่งของศาลชั้นต้นถูกต้อง ให้มีคําสั่งไม่รับคําร้องและไม่รับฎีกา หรือถ้าไม่มีคําร้องก็ให้สั่งไม่รับฎีกา
ข้อ ๓๑ ในกรณีที่มีการขอขยายระยะเวลาใดๆ เช่น การยื่นคําร้องหรือฎีกา หากศาลชั้นต้นเห็นสมควรอนุญาตให้ขยาย ให้ศาลชั้นต้นสั่งตามที่เห็นสมควร มิฉะนั้นให้รีบส่งคําร้องขอขยายระยะเวลาพร้อมสํานวนความไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่งโดยเร็วการขอขยายระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง หากจําเลยเป็นผู้ต้องคําพิพากษาให้ประหารชีวิตการอนุญาตให้ขยายระยะเวลาควรคํานึงถึงกําหนดระยะเวลาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๖๒
ข้อ ๓๒ เมื่อศาลชั้นต้นได้รับคําร้องและฎีกาตามข้อ ๒๘ แล้ว ให้รีบส่งสําเนาคําร้องและฎีกานั้นให้คู่ความอีกฝ่ายแล้วส่งคําร้องพร้อมฎีกาและสํานวนความไปยังศาลฎีกาโดยเร็ว ทั้งนี้ ไม่จําต้องรอคําคัดค้านของคู่ความฝ่ายนั้น แต่ในกรณีที่คู่ความอีกฝ่ายได้ยื่นคําร้องและฎีกาด้วย ให้ศาลชั้นต้นดําเนินการเกี่ยวกับคําร้องดังกล่าวให้เสร็จสิ้นเสียก่อนแล้วจึงส่งคําร้องและฎีกาของคู่ความทุกฝ่ายไปยังศาลฎีกาในคราวเดียวกัน
ถ้ามีการยื่นคําคัดค้านภายหลังที่ได้ดําเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ก็ให้ส่งคําคัดค้านนั้นไปยังศาลฎีกาเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัย ในกรณีที่จําเลยต้องคําพิพากษาให้ประหารชีวิต ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคําร้องและฎีกาพร้อมสํานวนคดีไปยังศาลฎีกาในทันที โดยทางไปรษณีย์ด่วนที่สุดหรือวิธีการอื่นที่ได้ผลไม่ช้ากว่านั้น
ข้อ ๓๓ การขอแก้ไขคําร้องหรือฎีกาให้กระทําได้ภายในกําหนดระยะเวลาตามมาตรา ๔๔หรือตามที่ศาลมีคําสั่งให้ขยายออกไป
ข้อ ๓๔ การพิจารณาคําร้องตามมาตรา ๔๕ องค์คณะผู้พิพากษาพึงพิจารณาวินิจฉัยและมีคําสั่งให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้รับสํานวนหรือตามระเบียบของประธานศาลฎีกา
ข้อ ๓๕ ปัญหาสําคัญอื่นตามมาตรา ๔๖ วรรคสอง (๗) ได้แก่ กรณี ดังต่อไปนี้
(๑) คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีความเห็นแย้งในสาระสําคัญ
(๒) คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้วินิจฉัยข้อกฎหมายสําคัญที่ไม่สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับประเทศไทย
ข้อ ๓๖ ในกรณีที่องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่าปัญหาตามคําร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาทั้งหมดหรือบางข้อเป็นปัญหาสําคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ให้มีคําสั่งอนุญาตให้ฎีกาและสั่งรับฎีกาทั้งหมดหรือบางข้อไว้พิจารณาแล้วส่งให้ศาลชั้นต้นอ่านคําสั่งดังกล่าวให้คู่ความฟังจําเลยฎีกาอาจยื่นคําแก้ฎีกาต่อศาลชั้นต้นได้ภายในกําหนดสิบห้าวันนับแต่วันฟังคําสั่งและภายในกําหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่จําเลยฎีกายื่นคําแก้ฎีกาหรือนับแต่ระยะเวลาที่กําหนดไว้สําหรับการยื่นคําแก้ฎีกาได้สิ้นสุดลง ให้ศาลชั้นต้นส่งคําแก้ฎีกาไปยังศาลฎีกาหรือแจ้งให้ทราบว่าไม่มีคําแก้ฎีกาเมื่อศาลฎีกาได้รับคําแก้ฎีกาหรือแจ้งความเช่นว่าแล้ว ให้นําคดีลงสารบบความโดยพลันการขอขยายระยะเวลายื่นคําแก้ฎีกาให้นําความในข้อ ๓๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๓๗ ในกรณีที่องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่าคําร้องมิได้ปฏิบัติตามข้อ ๓๐ หรือปัญหาตามคําร้องทั้งหมดมิใช่ปัญหาสําคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ให้มีคําสั่งยกคําร้องและไม่รับฎีกาโดยแสดงเหตุผลโดยย่อ แล้วส่งสํานวนความคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งให้คู่ความทราบโดยเร็ว

ข้อ ๓๘ ในกรณีที่มีคู่ความหลายฝ่ายต่างยื่นคําร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาไว้พิจารณาให้วินิจฉัยโดยทําเป็นคําสั่งฉบับเดียวกันก็ได้
ข้อ ๓๙ ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะที่พิจารณาสั่งอนุญาตให้ฎีกาคดีใดอาจเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นอีกก็ได้

ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙
วีระพล ตั้งสุวรรณ
ประธานศาลฎีกา