มีเซียม ยิบอินซอย "งานศิลปะของฉันมีดนตรีเสมอ"

มีเซียม ยิบอินซอย "งานศิลปะของฉันมีดนตรีเสมอ"

"วันหนึ่งฉันหกล้ม นิ้วหัวแม่มือขวาหัก เป็นนิ้วที่ต้องใช้งานหนักที่สุด ฉันปั้นไม่ได้เลยนานถึงสองปี

ในช่วงเวลานั้นฉันจึงหันมาสนใจการประดิษฐ์ศิลปะด้วยเหล็ก เป็นประติมากรรมแอบบแอบสแตรกซึ่งให้ความเพลิดเพลินแก่ฉันเป็นอันมาก

มีผู้ถามฉันเสมอว่า ได้รับแรงบันดาลใจจากไหน ? ดนตรีเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่สุดของฉัน ฉันรักดนตรี...ท่วงทำนอง ...จังหวะ...และ อารมณ์ของดนตรี งานของฉันไม่ว่าจะเป็นภาพเขียนหรือประติมากรรมจึงมี ดนตรี เสมอ

ฉันไม่ได้ยึดมั่นเลยว่า งานแต่ละชิ้นจะต้องมีลักษณะเฉพาะเจาะจง เพราะฉันทำงานเพื่อสนองความปรารถนาของตัวฉันเอง ลีลาของงานปั้นจึงอาจเปลี่ยนไปมาตามอารมณ์ และสภาพแวดล้อมขณะนั้น”

เกล้ามาศ ยิบอินซอย นำข้อเขียนของคุณย่า มีเซียม ยิบอินซอย (ศิลปินชั้นเยี่ยม พ.ศ. 2494 สาขาจิตรกรรม คนแรกของประเทศไทย) ให้ฉันอ่านขณะพาเดินชมห้องจัดแสดงทางด้านหลังของตึกมีเซียม ย่านเมืองเก่าสงขลา

ภายในแกลลอรีนี้จัดแสดงผลงานประติมากรรมเหล็กขนาดไม่ใหญ่และไม่เล็กจนเกินไปนัก เกล้ามาศอธิบายว่าเป็นงานประติมากรรมที่ยังไม่เคยนำออกมาจัดแสดงที่ไหน และเป็นงานในช่วงที่ศิลปินเกิดอุบัติเหตุทำให้นิ้วหัวแม่มือขวาหัก แต่นั่นไม่ได้เป็นอุปสรรคที่ทำให้ท่านหยุดทำงานศิลปะ หากกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดผลงานประติมากรรมเหล็กชุดนี้

รูปทรงของเส้นเหล็กที่ลื่นไหลไปตามทิศทางต่างๆ บ้างเป็นเส้นหนา บ้างเรียวแหลม บ้างเหมือนดั่งบูมเมอแรงที่ซ้อนทับกันเป็นทรงกลม ทำให้ฉันย้อนคิดไปถึงข้อความที่ศิลปินเขียนไว้ ...อารมณ์ ความรู้สึก ชั่วขณะหนึ่งที่คลอเคล้าไปด้วยเสียงดนตรี และประติมากรรมเหล่านี้ก็ถ่ายทอดและบันทึกห้วงเวลานั้นเอาไว้

เกล้ามาศ กล่าวถึงจุดหักเหที่ทำให้ชีวิตแม่บ้านที่ทุ่มเทชีวิตให้กับสามีและลูก 5 คน มาสู่เส้นทางศิลปิน คือการเดินทางไปยุโรปเพื่อนำลูกสาวไปรักษาโปลิโอ อาคารบ้านเรือนทุกที่ที่ได้พบเห็นเต็มไปด้วยผลงานศิลปะ ช่วงเวลาที่อยู่ที่นั่นทำให้รู้และเข้าใจว่าศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

เนื่องจากอยากจะมีภาพวาดติดฝาผนังฝีมือตัวเอง เมื่อกลับมาเมืองไทยจึงตัดสินใจเรียนวาดรูป ตอนที่มีอายุ 42 ปี โดยมีศิลปินชาวญี่ปุ่น มูเน ซาโตมิ เป็นครูสอนวาดภาพสีน้ำมัน ขณะที่เรียนได้ 10 เดือนครูชาวญี่ปุ่นแนะนำให้ส่งผลงานจิตรกรรมภาพทิวทัศน์เข้าประกวดในงานศิลปกรรมแห่งชาติ ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2492 ปรากฏว่าได้รับรางวัลเหรียญทองมาอย่างที่เจ้าตัวไม่ได้คาดหวังไว้

ในงานประกวดศิลปกรรมแห่งชาติอีก 2 ครั้งถัดมา มีเซียมคว้ารางวัลเหรียญทอง สาขาจิตรกรรมมาได้อีกทั้ง 2 ครั้ง ทำให้ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมคนแรกของไทย

ด้านงานประติมากรรม ความสนใจเกิดขึ้นหลังจากได้รับแรงบันดาลใจงานผลงานของ ออกุส โรแดง และส่วนในบ้าน โดยมีครูศิลปะคนที่สองของมีเซียม คือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ชี้แนะ

มีเซียมใช้ชีวิตกว่า 30 ปี อุทิศให้กับงานประติมากรรม ที่จัดวางอยู่ร่วมกับต้นไม้ สระบัว และบ้านหลังเล็กที่ใช้เป็นสถานที่ชื่นชมความงามของประติมากรรมที่อยู่รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติในบั้นปลายชีวิต

  นอกจากประติมากรรมแล้ว ในตึกมีเซียม ถนนปัตตานี สงขลา ยังจัดแสดงประวัติ ภาพถ่าย เครื่องแต่งกายแบบย่าหยาของศิลปิน ณ แกลลอรีชั้นล่าง ในขณะที่ชั้นบนจัดแสดงผลงานจิตรกรรมชุดยุโรป และภาพจิตรกรรมรูปทิวทัศน์ที่ศิลปินวาดขึ้นในช่วงหลัง รวมทั้งภาพวาดรูปตนเองขณะกำลังเล่นเปียโนโดยหันหลังให้กับผู้ชม

        “งานศิลปะของฉันมีดนตรีเสมอ” คุณสัมผัสแล้วใช่มั้ย ?

หมายเหตุ : ตึกมีเซียม ยิบอินซอย เลขที่ 30-32 ถนนปัตตานี อำเภอเมือง สงขลา เปิดให้ชมจนถึง 30 ตุลาคม 2559 โดยนัดหมายล่วงหน้าที่ โทร.09 0991 0111