7เทคนิคช่วย‘เจ้าของธุรกิจมือใหม่’ ประหยัดภาษี-พลิกเพิ่มกำไร

7เทคนิคช่วย‘เจ้าของธุรกิจมือใหม่’ ประหยัดภาษี-พลิกเพิ่มกำไร

หาหนทางช่วยลดค่าใช้จ่าย กลับพลิกมาเพิ่มกำไรให้กับเจ้าของธุรกิจมือใหม่อย่างใสๆ

สำหรับปัญหายอดฮิต ของบรรดาเจ้าของธุรกิจมือใหม่ ที่พบบ่อย คงหนี้ไม่พ้นเรื่อง “การจ่ายภาษี” เรียกว่าวังวนของเจ้าของธุรกิจมือใหม่ ไม่ว่าจะผันตัวเอง ไปลงทุนธุรกิจใดก็ตาม ก็มักจะได้ยินเสียงบ่นอุบว่า “ถูกหวยภาษี” แบบเต็มๆ และจ่ายหนัก 

ดังนั้นโจทย์ปัญหาใหญ่นี้ มีทางออก หลังไปพบเจอกับ http://incquity.com ที่ช่วยไขปัญหา และหาหนทางช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ กลับพลิกมาเพิ่มกำไรให้กับเจ้าของธุรกิจมือใหม่อย่างใสๆ ด้วย 7 เทคนิคจ่ายภาษีฉบับประหยัด

1.เทคนิคแรก คือ การจ้างนักบัญชี 

สำหรับผู้ประกอบการที่พึ่งกระโจนลงมาทำธุรกิจ ต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชี ซึ่งมีความรู้ด้านประหยัดภาษีมาประกบ ข้อดี คือนอกจากช่วยงานด้านบัญชี ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือให้กับมือใหม่หัดขับอย่างคุณในสายตาของกรมสรรพากร ที่สำคัญส่วนใหญ่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย สามารถเซ็นรับรองได้ทันที

2.เลือกประเภทการจัดตั้งธุรกิจให้ชัด

อัตราการจ่ายภาษีมีความผันผวน และแตกต่างกันค่อนข้างมาก ตามลักษณะของการจดทะเบียน ถ้าคุณเป็นเจ้าของธุรกิจ เพียงผู้เดียว ต้องใช้เข้าเกณฑ์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจ่ายก้าวหน้า เสียภาษีขั้นสูงสุดถึง 37% ส่วนบริษัทที่เป็นนิติบุคคล เสียภาษีนิติบุคคล รูปแบบนี้ประหยัดเงินได้เยอะ เพราะคุณเสียอัตราคงที่สูงสุดแค่ 20% โดยเฉพาะผู้ประกอบที่มีกำไรมากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป เลือกจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทนิติบุคคลจะดีกว่า เพื่อรองรับการเติบโต นำมาสู่รายได้ที่มากขึ้นในอนาคต

3.จะจ่ายตามจริง หรือเหมาจ่าย

อีกส่วนหนึ่งที่จะมีผลช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระให้กรมสรรพากร คือ การเลือกรูปแบบการหักภาษี ซึ่งกรมสรรพากรมีช่องทางให้เลือก 2 วิธี คือการคิดแบบตามความเป็นจริง หรืออัตราเหมาจ่าย ถ้าคิดตามความเป็นจริงจะได้ในเรื่องความละเอียดด้านค่าใช้จ่ายที่จะเสียภาษีตามความเป็นจริงของรายได้ในปีนั้น ถ้าคิดเหมาจ่าย นอกจากไม่ต้องเก็บรายละเอียดการเงินตลอดทั้งปี ยังหักค่าใช้จ่ายได้มากกว่าความเป็นจริง และกินส่วนต่างได้อีกด้วย

4.หักสิทธิลดหย่อนให้ครบ

กฎหมายระบุชัดเจนว่า ผู้ประกอบการธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นส่วนบุคคล หรือนิติบุคคล ใช้สิทธิหักค่าลดหย่อน เพื่อลดรายจ่ายภาษี จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ ที่จะค้นหาว่าการทำธุรกิจของตนเข้าข่ายได้รับการยกเว้นเรื่องใดบ้าง ทั้งแบบส่วนบุคคล และบริษัท ซึ่งอาจมีมากกว่าหนึ่งข้อได้ เมื่อค้นพบสิทธิที่ตรงกับตนเองและธุรกิจแล้ว ขั้นต่อมาคือหักค่าลดหย่อนให้ได้เยอะมากที่สุด เท่าที่ทำได้ จะช่วยประหยัดรายจ่ายมากทีเดียว

5.ซื้อหน่วยลงทุน (LTF)

การซื้อหน่วยลงทุนเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายภาษี เป็นการสร้างแรงจูงใจการดำเนินธุรกิจ โดยผู้ประกอบการสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี มีเงื่อนไขต้องซื้อ และถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 7 ปี (นับตามปีปฏิทิน) ทั้งนี้การให้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการซื้อ LTF เกิดจากการที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนให้ลงทุนในหุ้นมากขึ้น โดยเงินซื้อหน่วยลงทุน LTF นำไปหักลดหย่อนภาษีได้ ตามที่ลงทุนจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในแต่ละปี และต้องไม่เกิน 500,000 บาทด้วย

6.การทำประกัน

การทำประกันภัย ในรูปแบบต่างๆ ให้ทั้งบริษัท และพนักงาน เป็นอีกหนึ่งแนวทางช่วยประหยัดค่าภาษี โดยใช้หลักการเงินนำเอาผลกำไรไปแปรสภาพเป็นรายจ่ายทางบริษัท ที่อยู่ในรูปแบบการทำประกันภัย ให้บริษัททั้งวินาศภัย อัคคีภัย วาตภัย ฯลฯ หรือทำให้ในส่วนตัวบุคคล ทั้งผู้บริหารและพนักงาน โดยนำกรมธรรม์ใช้เป็นเครื่องมือจัดการภาษีให้บริษัท ซึ่งหักค่าลดหย่อนได้ 100% และบริษัทยังมีเงินออมที่ได้จากการทำประกันเอาไว้ใช้สอยในอนาคต

7.เข้าเทคโอเวอร์กิจการอื่นที่น่าจะมีผลกำไร

ผู้ประกอบการสามารถนำเงินผลกำไรที่ได้ มาต่อยอดทำธุรกิจต่อได้อีก โดยเข้าซื้อบริษัท ที่เห็นผลกำไร หรืออนาคตที่สดใสในธุรกิจ เพื่อเเพิ่มรายจ่ายให้บริษัท ซึ่งพอรายจ่ายเพิ่ม ผลกำไรก็ลดลง แถมจ่ายภาษีลดลงด้วย และยังได้บริษัทมาบริหารเพิ่มขึ้นอีก 1 กิจการ ทำลักษณะนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนเป็นวงจรลูกโซ่ ช่วยลดรายจ่ายภาษีเป็นอย่างดี ด้วยวิธีการที่เรียกว่า “การแตกหน่วยภาษี”

ดังนั้น http://incquity.com จึงชู 7 เทคนิคง่ายๆ ช่วยเจ้าของธุรกิจมือใหม่ ประหยัดรายจ่าย และคลายปมปัญหาภาษี ที่คุณๆ คิดว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของกิจการในอนาคต ซึ่งต่อจากนี้ไปภาษีไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับคุณอีกต่อไป...นะครับเจ้านาย