ธปท.ชี้'ส่งออก' หนุนเศรษฐกิจเดือนส.ค.'ฟื้น'

ธปท.ชี้'ส่งออก' หนุนเศรษฐกิจเดือนส.ค.'ฟื้น'

"ธปท." เผยเศรษฐกิจเดือน ส.ค.ดีขึ้นผลจากการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะส่งออกเพิ่มขึ้นหนุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตาม เชื่อไวรัสซิกา ไม่กระทบท่องเที่ยว

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ส.ค.2559 ซึ่งภาพรวมขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่กลับมาขยายตัวดีขึ้น ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ขณะที่การส่งออกสินค้าขยายตัวดีขึ้น ส่งผลให้การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องปรับตัวดีตามไปด้วย

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น แต่ยังกระจุกตัวอยู่ระดับต่ำและกระจุกตัวอยู่ในภาคบริการเป็นหลัก ขณะที่การท่องเที่ยวที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในช่วงก่อนหน้า ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงบ้าง เนื่องจากได้รับผลกระทบชั่วคราวจากเหตุระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีผลต่อนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศและการใช้จ่ายหมวดบริการของคนไทยด้วย

ศก.ไตรมาส 3 อาจไม่ดีเท่าไตรมาส 2

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจเดือน ส.ค.ที่ออกมาดีขึ้น น่าจะเป็นแรงส่งที่ดีของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า แต่ถึงแม้จะดีขึ้นก็ไม่คิดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 3 ขยายตัวได้ดีกว่าช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เนื่องจากไตรมาส 2 มีปัจจัยพิเศษทำให้เศรษฐกิจเติบโตดีกว่าที่ ธปท. ได้คาดการณ์เอาไว้

“เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 เติบโตได้ถึง 3.5% ส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ รวมทั้งการบริโภคที่ปรับดีขึ้นมาก ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจขยายตัวได้ค่อนข้างดี ซึ่งขณะนี้เรายังไม่คิดว่าไตรมาส 3 จะเติบโตได้มากกว่าไตรมาส 2 แต่ถ้าดูตัวเลขเศรษฐกิจช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 3 ก็ต้องบอกว่าแรงส่งทางเศรษฐกิจยังมีอยู่”

ไม่ปรับเพิ่มคาดการณ์ส่งออกทั้งปี

สำหรับตัวเลขการส่งออกของ ธปท.เดือน ส.ค.ขยายตัวที่ 2.7% ในจำนวนนี้ถ้าหักทองคำออกจะขยายตัวที่ 5% ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นทำให้ ธปท. ต้องปรับเปลี่ยนประมาณการการส่งออกในปีนี้แต่อย่างใด

“ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น ถือเป็นกำลังใจ แต่ยังไม่ถึงกับมั่นใจจนทำให้เราปรับเปลี่ยนประมาณการเพิ่ม ส่วนการส่งออก เรายังคงเดิมที่มองว่าปีนี้จะหดตัว 2.5% ซึ่งต้องบอกว่าตัวเลขนี้ตอนที่เราประเมินมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าประมาณการนี้ แต่จากตัวเลขเดือน ส.ค.ที่ออกมาทำให้ความตรงนี้ลดลงไป และมีโอกาสที่จะดีขึ้น แต่เราอยากรอดูตัวเลขต่อไปอีกระยะหนึ่งก่อน”

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนเดือน ส.ค.ถือว่าใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า แต่มีทิศทางดีขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้การลงทุนยังคงกระจุกตัวอยู่ในภาคบริการเป็นสำคัญ เช่น โทรคมนาคม และภาคค้าปลีก ขณะที่การลงทุนในภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่พอสมควร

ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขยายตัว 9.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตามในเดือนนี้ ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวบางส่วนเลื่อนการเดินทางออกไป ทำให้เมื่อปรับฤดูกาลแล้วจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลง 3.1% ซึ่งเป็นการลดลงเกือบทุกกลุ่ม

ไวรัสซิก้าไม่กระทบท่องเที่ยวไทย

นางรุ่ง กล่าวว่า กรณีการพบไวรัสซิกาในประเทศไทยนั้น เชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเชื้อไวรัสตัวนี้ไม่มีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต อาจจะมีบ้างในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์หลีกเลี่ยงการเดินทางมาประเทศไทย

“ไวรัสตัวนี้ไม่ได้รุนแรง และไม่ได้ติดกันง่ายๆ เมื่อเทียบกับโรคซาร์ส จึงไม่คิดว่าจะกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ”

ด้านการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน แต่ชะลอลงจากไตรมาส 2 และเดือนก่อนหน้า ตามการใช้จ่ายในหมวดบริการเป็นสำคัญ เพราะช่วงก่อนหน้านี้มีเทศกาลวันหยุดยาวที่ทำให้การใช้จ่ายในหมวดโรงแรมและภัตตาคารค่อนข้างมาก ประกอบกับในเดือนนี้เหตุระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวไทย

การบริโภคยังไม่ฟื้นตัวไม่เข้มแข็ง

สำหรับปัจจัยสนับสนุนการบริโภคโดยรวมยังไม่เข้มแข็งนัก แม้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้น แต่รายได้ที่แท้จริงของลูกจ้างนอกภาคเกษตรยังทรงตัว และรายได้ครัวเรือนเกษตรกรรมยังจำกัดอยู่ในกลุ่มชาวผลไม้บางกลุ่มที่ราคาผลผลิตปรับสูงขึ้น และพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงก่อนไม่มาก

นางรุ่ง กล่าวว่า เดือน ส.ค.เป็นเดือนที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิ จากการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (ทีดีไอ) ของภาคธุรกิจไทย รวมทั้งการออกไปลงทุนในหลักทรัพย์และเงินตราต่างประเทศของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) เป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตามเงินทุนต่างประเทศยังไหลเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายนานขึ้นของประเทศอุตสาหกรรมหลัก และปัจจัยบวกในประเทศ ได้แก่ ผลร่างรัฐธรรมนูญ และ เศรษฐกิจไตรมาส 2 ดีกว่าคาด

รายงานข่าวจาก ธปท. ระบุว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 / 2559 มีมูลค่าคงค้างรวม 11.23 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าคงค้างอยู่ที่ 10.77 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.66 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.33%