Power Women หญิงแกร่งพลิกตลาด4.0

Power Women หญิงแกร่งพลิกตลาด4.0

แบรนด์สินค้าจะสำเร็จ “กลยุทธ์ตลาด” เป็นปัจจัยสำคัญ ทว่าจะยืนหยัดอย่าง“ผู้นำ” นานแค่ไหน ไม่มีสูตรสำเร็จ ไปฟัง 4 พาวเวอร์ วูเมน ไขรหัสลับ!

ในวันที่โลกใบเดิม กลายเป็นสนามธุรกิจขนาดใหญ่ประหนึ่ง “โอลิมปิกเกม” กีฬาแต่ละชนิด เปรียบเป็นธุรกิจในแต่ละเซ็กเตอร์ แบรนด์สินค้าและบริการจะเลือกเล่มเกมที่ตนเก่ง แกร่ง และเชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้เหรียญทอง โดยมีอาวุธสำคัญคือ กลยุทธ์การตลาด” ที่ต่างงัดมาใช้มัดใจผู้บริโภค

ทว่า ก่อนจะก้าวไปคว้าชัยชนะมาครอง เชื่อว่าสินค้าและบริการจำนวนมากต่างเผชิญความ “ล้มเหลว” มาไม่มากก็น้อย ก่อนจะค้นพบศาสตร์แห่งความสำเร็จ ต่อกรคู่ต่อสู้ เพื่อแย่งพื้นที่ในใจผู้มาบริโภคมาครอง (Top of mind) 

ไปฟังบรรดากูรูการตลาดขั้นเทพ ถ่ายทอดประสบการณ์จากวันเพลียงพล้ำ สู่ “สำเร็จ”  ผ่านงานประกาศเกียรติคุณ ทำเนียบเกียรติคุณนักการตลาดไทย หรือ Marketing Hall of Fame ประจำปี 2559 ที่จัดโดยสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (MAT) ที่ผ่านมา

บนเส้นทางธุรกิจอาหารและเบเกอรี แบรนด์ เอสแอนด์พี ยืนหยัดมากว่า 4 ทศวรรษ ภายใต้การกุมบังเหียนธุรกิจของหญิงเก่ง ภัทรา ศิลาอ่อน ประธานกรรมการ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด(มหาชน) ที่เริ่มต้นธุรกิจจากไอศกรีม สร้างยอดขายได้450บาท ปัจจุบันเติบใหญ่กลายเป็นบริษัท “มหาชน” ที่สร้างรายได้ถึงกว่า 7,000 ล้านบาทต่อปี กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจ “พันล้าน” 

ด้วยพื้นฐานเป็นคนละเอียดอ่อน เมื่อเข้ามาจับธุรกิจร้านอาหาร ที่มีบริการ เป็นหัวใจ สำคัญ “ภัทรา” จึงเป็นต้นแบบ (Leader) ในการเติมความใส่ใจด้านบริการให้แก่ลูกค้าอย่างถ่องแท้ เมื่อพนักงานเห็น ก็นำไปปฏิบัติตาม จนกลายเป็นดีเอ็นเอของร้านเอสแอนด์พีไปแล้ว

นั่นเพราะเมื่อหลายสิบปีก่อนยังไม่มีสื่อโซเชียล แชะ โชว์ แชร์ เป็นพลังสร้างแบรนด์ ดังนั้น “คุณภาพผนวกกับรสชาติอาหาร และเบเกอรี” จึงเป็นกลยุทธ์ที่จะทำให้เกิดการบอกต่อ “ปากต่อปาก” หรือ Word of Mouth 

โดยมีสิ่งสำทับในเรื่องของบรรยากาศร้าน สถานที่สะอาด เป็นอีกสิ่งที่เธอพร่ำสอนให้พนักงานท่องจนขึ้นใจ กลายเป็นอีกปัจจัยหลักที่ทำให้เอสแอนด์พีเป็นที่รักของลูกค้าทำให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการซ้ำ

พี่จะพยายามหาคำคล้องจอง มาสอนพนักงานให้จดจำและเป็นเอกลักษณ์ คือ บริการเรียบร้อย มีแต่ของอร่อย สถานที่สะอาด บรรยากาศดี เธอย้ำ

ในธุรกิจอาหาร มีคู่แข่งไทย-เทศ ร้านอาหารนานาชาติ ญี่ปุ่น จีน และอีกมากมาย เธอออกตัวว่า ไม่ใช่ยึดว่าเราคือนักการตลาดมือฉมัง แต่สิ่งที่ต้องยึดคือ “ผู้บริโภค” เป็นตัวตั้งต่างหาก

คิดอย่างเดียวว่า ลูกค้าต้องการอะไร ต้องการร้านแบบไหน แล้วหาทางตอบสนองความต้องการเหล่านั้นให้ได้ ! เธอแจกแจง

 เอสแอนด์พี ยังถือเป็นองค์กรหนึ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องการให้ความสำคัญกับ “ทรัพยากรมนุษย์” โดยคนที่ทำงานในชายคาแห่งนี้อยู่กันยาวนาน20-30ปี อยู่เสมือนครอบครัว รักและผูกพันกันโดยไม่ลาออก 

นั่นเกิดจากการ “สอนงาน” ด้วยตัวเองของผู้มาก่อน ความใกล้ชิดยังทำให้ผู้บริหารสามารถ จดจำชื่อพนักงานได้ ผู้ปฏิบัติงานก็ภาคภูมิใจ 

ประเด็นนี้ ยังถูกนำมาใช้เสริมการให้บริการ โดยพนักงานจะมีป้ายชื่อเพื่อให้ลูกค้าเรียกขาน เมื่อต้องการรับบริการด้วย

ปัจจุบัน เอสแอนด์พี มีร้านอาหารและเบเกอรีในเครือมากมาย มีสาขาให้บริการทั้งในและต่างประเทศ เช่น เอสแอนด์พีกว่า100สาขาทั่วประเทศ, เคาน์เตอร์จำหน่ายกาแฟสด Blue cup coffee กว่า 200จุด, ร้านอาหารฝรั่ง และขนมหวานแบรนด์วานิลลา, ร้านอาหารในต่างประเทศ (อังกฤษ,สวิตเซอร์แลนด์,ออสเตรีย,สิงค์โปร์,ไต้หวัน,จีน,มาเลเซีย) จำนวน 22 สาขา ภายใต้ชื่อ PATARA ,SUDA,Bangkok Jam, Bangkok Beat Bistro, Thai and Pan-Asian cuisine เป็นต้น

ถามว่า การตลาดวันนี้กับอดีตต่างกันอย่างไร ?

 “ภัทรา” บอกว่า สำหรับเอสแอนด์พีไม่ต่าง โดย “สไตล์” การทำธุรกิจยังเหมือนเดิมคือ “ทำด้วยใจรัก มีความรู้และรสนิยมการทำอาหารทาน รู้จักอาหารมากมาย การเข้าใจและจัดร้านเป็นตัวขับเคลื่อน” แต่ปัจจุบันเมื่อบริษัทอยู่ในรูป “องค์กรขนาดใหญ่” มี “ทายาท” คนรุ่นใหม่ที่มีหลักการทำงานที่ดี จะใช้ระบบ (System) เข้ามาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ

อีกสิ่งที่เธอสำทับคือ การทำธุรกิจอาหารยุคนี้ ยากเพราะโลกค้าปลีก (Retail) ที่ขยายตัวอย่างมาก ทำให้ร้านอาหารผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

เราต้องแข่งขันกันมากขึ้น แข่งกันหาลูกค้า หาพนักงาน แข่งกันแล้วก็ทำให้ร้านปิดไปไม่น้อยขณะที่ค่าเช่าที่ในศูนย์การค้าก็แพง เธอบอก

กระนั้น ภัทราก็ไม่ได้กังวลกับความเสี่ยงธุรกิจในภายภาคหน้า เธอระบุว่า การขยายธุรกิจยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องทั้งเจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เอเชีย และรวมทั้งยุโรป ล่าสุดแบรนด์ “วานิลลา” เปิดสาขาแรกในเมืองเซี่ยงไฮ้ ที่จีน 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หวังให้ทายาทบริหารธุรกิจทำได้เหมือนตัวเอง คือ การดูแลคนให้ดี ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใดก็ตาม

คนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพนักงานอย่างเดียว แต่คือลูกค้าด้วยสำคัญที่สุด

ส่วนผลงานชิ้นโบว์แดงที่ภูมิใจ ยกให้กลยุทธ์การลดราคา 25% ในวิกฤติต้มยำกุ้ง (ปี 2540 ) เจตนารมณ์ครานั้นต้องการลดภาระผู้บริโภค ในภาวะที่เงินในกระเป๋าน้อยลง การจับจ่ายใช้สอยลำบาก 

“เป็นการตัดสินใจที่เราไม่นึกว่าจะทำให้เราขายดีขึ้น แม้ว่าวิกฤติครั้งนั้นจะทำให้รายได้คนลดลง แต่เอ๊ะ? จะทำยังไงให้คนยังซื้อของ อาทิตย์ละวันก็ยังดี แต่ผลลัพธ์กลับเกินคาดหมาย"  

เป็นสตรีผู้ทรงอิทธิพลในวงการตลาด “สินค้าอุปโภคบริโภค” กว่า 3 ทศวรรษ ปลุกกลยุทธ์สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รักแก่ผู้บริโภค (Brand love) มากมายให้กับยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นซันซิล คลินิก เคลียร์ โดยเฉพาะซันซิล ที่เป็นผลงานชิ้นเอก ที่ต่อกรชนะคู่แข่งตลอดกาลอย่าง “พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล” หรือ พีแอนด์จี ซึ่งขณะนั้นมีผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมรีจอยส์ ซึ่งมาแรงมาก 

สำหรับ “กรรณิกา ชลิตอาภรณ์ อดีตรองประธาน และกรรมการอำนวยการ ฝ่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคล บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด ก่อนจะข้ามห้วยมานั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อปี 2550 จนครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนเม.ย.2558 ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งกรรมการและกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด เธอยังกลับสู่วงการค้าสินค้าอุปโภคบริโภคด้วยการนั่งตำแหน่ง รองประธานกรรมการและประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการ บริษัทโอสถสภา จำกัด 

ที่ต้องยกความสำเร็จในการทำตลาดให้เธอ เกิดจากความตั้งใจไม่ย่อท้อ เรียนรู้กับความผิดพลาด แล้วก้าวไปข้างหน้า ขณะเดียวกันต้องมองการณ์ไกลอยู่เสมอ อย่าคิดแค่ระยะสั้น เรื่องนี้สำคัญมาก แม้จะสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จทั้งวงการคอนซูเมอร์ และการเงิน แต่ไม่เคยไม่ “สูตรลับความสำเร็จ” บนหนทางธุรกิจ เพราะทุกอย่างจะเปลี่ยนเสมอ

ของอะไรที่ดีวันนี้ รับรองได้ว่าจะเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพราะมันเปลี่ยนแปลงบ่อยมาก แล้วนับวันจะยิ่งเปลี่ยนเร็วและแรงขึ้น

เช่นเดียวการตลาด ที่เธอบอกว่า เวลานี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงเยอะมาก โดยเฉพาะกลยุทธ์ และการปฏิบัติแตกต่างจากอดีต และอีก5ปีข้างหน้า จะยิ่งเกิดการเปลี่ยนเยอะ เมื่อทุกอย่างอยู่ภายใต้อิทธิพลของดิจิทัล (Internet of Things) เกิดปัญหาบนโลกโซเชียลมีเดีย ภายใน3 ชั่วโมงเกิดผลกระทบในวงกว้าง ขณะเดียวกันผู้บริโภคยังเปลี่ยนใจเร็วมาก เพราะข้อมูลข่าวสารส่งตรงสู่ผู้บริโภคทุกด้าน ทุกอย่างต้องรีวิว จากเดิมแบรนด์ใช้เวลาพูดกันเป็นเดือน วัน ปัจจุบันพูดกันหลักชั่วโมง ข้อมูลข่าวสารล้นหลาม (Big Data) จะดึงมาใช้อย่างไร เธอตั้งคำถาม

นอกจากนี้ “โทรศัพท์มือถือ” ยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้บริโภค เพราะจะกิน จะนอน ฯลฯ จะต้องใช้โทรศัพท์ หาข้อมูลและทำแทบทุกอย่างอยู่บนอุปกรณ์ดังกล่าว แบรนด์ต้องทำการตลาดทุกอย่างให้เข้ากับช่องทางนี้ด้วย 

ขาดมือถือครึ่งชั่วโมง อยู่ไม่ได้ เหมือนใจจะขาด

ดังนั้น ดิจิทัลจึงกลายเป็นช่องทางใหม่ในการทำตลาด แบรนด์ สินค้าและนักการตลาดจะมีวิธีการใช้งานเครื่องมือนั้นอย่างไรจึงจะได้ผล ทำอย่างไรให้เข้าถึง “กลุ่มเป้าหมาย” เฉพาะบุคคลให้มากที่สุด แนวโน้ม (เทรนด์) การตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคจะแตกเซ็กเมนต์มากมายกว่าเดิม ทำให้การคาดเดาทิศทางตลาดได้ยากขึ้น อีกแนวโน้มที่มาแน่นอน คือ “สังคมผู้สูงอายุ” สินค้าและบริการในอนาตจึงต้องแตกต่างออกไป

แต่หลักการยังคงเหมือนเดิมคือต้องเข้าใจผู้บริโภค แต่ดิจิทัลจะเปลี่ยนชีวิตในการทำการตลาด การเข้าถึงผู้บริโภค แบรนด์ใดจะชนะ ต้องเข้าใจเรื่องพวกนี้และใช้ให้เป็น ตั้งแต่การโฆษณา สื่อกับเขาอย่างไร เพราะการโฆษณาในสื่อดิจิทัล เป็นคนละแบบกับทีวี เธอบอกและย้ำว่า

“ความสำเร็จในอดีต หลักการได้ แต่การปฏิบัติไม่เหมือนกันเลย!โดยความท้าทายยกให้ดิจิทัลเป็นการบ้านใหญ่ในการทำงานอันนี้ถ้าจับไม่อยู่ อย่างอื่นก็ไปไม่ได้”

ฉายภาพแนวโน้มการทำตลาดในยุคหน้า หากมองย้อนดูโจทย์ยากในอดีต มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง กรรณิกา ตอบหนักแน่นว่า 

“ถ้าไม่ยาก ชีวิตก็น่าเบื่อนะ” ก่อนขยายความว่า..

โจทย์ยาก คือคู่แข่งเก่งกว่าเรา..การตลาดนี่ง่ายมาก ถ้าคุณทำดี คุณชนะคู่แข่ง ถ้าคุณทำไม่เก่งจริง คู่แข่งก็ชนะคุณ คุณก็แพ้ ต้องไปปรับปรุงใหม่ ว่าทำอย่างไรให้ชนะเขา เพราะผู้บริโภคจะซื้อสินค้าและบริการที่เขาคิดว่าตอบสนองเขาได้ดีที่สุด

คว้าความสำเร็จในการทำตลาดและสร้างแบรนด์มากมาย ผลงานชิ้นโบว์แดงที่เธอภาคภูมิใจ คือในห้วงเวลานี้ ที่ทำให้ธุรกิจการเงินการธนาคารของประเทศเปลี่ยนแปลงทุกหัวระแหง การตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง 

เป็นสิ่งที่ฉันชอบนะ เพราะก่อนหน้านั้น มันไม่ตอบสนองอย่างแท้จริง ไม่รู้ พวกคุณคือลูกค้าเรา คุณมอง 10 ปี นี้มันเปลี่ยนไหม เธอโยนคำถามถึงผู้บริโภค

กรรณิกา ออกสตาร์ทการทำงานกับแวดวงการเงินในปี 2545 เพื่อสานภารกิจ Retail Banking ที่ไม่ใช่แค่มีตู้เอทีเอ็ม และสาขามากที่สุดเท่านั้น แต่ต้องตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้จริง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคของเธอ มีตั้งแต่ปรับปรุงบัตรเครดิตของธนาคารที่มีมากมาย 20-30 แบบ มาเหลือที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าจริงๆ ลงทุนหลายพันล้านบาทยกเครื่องสาขาใหม่ของธนาคารจำนวน500สาขา(ที่มีอยู่ในขณะนั้น)ตั้งแต่รูปแบบ ตลอดจนการบริการของพนักงาน โดยเฉพาะสาขาในห้างค้าปลีก ที่พลิกโฉมการทำงานของแบงก์เป็นประวัติศาสตร์ เพราะต้องเปิดให้บริการ 7 วัน และทำงานร่วม 10 ชั่วโมงต่อวัน เป็นต้น

ผลลัพธ์ใหญ่ในยุคกรรณิกา เกิดขึ้นเมื่อปี 2555 โดยเธอมีส่วนนำพาธนาคารไทยพาณิชย์สร้างผลประกอบการสูงสุดเป็นนระวัติการณ์ในรอบ 106 ปี และปี 2556 สร้างกำไรสูงสุดต่อเนื่องให้กับองค์กร

ส่วนการทำงานในค่ายคอนซูเมอร์ระดับโลก แน่นอนว่า เป็นการสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่รักแก่ผู้บริโภคอย่างมากมาย การพลิกโฉมแบรนด์ เช่น สินค้าพอนด์ส จากจับกลุ่มผู้หญิงรุ่นใหญ่วัยคุณแม่ มาสู่คนรุ่นใหม่สดใส ใช้เวลา10ปี ผลักดันน้ำยาล้างจานซันไลต์ให้เป็นผู้นำตลาด เป็นต้น โดยความสำเร็จของ 2 อุตสาหกรรมใหญ่ เกิดจากความสำเร็จอย่างเดียวกันคือ เข้าใจผู้บริโภค

แล้วการทำตลาดท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ กำลังซื้อ กรรณิกาให้ข้อคิดสั้นๆ คือ คุมต้นทุนให้ดี และเลี่ยงกลยุทธ์ราคา เพราะจะทำให้เป็นสิ่งที่ลำบากต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ สร้างยอดขายยากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อตัดราคา บริษัทก็ต้องหาช่องทางสร้างกำไร 

ไปสร้างสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นของแบรนด์ดีกว่า ถ้าไม่มีอะไรเด่นๆ ผู้บริโภคจะไม่ซื้อของคุณ ถ้าห้ำหั่นราคากัน ก็ไปได้ไม่นาน พอเลิกตัดราคา ยอดขายก็ตก เศรษฐกิจเวลานี้ี่สำคัญที่ต้องสร้างจุดเด่นสินค้าให้ได้

เป็นอีกคนที่คร่ำหวอดแวดวงตลาดคอนซูเมอร์มายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ และประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะการปั้นซุปไก่สกัดแบรนด์เป็นเบอร์1อย่างยาวนาน สำหรับดร.ลักขณา ลีละยุทธโยธิน ประธานมูลนิธิเพื่อการศึกษาของสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย อดีตแม่ทัพ ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เซเรบอส(ประเทศไทย) จำกัด

ผ่านการทำตลาดหลากรูปแบบในอดีตมาแล้ว หากมองไปในโลกธุรกิจ การตลาด 4.0 ลักขณา ฉายภาพอนาคตว่า เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลง “เร็วมาก” แบบข้ามคืน นักการตลาดยุคนี้จึงต้องติดตามข่าวสาร ตามเทรนด์ให้ทัน

เรามองไม่เห็นอนาคต แต่เราต้องเดาอนาคต เดาว่า สิ่งนี้จะอยู่หรือจะไป ธุรกิจเผชิญความเสี่ยงมาก” 

การประลองธุรกิจจึงเป็นเรื่องของ “การรู้” และมองเกมให้ขาด หากมองไม่ออกธุรกิจอาจม่องเท่ง เจ๊ง! เสียหายเหมือนแบรนด์ดัง อย่าง โกดัก โนเกีย ที่สู้คู่แข่งไมได้ เพราะไล่ไม่ทันเทคโนโลยี

บทเรียนหนึ่งของ2แบรนด์ใหญ่ ทำให้ได้เคล็ดลับ วิธีการทำธุรกิจใหม่เพื่อให้อยู่รอด เช่น การออกสินค้าใหม่ หากไม่อยากให้เสียส่วนแบ่งการตลาดให้คู่แข่ง แบรนด์ต้องแลกด้วยการเข็นสินค้านวัตกรรมมาตอบโจทย์ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อกินส่วนแบ่งตลาดของตัวเอง โดย “ซัมซุง” เป็นตัวอย่างที่ดีในการออกสินค้าต่อเนื่อง

นักการตลาดต้องจำไว้ ขอให้เรากินแชร์ตัวเราเองดีกว่าให้คนอื่นมากินของเรา เพราะมีแต่ตายกับตาย 

การทำตลาดดิจิทัล ต้องนำมาผสานใช้งานให้เข้มข้น เพราะหากระบบโครงสร้างพื้นฐานอินเตอร์เน็ตดี 4G  5G มา จะได้ตามทัน ขนาดปัจจุบันอินเตอร์เน็ตไทยยังไม่เร็วมาก แต่ผู้บริโภคก็เกาะเกี่ยวโซเชียลเน็ตเวิร์คติดอันดับโลกทั้ง Google Facebook Line มากมาย

เทรนด์ เป็นสิ่งที่นักการตลาดต้องจับให้อยู่หมัด การเปลี่ยนแปลงการทำงานและการทำตลาด ไม่ใช่แค่ “ผู้นำ” ที่ต้องทำแต่ “ลูกน้อง” ก็ต้องรู้เท่าทันสถานการณ์ ยอมรับและปรับตัวด้วย 

“เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัลเข้ามาก่อกวนและมีอิทธิพลต่อธุรกิจ สิ่งสำคัญลูกน้องต้องเห็นด้วยว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพื่อเตรียมตัวรับให้ทัน” 

ขณะที่แนวโน้มการตลาดซึ่งพอจะมองเห็น คือ สังคมเดี่ยว คนไทยมีลูกน้อยลง ดังนั้น พ่อแม่จะทุ่มเททุกอย่างให้กับลูกอย่างดีที่สุด แบรนด์ต้องหาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์กลุ่มนี้ให้ได้ว่าจะเป็นอย่างไร

สังคมผู้สูงอายุ ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนผู้สูงวัย1ใน5ของประชากร และมีแนวโน้มจะเป็น1ใน4เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลต่อการออกแบบสินค้าและบริการเปลี่ยนไป มุ่งตอบโจทย์คนกลุ่มนี้มากขึ้น เช่น อสังหาริมทรัพย์ จะไม่มีพื้นที่ต่างระดับ สินค้าสุขภาพมีบทบาทต่อการบริโภค ตัวอักษร ฉลาก สีของฉลากจะมีผลต่อการเลือกซื้อสินค้า เป็นต้น

ที่สำคัญเทรนด์การรักษาสิ่งแวดล้อม จะเป็นปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้ยั่งยืน เมื่อผู้บริโภคยุคนี้ต้องการมีส่วนร่วมในการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติ แบรนด์จะต้องใส่ใจทุกอย่างในการผลิต การนำทรัพยากรมีใช้อย่างมีคุณค่ามากขึ้น ไม่เช่นนั้นอาจจะเผชิญแรงต้านจากผู้บริโภคได้ 

“ประชากรโลกมีมาก เกิดการแย่งกันกิน แย่งกันใช้ ภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้นทุกวัน ปัญหามีมากมาย ผู้บริโภคเกิดความวิตกมากขึ้น หากธุรกิจหรือแบรนด์ใดที่ทำปัญหาให้กับโลก ก็จะถูกเกลียดมาก และต่อต้าน ทุกบริษัทจึงต้องทำทุกทางเพื่อใช้ทรัพยากรอย่างมคุณค่าและมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความยั่งยืน"

-----------------------------------

เปิดโลกทัศน์นักการตลาด 

สุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการบริหารคนใหม่ของกลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ในประเทศไทย ให้มุมมองนักการตลาดว่า ต้องออกเดินทางเพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กว้างขวางมากขึ้น เพราะเวลานี้การขับเคี่ยวธุรกิจอยู่ในเวทีสากล” และหากเทียบเคียงฝีไม้ลายมือบรรดานักการตลาดไทย ด้านความสามารถนั้นไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกอยู่แล้ว 

ออกไปเดินทางเพื่อเห็นโลก หาประสบการณ์ตลาดที่ซื้อไม่ได้ด้วยเงินหรืออ่านเพียงอย่างเดียวเธอย้ำ

อีกทักษะที่ต้องมีคือภาษาอังกฤษ เพราะยุคนี้ภาษาเดียวอยู่ไม่ได้ เด็กรุ่นใหม่ เมื่อก้าวเข้ามาสู่สมรภูมิการตลาด ต้องกล้าพูด กล้าคิด กล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ เรียนรู้ให้มาก

เมื่อยุคดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้าง “เนื้อหา (คอนเทนท์)” ใหม่ๆตลอดเวลาเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อมีส่วนช่วยสร้างแบรนด์ให้สดใหม่ โดยมี ความคิด” เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้คอนเทนท์ยืนหยัดอยู่ได้นาน

ส่วนความสำเร็จเธอเห็นพ้องกับนักการตลาดรุ่นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น “ภัทรา ศิลาอ่อน” และ “กรรณิกา ชลิตอาภรณ์” คือทำงานต้องไม่ย่อท้อ 

โดยธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้ “ต้องใช้การตลาดเป็นตัวนำ” เหมือนที่กรรณิกา บอกว่า ไม่ว่าเข้าไปจับแบรนด์ใดก็ช่วยพลิกฟื้นได้อย่างสวยงาม ขณะที่การสร้างแบรนด์ระยะยาว ให้มั่นคงและเติบโตก็ควรดำเนินการต่อเนื่อง เช่น ภัทราใช้เป็นกลยุทธ์ขับเคลื่อนเอสแอนด์พี โดยสิ่งที่เหมือนกันของทั้ง 2 เกิดจาก 

การรู้และเข้าใจตลาด เข้าใจผู้บริโภคอย่างถ่องแท้