'มิตซุย ฟูโดซัง' เดินหน้าลงทุนไทยต่อเนื่อง

'มิตซุย ฟูโดซัง' เดินหน้าลงทุนไทยต่อเนื่อง

"มิตซุย ฟูโดซัง" ยักษ์ใหญ่อสังหาฯ ญี่ปุ่น ลุยลงทุนไทยต่อเนื่อง หลังร่วมทุน "อนันดา" พัฒนาคอนโดแนวรถไฟฟ้า พร้อมต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่

หลังจากกลุ่มมิตซุย ฟูโดซัง บริษัทอสังหาริมริมทรัพย์รายใหญ่ของญี่ปุ่น เข้าชิมลางลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ร่วมกับ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ เมื่อปี 3 ปีที่ผ่านมา ก้าวต่อไปในการรุกธุรกิจอสังหาฯของมิตซุยในไทย เตรียมขยายการลงทุนในไทยมากขึ้น โดยมองหาธุรกิจใหม่ๆ ทั้งโลจิสติกส์ โรงแรม สำนักงาน และเอาท์เล็ตในไทย

นายอะกิฮิโก ฟูนาโอกะ กรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด กล่าวว่า บริษัทจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในไทยมากขึ้น โดยตั้งสำนักงานในไทยภายใต้ชื่อ “มิตซุย ฟูโดซัง เอเชีย แบงคอก” เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลโอกาสการลงทุนต่างๆ อาทิ มูลค่าทางการตลาด ลูกค้า ผู้บริโภค การลงทุน นอกจากนี้ยังเป็นการรองรับแผนขยายการลงทุนในอนาคต

หลังจากการที่กลุ่มมิตซุย ฟูโดซัง ได้เข้ามาร่วมลงทุนกับบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) มากว่า 3 ปี จากการร่วมพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมรวม 12 โครงการ จำนวน 10,092 ยูนิต มูลค่า 57,000 ล้านบาท นับตั้งแต่ปี 2556

โดยลงทุนพัฒนาโครงการไปแล้ว 9 โครงการ มูลค่า 45,000 ล้านบาท และอีก 3 โครงการ มูลค่า 12,000 ล้านบาทเตรียมเปิดขายในไตรมาส 4 ซึ่งปีนี้จะเป็นปีแรกที่เริ่มรับรู้รายได้จากโครงการแรก ได้แก่ ไอดีโอ คิว จุฬา-สามย่าน มูลค่าโครงการ 6,800 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มทยอยโอนในไตรมาส 4 ปีนี้

เปิดแผนลงทุน 8 ประเทศ

ทั้งนี้ แผนการลงทุนของมิตซุยฯ ทั่วโลก ได้วางงบประมาณไว้ 1.83 แสนล้านบาท ตั้งแต่ปี 2558-2560 สำหรับการลงทุนใน 8 ประเทศหลัก ประกอบด้วยสหรัฐ อังกฤษ จีน ไต้หวัน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย แบ่งสัดส่วน เป็นการลงทุนในไทยและในเอเชียราว 20-30% และอีก 70-80% เป็นสหรัฐและอังกฤษ

ในแต่ละประเทศที่เข้าไปลงทุน จะมีโมเดลการลงทุนแตกต่างกัน อย่างในสหรัฐและอังกฤษ จะลงทุนครบทั้ง 3 ประเภท คอนโด สำนักงาน และเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ ส่วนในจีนและมาเลเซีย จะมีลงทุนเฉพาะคอนโด และเอาท์เล็ต สิงคโปร์ จะลงทุนโรงแรมและคอนโด ขณะที่ไต้หวัน ลงทุนรูปแบบเอาท์เล็ต อย่างเดียว

สนอสังหาฯให้เช่าดันรายได้

สำหรับในไทยบริษัทสนใจที่เพิ่มการลงทุนโดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับบริษัทในระยะยาว ทั้งประเภทอาคารสำนักงาน เซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ และโรงแรม

นอกจากนี้ ยังสนใจจะลงทุนธุรกิจใหม่ๆ เช่น ธุรกิจขนส่งและกระจายสินค้า (โลจิสติกส์) เนื่องจากเชื่อว่าในอนาคตไทยจะกลายเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การขนส่งและกระจายสินค้าในอาเซียน ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบเอาท์เล็ต ที่เป็นอีกธุรกิจที่คาดว่าจะเติบโตค่อนข้างมากจากนี้ เพราะจากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคไทย พบว่าชื่นชอบการชอปปิง

“ธุรกิจใหม่อยู่ในช่วงของการศึกษาตลาดและข้อกฎหมายต่างๆ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาสักระยะ โดยการหาผู้ร่วมทุน หรือพันธมิตรในการขยายธุรกิจใหม่จะให้ความสำคัญกับอนันดาฯ เป็นรายแรก”

ปี 60 เปิดตัวคอนโด 5 โครงการ

นายฟูนาโอกะ ยังกล่าวว่าส่วนธุรกิจอสังหาฯเพื่อขาย บริษัทมีโครงการอยู่ระหว่างพิจารณาร่วมทุนในปี 2560 มากกว่า 5 โครงการเน้นใกล้แนวรถไฟฟ้า ทำให้เกิดการขยายตัวของเมือง จากการขยายเส้นทางของรถไฟฟ้า ทำให้แนวโน้มที่อยู่อาศัยรูปแบบคอนโดเติบโตได้มากขึ้น และยังมีความต้องการอยู่มาก จากตัวเลขที่อยู่อาศัยในแนวรถไฟฟ้าของญี่ปุ่นมีสัดส่วนถึง 90% ขณะที่ไทยมีสัดส่วนเพียง 50% จึงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

ด้านนายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่าบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการพัฒนาโครงการร่วมทุนกับมิตซุยฯใหม่อีก 5 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 1.5 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการคอนโดติดรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯทั้งหมด จะได้ข้อสรุปในเดือนพ.ย.นี้ คาดว่าจะทยอยเปิดตัวในปี 2560

ผุด 6 โครงการไตรมาส 4

ขณะที่การเปิดโครงการในไตรมาส 4 ปีนี้ บริษัทยังเหลือการเปิดโครงการอีกทั้งหมด 6 โครงการ มูลค่าโครงการรวมกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น โครงการคอนโดร่วมทุนกับมิตซุยฯ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการ ไอดีโอ โมบิ อโศก มูลค่า 3,240 ล้านบาท โครงการ ไอดีโอ สุขมุวิท93 มูลค่า 6,072 ล้านบาท และ โครงการ ไอดีโอ โมบิ สุขุมวิท 66 มูลค่า 2,288 ล้านบาท

โครงการที่บริษัทพัฒนาเองอีก3โครงการ มูลค่ารวมกว่า 4,000 ล้านบาท ได้แก่ โครงการ ไอดีโอ พหลโยธิน-จตุจักร มูลค่า 2,513 ล้านบาท โครงการ เวนิโอ สุขุมวิท10 มูลค่า 875 ล้านบาท และโครงการ ยูนิโอ นิด้า-เสรีไทย มูลค่า 932 ล้านบาท ปีนี้จะสามารถเปิดโครงการได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 2.2 หมื่นล้านบาท ครึ่งปีแรกเปิดโครงการคอนโดเพียงอย่างเดียวทั้งหมด 3 โครงการ มูลค่า 5,400 ล้านบาท

สำหรับยอดขายของบริษัทปัจจุบันทำได้แล้ว 14,300 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปีนี้ที่ตั้งไว้ที่ 22,000 ล้านบาท ยังมั่นใจว่ายอดขายดังกล่าวจะทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะในช่วงไตรมาส 4 ยังเปิดโครงการใหม่อีกเป็นจำนวนมาก ประกอบกับโครงการอื่นที่ยังอยู่ระหว่างรอการขาย

มั่นใจดันรายได้ปีนี้ตามเป้า

ด้านรายได้ในปีนี้ยังมั่นใจทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 15,600 ล้านบาท จากครึ่งปีแรกที่บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 5,480 ล้านบาท โดยช่วงที่เหลือของปีนี้บริษัทยังรอรับรู้รายได้จากยอดขายรอโอน (Backlog) อีกราว 12,000 ล้านบาท จากที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมด 38,500 ล้านบาท ซึ่งทยอยรับรู้รายได้ไปจนถึงปี 2561

พร้อมกันนี้บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ในปี 2560-2561 จะเติบโตก้าวกระโดด โดยมีรายได้ในปี2560 อยู่ที่ 30,215 ล้านบาท และปี 2561 อยู่ที่ 42,300 ล้านบาท