“ส้มฝากนาย” นักสร้างความต่างในน่านน้ำสีส้ม

“ส้มฝากนาย” นักสร้างความต่างในน่านน้ำสีส้ม

ธุรกิจRed Ocean ที่เต็มไปด้วยคู่แข่ง น้อยคนจะอยากร่วมวงในสนาม แต่กับหนุ่มผู้หลงใหลในรสส้ม เขาพร้อมลงแข่ง ถ้าเชื่อว่าสามารถทำสิ่งที่ดีกว่าได้

น้ำส้มแท้ ผสมเนื้อส้ม “เต็มปากเต็มคำ” ในบรรจุภัณฑ์และผิวสัมผัสคล้ายกับผลส้ม สะท้อนความต่างจากน้ำส้มที่มีอยู่ในตลาด

นี่คือ “ส้มฝากนาย” แบรนด์น้ำผลไม้น้องใหม่ จาก “เอก-ธิติ พัววรานุเคราะห์” กรรมการผู้จัดการ วัย 32 ปี แห่ง บริษัท เก้าหมิง กรุ๊ป จำกัด ผู้มีดีกรี วิศวกรรม คอมพิวเตอร์ ม.เกษตรศาสตร์ และโทบริหารธุรกิจ จากเอแบค ผ่านประสบการณ์ทั้งงานประจำและฟรีแลนซ์ โดยเป็นที่ปรึกษาระบบ Software ด้านบริหารโครงการมาหลายปี

วันนี้เขาคือผู้ประกอบการเต็มตัว มีแบรนด์ “ส้มฝากนาย” เป็นบทพิสูจน์ ด้วยจุดเริ่มต้นของความคิดก็แค่ ชอบน้ำส้ม ส้มดีๆ หาทานยาก ในตลาดยังไม่มีรสชาติที่ถูกใจ และส้มเป็นน้ำผลไม้สากลที่คนกินกันทั่วโลก!

“น้ำส้มในตลาดมีอยู่เยอะมาก ใครก็บอกว่าส้มแท้ แต่พอดื่มก็รู้สึกทันทีว่า ยังไม่ใช่ ไม่ได้รสชาติแบบที่ต้องการ อย่างเรื่องสีเอง ผมเรียนวิทยาศาสตร์ อยู่ในห้องเคมี ก็พอดูออกว่า พวกที่สีสดๆ สีเท่ากันตลอดทั้งขวด แบบนี้ใส่สีมาแน่ๆ แค่รู้สึกว่า ลูกค้ายังไม่มีทางเลือก” เขาบอกความเชื่อ

คนหนุ่มไม่ยอมจำนนให้กับตัวเลือกที่มีในตลาด แต่มุ่งมั่นถึงขนาดลงไปศึกษาหาข้อมูล เข้าหานักวิจัย โดยยอมแบกส้มเป็นร้อยๆ โล นั่งคั้นด้วยมืออยู่ครึ่งวัน เพื่อให้ ม.เกษตรศาสตร์ ช่วยวิจัยให้ ตามรอยหนังดัง “วัยรุ่นพันล้าน”

ทว่าผ่านไป 2 เดือน กลับได้คำตอบที่ “เฟล” เพราะให้ผลแค่เก็บรักษาน้ำส้มไว้ได้ ไม่เน่าเสีย แต่รสชาติดันเปลี่ยน ไม่ตอบโจทย์เขา เป็นคนอื่นคงถอดใจไปแล้ว แต่ธิติกลับเดินหน้าต่อ โดยเอาโจทย์ที่เพิ่มขึ้นไปให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ช่วยไขคำตอบให้ และใช้เวลาวิจัยอยู่อีกเป็นปี

“ตอนแรกเขาบอกว่า ไม่ค่อยอยากวิจัยให้หรอก เพราะรายเล็กๆ ส่วนใหญ่วิจัยไปสุดท้ายไม่ได้ทำออกมาขายจริง ผมเลยบอกว่า เอาอย่างนี้ ถ้าที่นี่ให้โอกาสผมวิจัย อีก 6 เดือน หลังจากนี้ รอซื้อน้ำส้มผมได้เลย” เขาประกาศความตั้งมั่น

และไม่ได้ผิดคำพูดนั้น เมื่อระหว่างทางของการวิจัย คนหนุ่มก็เริ่มทำน้ำส้มออกมาขาย โดยเนรมิตโรงจอดรถในบ้านเป็นโรงงานเล็กๆ  เริ่มทำตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย ขายน้ำส้มเดลิเวอรี่ส่งถึงบ้าน และออกงานอีเว้นต์ เพื่อทดสอบตลาดของเขา

ลูกค้าหลักในช่วงเริ่มต้น คือกลุ่มสาวออฟฟิศ ที่ยอมควักเงินระดับ 50 บาท ต่อขวด ให้กับน้ำส้มรสชาติดี รวมถึง ออเดอร์จากองค์กรที่มีงานจัดเลี้ยง จัดประชุมอยู่บ่อยๆ ชนิดเคยขายได้สูงสุดวันละเป็นพันขวดมาแล้ว

ผลจากการทดลองตลาด ทำให้รู้ปัญหาในธุรกิจนี้ หนึ่งในนั้นคือ ฤดูกาลของส้ม ที่เมื่อไรหมดฤดู ส้มหายาก รสชาติก็จะเปลี่ยนไปด้วย ส่งผลต่อความอร่อยๆ ของน้ำส้ม นั่นจึงเป็นที่มาของการบริหารจัดการเรื่องผลผลิต โดยมาวางแผนเสาะหาส้มในสวนทั่วประเทศ ที่ให้ผลผลิตส้มในฤดูกาลที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้ของไม่ขาด และไม่เสียรสชาติความอร่อยแบบส้มๆ

เสียงของลูกค้า นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยจากขายน้ำส้มเพียวๆ ก็พบว่า ลูกค้ายอมจ่ายแพงกว่าให้กับน้ำส้มที่มีเนื้อส้มเป็นคำๆ และให้คุณค่ากับบรรจุภัณฑ์ที่ดีไซน์ดีด้วย

“เราพบว่า พอทำน้ำผสมเนื้อส้มออกมา แบบน้ำอย่างเดียวขายไม่ได้เลย เพราะคนรู้สึกว่า การมีเนื้อพิเศษกว่า และเขาชอบขวดที่เป็นรูปส้ม ชนิดที่ ถ้าไม่ใส่ก็ไม่ซื้อ ทำให้รู้เลยว่า แพคเก็จจิ้งมีผลต่อการตัดสินใจของเขามาก”

หนึ่งปีผ่านไป หลังงานวิจัยเสร็จ ทุกคนคงคิดว่า ความพยายามของเขาคงสิ้นสุดลงแล้ว แต่คนหนุ่มกลับใช้เวลาอีกถึง 6 เดือน วิจัยต่อยอดด้วยตัวเอง เพื่อไม่ใช่ให้ได้แค่ รสชาติที่ดี หรือดีกว่า แต่ต้อง “ดีที่สุด” เต็มความสามารถของคนอย่างเขา

จนวันนี้ตลาดก็ได้รู้จัก “ส้มฝากนาย” น้ำส้มสายพันธุ์ต่าง ในขวดแก้วรูปทรงผลส้ม ขายในโมเดิร์นเทรดของคนมีกำลังซื้อ ผู้พร้อมยอมจ่ายให้กับน้ำส้มขวดละ 58 บาท อย่าง ฟู้ดแลนด์ 18 สาขา และ วิลล่า มาร์เก็ต อีก  34 สาขา ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด จากโรงงานในโรงรถก็เปลี่ยนมาจ้างโรงงานผลิต โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตที่วันละประมาณ 2 พันขวด

วันนี้เริ่มที่น้ำส้ม แต่ในความตั้งใจเขาไม่ได้คิดปิดจ็อบแค่ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ เพราะรู้ดีว่า อายุของสินค้าที่อยู่ได้แค่ประมาณ 3 สัปดาห์ ทำให้ติดอุปสรรคในการทำตลาด โดยเฉพาะกับส่งออกยิ่งไม่มีโอกาส ในอนาคตจึงคิดที่จะทำสินค้าใหม่ๆ ออกมาด้วย โดยเน้นที่ของกิน แตกต่าง เก็บได้นาน และส่งออกได้ด้วย โดยโจทย์ในการพัฒนาโพรดักส์ก็แค่..

“คิดให้ดี คิดให้หนัก เหนื่อยทีเดียว แต่สินค้าต้องอยู่ไปได้นานๆ”

วันนี้เห็นความสำเร็จ และชื่นชมไปกับความพยายามของเขา แต่ที่ผ่านมาคนหนุ่มผ่านการทำธุรกิจ “เจ๊ง!” มาก็หลายครั้ง ทั้งเปิดร้านเสื้อผ้า และขายผลไม้ ซึ่งไม่มีโพรดักส์ของตัวเอง ได้แต่ซื้อมาขายไป จนได้บทเรียนจากการบาดเจ็บมาเป็นภูมิต้านทานให้กับเขา

“ตอนทำเสื้อผ้า ผมเรียนรู้ว่า คุณภาพของสินค้า และความมั่นคงในคุณภาพนั้นสำคัญที่สุด เมื่อไรก็ตามสินค้าเราไม่มั่นคงในแง่คุณภาพ สุดท้ายระยะยาวจะไปไม่รอด ตอนขายผลไม้ ผมเรียนรู้ว่า การทำให้ลูกค้าซื้อครั้งแรก ง่าย ก็แค่ทำของใหม่ ของแปลก แต่ที่ยากคือ ให้เขาซื้อซ้ำ เมื่อไรก็ตามที่ลูกค้าเกิดการซื้อซ้ำ นั่นเท่ากับว่า เราคือของจริงแล้ว” คนหนุ่มบอก

วันนี้ใครๆ ก็อยาก Startup ธุรกิจของตัวเอง อยากเป็นผู้ประกอบการ ไม่ต่างจากฝันของ ธิติ เมื่อหลายปีก่อน แต่พอได้มาทำคนหนุ่มกลับพบว่า ผู้ประกอบการไม่ได้สบายอย่างที่คิด ทว่าต้องใช้สมองจนกว่าจะหลับ แม้กระทั่งเสาร์ อาทิตย์ ยังต้องทำงาน ทำเอกสาร เพราะหลายงานที่สำคัญเกินกว่าจะให้คนอื่นทำแทนได้ กว่าจะได้มาแต่ละบาทก็แสนจะยากเย็น

ทว่าทำไมถึงยังทำอยู่ เพราะเขาเชื่อว่า ถ้ามองไปอีกใน 10 ปี ข้างหน้า การเป็นผู้ประกอบการจะทำให้เราอยู่ในจุดที่สบายกว่าการทำงานประจำ แต่ต้องยอมลำบากบ้างในช่วงเริ่มต้นอย่างตอนนี้

“ทุกคนอาจมีความฝันว่า อยากร่ำรวย ส่วนตัวผมเอง ไม่ได้ต้องการความร่ำรวยอะไรขนาดนั้น ไม่ต้องถึงขั้นขับรถเฟอร์รารี่ ผมแค่อยาก ไม่ต้องทำงานหนัก มีเวลาให้กับครอบครัว มีธุรกิจที่สามารถดูแลด้วยตัวเองได้ โดยไม่ต้องมีเงื่อนของเวลาในการเข้างานมากเกินไป เท่านี้ก็พอใจแล้ว” เขาบอกความฝัน

ธุรกิจจากความตั้งใจ ใช้เงินลงทุนไปประมาณ 2 ล้านบาท คนหนุ่มบอกเป้าหมายว่า วางแผนคืนทุนให้ได้ใน 1-2 ปี

เพื่อให้ “ส้มฝากนาย” เป็นธุรกิจที่แข็งแกร่ง และยืนหยัดด้วยตัวเองได้ ในน่านน้ำสีส้ม

...........................................                

Key to success

จุดต่าง "ส้มฝากนาย" ในน่านน้ำสีส้ม

๐ น้ำส้มแท้ผสมเนื้อเป็นคำๆ รสชาติอร่อย

๐ บรรจุภัณฑ์รูปผลส้ม ให้อารมณ์ของสดของแท้

๐ เจาะกลุ่มเป้าหมายคนมีกำลังซื้อ ยอมจ่ายเพื่อได้ของดี

๐ คัดสรรวัตถุดิบที่ดีตั้งแต่ในสวนส้ม

๐ บริหารจัดการผลผลิต รักษาคุณภาพตลอดทั้งปี

๐ มุ่งมั่น พยายาม เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด