โมบาย-ดิจิทัลอีโคโนมี-ฟินเทค หนุนอีคอมเมิร์ซ 2.52 ล้านล้าน

โมบาย-ดิจิทัลอีโคโนมี-ฟินเทค หนุนอีคอมเมิร์ซ 2.52 ล้านล้าน

สพธอ.เผยผลสำรวจอีคอมเมิร์ซไทยปี 2559 มูลค่าทะลุ 2.52 ล้านล้าน ปัจจัยบวกจากการเติบโตของโมบาย-การพัฒนาเทคโนฯ-นโยบายดิจิทัลอีโคโนมี-ฟินเทค

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เผยภาพรวมอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซประเทศไทยปี 2559 คาดว่าจะเติบโต 12.42% หรือมีมูลค่าสูงถึง 2.52 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นประเภทธุรกิจขายให้ธุรกิจ (บีทูบี) คิดเป็นมูลค่า 1,381,513 ล้านบาท หรือสัดส่วน 54.74% เพิ่มจากปี 2558 ประมาณ 3.50% รองลงมาคือธุรกิจขายให้คอนซูเมอร์(บีทูซี) 729,292 ล้านบาท หรือ 28.89% เพิ่มจากปี 2558 ประมาณ 43% ขณะที่ธุรกิจขายให้ภาครัฐ (บีทูจี) 413,037 ล้านบาท หรือ 16.37% เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ประมาณ 3.21%

อย่างไรก็ดี หากไม่รวมมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างออนไลน์ของหน่วยงานภาครัฐ (e-Auction) จะพบว่าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่ง มูลค่า 731,828 ล้านบาท สัดส่วน 34.55% การให้บริการที่พัก 643,033 ล้านบาท 30.35% การผลิต 343,866 ล้านบาท 16.23%

“อีคอมเมิร์ซกลายเป็นโอกาสเติบโตของผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ ท่ามกลางความซบเซาของตลาดรูปแบบเดิมๆ ทั้งพบว่ามีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่อง”

สำหรับปี 2558 อีคอมเมิร์ซมีมูลค่ากว่า 2.24 ล้านล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 10.41% ส่วนใหญ่เป็นประเภทธุรกิจขายให้ธุรกิจ (บีทูบี) มูลค่า 1.33 ล้านล้านบาท สัดส่วน 59.45% ส่วนธุรกิจขายให้คอนซูเมอร์ (บีทูซี) ประมาณ 5.09 แสนล้านบาท สัดส่วน 22.72% ขณะที่ธุรกิจขายให้ภาครัฐ (บีทูจี) 4 แสนล้านบาท สัดส่วน 17.83%

อุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่ามากที่สุด 3 อันดับแรก ประกอบด้วย การให้บริการที่พัก 559,697 ล้านบาท สัดส่วน 30.21% รองลงมาคือค้าปลีกและค้าส่ง 536,725 ล้านบาท 28.97% การผลิต 428,736 ล้านบาท 23.14%

เมื่อศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลข้างต้นในรายละเอียด พบว่า มูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ซึ่งรวมมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างออนไลน์ของหน่วยงานภาครัฐ มีแนวโน้มการเติบโตแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้อีคอมเมิร์ซยังคงเป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง

นอกจากนี้ มีผู้สนใจลงทุน ค้าขาย รวมถึงใช้บริการจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะมูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบบีทูซี มากกว่านั้นเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลสถิติใน 6 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงค์โปร์ และอินโดนีเซีย พบว่าเชิงมูลค่าในภาพรวมไทยกำลังก้าวเป็นผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซของภูมิภาค แต่ประเมินแบบต่อหัวต่อยังตามหลังสิงคโปร์ และมาเลเซีย

อย่างไรก็ดี ในภาพรวมตลาดถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยหลัก ได้แก่ การเติบโตของโมบาย การพัฒนาทางเทคโนโลยีซึ่งก่อให้เกิดรูปแบบการสื่อสาร เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ปัจจัยด้านนโยบายของภาครัฐที่พยายามขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขยายตลาดอีคอมเมิร์ซสู่อาเซียนและตลาดโลก

ผนวกกับกลไกด้านราคาและการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น รวมถึงปัจจัยด้านรูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว (ฟินเทค) ซึ่งส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าและเป็นไปมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นเอนี่ไอดี พร้อมเพย์ การขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์


กฎหมาย-ภาษีทำสูญบุคลากร
อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการทางกฎหมาย รวมถึงภาษีที่ไม่เอื้อต่อผู้ประกอบการ ส่งผลให้ไทยกำลังสูญเสียบุคลากรให้ประเทศที่ให้ข้อเสนอดีกว่าอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย

จากการสำรวจพบว่าผู้ประกอบการต้องการรัฐเข้ามาสนับสนุนเชิงกลยุทธ์และปรับแก้นโยบายโดยให้สิทธิประโยชน์ เพิ่มแรงจูงใจด้วยการยกเว้นภาษีหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือมีเงินสนับสนุนสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่

นอกจากนี้ มาตรการลดต้นทุน หรือลดหย่อนอากรขาเข้า วัสดุที่จำเป็น รวมถึงยกเว้นหรือลดหย่อนค่าใช้จ่ายเช่นค่าติดตั้งหรือก่อสร้างอาคารต่างๆ นอกจากนั้นมาตรการประกันความเสี่ยงด้านโลจิสติกส์ ธุรกรรมการเงินอิเล็กทรอนิกส์ มีกลไกแก้ไขปัญหาการซื้อขายออนไลน์ คุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงระงับข้อพิพาทโดยไม่ต้องขึ้นศาล

พร้อมระบุว่า ผู้ประกอบการหวังให้โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมทุกพื้นที่ แก้ปัญหาขาดแคลนคนไอที พัฒนาคุณภาพศูนย์ร้องเรียน พร้อมแก้ปัญหาต้นทุนการขนส่งที่ยังสูงอยู่

จากนี้หากการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของภาครัฐมีความต่อเนื่องก็น่าจะเป็นโชคดีของประเทศ แม้มีรอยต่อระหว่างการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลและการเลือกตั้ง ด้วยความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนอุตสาหกรรมก็น่าจะไปต่อได้