ชี้ 'โขน' ศิลปะชั้นสูงของมีครู แตะได้ให้ถูกกาลเทศะ

ชี้ 'โขน' ศิลปะชั้นสูงของมีครู แตะได้ให้ถูกกาลเทศะ

ครูโขน ชี้ชัดศิลปะชั้นสูงแตะต้องได้ ทุกคนมีสิทธิ์นำไปใช้ประโยชน์ แต่ขอให้ถูกกาลเทศะ

ที่โรงละครวังหน้า สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดเสวนา “โขน นาฏกรรมชั้นสูง องค์ความรู้คู่วัฒนธรรมชาติ” โดยมี นายประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้เชี่ยวชาญ สาขาศิลปะการแสดง ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทย สบศ. และผู้จัดทำบทโขนพระราชทานกล่าวว่าการแสดงโขน ถือเป็นศิลปะชั้นสูง ซึ่งตามทฤษฎีประวัติศาสตร์นั้น โขน เป็นการแสดงที่ได้รับอิทธิพลจากหนังใหญ่ มีการเจรจา ท่าเต้น การแต่งกาย เรื่องการแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์และกระบี่กระบอง โดยใช้เวล่าประมาณ 2 ชม. ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์จำนวนมาก

โดยโขนมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และได้พัฒนาเรื่อยมาจนกระทั่งสมัยกรุงธนบุรี โขนเป็นมโหรสพหลวง ที่จะใช้ในพระราชพิธีสำคัญ และในรัชกาลที่ 6 การแสดงโขนเป็นยุคเฟืองฟู เป็นรูปโขนสมัยใหม่ หรือโขนการละคร มีการขับร้อง ร่ายรำ ดังนั้น โขนเป็นวัฒนธรรมที่เป็นมรดกสำคัญ มีจารีตประเพณีมากมาย รวมถึงผู้แสดงโขน ในอดีตนั้น จะเป็นกลุ่มมหาดเล็ก หรือมีตำแหน่งหน้าที่ในราชการ เพราะโขนต้องมีการฝึกฝน ตั้งแต่เด็ก และใช้ระยะเวลาฝึกกว่า 10 ปี หรือยาวนานกว่านั้น ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงที่มีจารีต ผู้เรียน ผู้ฝึกฝนดังนั้น การเรียนโขนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

“โขนเป็นศิลปะสาธารณะ ที่ทุกคนมีสิทธิ์นำไปใช้ประโยชน์ แต่ทั้งนี้ ต้องเข้าใจบริบทของเนื้องาน สถานที่ที่นำไปใช้ และสิ่งที่ต้องการนำเสนอ เพราะการแสดงโขนมีฐานานุศักดิ์ มีจารีตซ่อนอยู่ ตั้งแต่เรื่องการแต่งกาย ดนตรี เพลง ท่ารำ ซึ่งการนำโขนไปใช้ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งก่อนจะทำอะไรลงไป ควรมีการปรึกษาผู้รู้ จะได้ทำอย่างถูกต้อง สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้โทษว่าคนที่ทำผิด แต่เขาอาจขาดความรู้ เช่น ในปีนี้ การพิจารณาเรื่องที่จะใช้แสดงในโขนพระราชทาน ทางคณะกรรมการได้เสนอเรื่องให้ที่ประชุมพิจารณาหลายเรื่อง แต่สุดท้าย ผมเลือกชุดพิเภกสวามิภักดิ์ เนื่องจากปีนี้ เป็นปีมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงครองราชย์ครบ 70 ปี สมเด็จพระนามเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมมายุ 84 พรรษา เราก็ต้องเลือกตอนที่เป็นมงคล ซึ่งแสดงออกถึงความจงรักภักดี เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีเรื่องจารีตในการแสดงซึ่งเป็นเหมือนกฎหมายบังคับไว้ ว่าต้องปฏิบัติอย่างไรในการแสดง เช่น เรื่องการจัดกองทัพในการแสดงนั้น กองทัพยักษ์จะต้องอยู่ด้านซ้าย ส่วนกองทัพพระรามอยู่ด้านขวา ไม่สามารถสลับได้ เนื่องจากซ้ายเป็นสัญลักษณ์ฝ่ายอธรรมะ ขวา เป็นฝ่ายธรรมะ เป็นต้น”นายประเมษฐ์ กล่าว

นายประเมษฐ์ กล่าวต่อไปว่า แวบแรกที่เห็นมิวสิกวิดีโอ เที่ยวไทย ฮาเฮ รู้สึกตลก เพราะไม่ใช่คนสมัยเก่าที่ไม่สามารถรับอะไรใหม่ๆได้ แต่รู้สึกว่าคนทำไม่เข้าใจในบริบท หรือแค่อยากทำซึ่งเป็นสิ่งน่ากลัว เพราะอะไรก็ตามที่เป็นศิลปวัฒนธรรม การนำไปใช้ต้องเข้าใจ หากไม่เข้าใจจะเกิดผลและเป็นกระแสเช่นที่เป็นอยู่ คือ ผู้รู้จริงต่อต้านขึ้นมา 

ทั้งนี้ไม่ได้สอนเด็กให้เชื่อในเชิงไสยศาสตร์ว่า หากทำไม่ถูกต้องแล้วครูบาอาจารย์จะลงโทษ ซึ่งในความรู้สึกลึกๆแล้วมี แต่สิ่งที่ทำค่อนข้างสงสารเพราะไม่เข้าใจบริบทศิลปวัฒนธรรมอย่างท่องแท้ อย่างไรก็ตามในอดีตหากพูดถึงองค์ประกอบของการแสดงในบางตอนที่ไม่สมควรแสดงแล้วนำไปแสดงก็เกิดผล อย่างในสมัยรัชกาลที่ 6 เคยมีการเล่นโขนตอนทศกัณฐ์ล้ม คือตาย ซึ่งผู้เล่นเป็นผู้ที่มียศฐาบรรดาศักดิ์ จากนั้นไม่ได้พบว่าผู้เล่นต้องประสบเคราะห์กรรมจนถึงบั่นปลายชีวิต ทั้งนี้ วิดีโอ ที่เกิดขึ้นอยากให้สังคมเป็นผู้ตัดสินว่าการนำไปใช้เช่นนี้เป็นการอนุรักษ์และเผยแพร่หรือไม่ ส่วนตัวขอไม่ตอบเพราะตนไม่เป็นผู้ให้คุณให้โทษกับใคร

นางรัจนา พวงประยงค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงละครนาง (นาฏศิลป์ไทย-ละคร)กล่าวว่าในฐานะที่เป็นเด็กนาฏศิลป์ ขอยืนยันว่าไม่ใช่นักอนุรักษ์หัวโบราณ เพราะถ้าเป็นหัวโบราณ นิสิตนักศึกษาคงไม่เข้ามาเรียน แต่เป็นนักสร้างสรรค์ที่อยู่ในจารีตของความเป็นนาฏศิลป์ ซึ่งโขน เป็นศิลปะชั้นสูงที่รวมทั้งวรรณกรรม วรรณคดี เครื่องแต่งกาย ดนตรี และการขับร้อง เป็นศิลปะที่ไม่เหมือนศิลปะรูปแบบอื่น และต้องใช้เวลาเรียนค่อนข้างนาน 

อย่างไรก็ตาม ขอฝากไว้ว่า กว่าจะเป็นครูนาฏศิลป์ ได้ เป็นเรื่องยากลำบาก เพราะศิลปะที่เรื่องที่ค่อนข้างหวง แต่ไม่ใช่หวงจนติดอยู่ข้างฝาแล้วดึงออกมาไม่ได้ แต่ต้องมองให้ลึกมองให้ถูก และเข้าใจนาฏศิลป์เป็นศิลปะชั้นสูงแต่แตะต้องได้

นายธีรภัทร์ ทองนิ่ม ผู้ช่วยอธิการบดีสบศ. กล่าวว่า โขนเป็นศิลปะชั้นสูง เอาไปทำเล่นๆ ง่ายๆ ไม่ได้ เพราะโขนมีระบบระเบียบ ขั้นตอน จารีตมากมาย และผู้แสดงจะต้องมีจรรยาบรรณ ซึ่งเชื่อว่าทุกอาชีพมีจรรยาบรรณที่เกิดจากการปลูกฝัง การสร้างสามัญสำนึกในตัวบุคคลและการกระทำ ที่ทุกคนต้องจำและนำไปปฏิบัติ เมื่อคนเราปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ สิ่งที่เลวร้ายก็จะไม่เกิด 

ดังนั้น โขนเป็นมรดกชาติที่คนไทยทุกคนจับต้องได้ แต่ผู้แสดงต้องมีจรรยาบรรณ มีวิจารณญาณ ต้องนำไปใช้ได้อย่างถูกที่ถูกทาง ถ้าไม่เข้าใจ ให้ถามผู้รู้ ทั้งสบศ.กรมศิลปากร หรือกระทรวงวัฒนธรรม มีผู้รู้หลายท่านที่จะให้ความรู้ เกี่ยวกับมรดกของชาติ ไม่ใช่เฉพาะโขน อยากให้รู้กาลเทศะในการใช้ และคำนึงสิ่งที่จะตามมาถ้าไม่รู้และทำ ก็เหมือนดาบสองคม

ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงความคืบหน้าในการตัดต่อมิวสิกวิดีโอ เที่ยวไทยมีเฮ ใหม่ นายธีรภัทร์ กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมหารือร่วมกับดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้มีข้อสรุปร่วมกันว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขวิดีโอดังกล่าวใหม่ โดยตัดตอนที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ หยอดขนมครก ขี่โกคาร์ดท ขี่บาบาน่าโบ๊ท และขี่ม้าบนชายหาด ส่วนหน่วยงานใดจะรับผิดชอบนั้น เชื่อว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะแนะ ปรึกษาแน่นอน