“โหนด” แนว-แนว

“โหนด” แนว-แนว

ขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีตาลโตนดมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยสำหรับ “สทิงพระ” อำเภอขนาดใหญ่ในจังหวัดสงขลา

ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีต้นตาลมากกว่า 5 แสนต้นเลยทีเดียว


คนไทยรู้จักต้นตาลโตนดมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะเป็นต้นไม้ที่ให้ประโยชน์ได้ตั้งแต่รากเรื่อยไปจนถึงยอด


ที่สทิงพระเองก็ใช้ประโยชน์จากตาลโตนด หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “โหนด” เหมือนกัน โดยจะนำรากตาลมาทำยาสมุนไพร ใช้ลำต้นปลูกสร้างบ้านหรือทำเครื่องเรือน ส่วนใบเอามาพับเป็นของเล่นเด็กและทำหลังคา ลูกตาลเก็บเอามากินสดหรือทำขนมได้ ที่สุดปลายยอดก็นำมาทำเป็นดอกไม้ แต่ที่เห็นจะรู้จักกันอย่างแพร่หลายก็คือ “น้ำตาล”


“เกิดมาก็เห็นพ่อแม่ขึ้นตาลแล้ว และเมื่อก่อนก็ทำตาลกินกันในครัวเรือน พอมีใครมาเยี่ยมก็ทำใส่กระบอกให้เป็นของฝาก แต่ดี๋ยวนี้เราก็ต้องพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับตาล” ดำ คล้ายสีนวล ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลโตนดบ้านคลองฉนวน ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา กล่าวถึงการฟื้นฟูการทำน้ำตาลในชุมชน


ประธานกลุ่มฯ เล่าต่อว่า ในอดีตมีการผลิตน้ำตาลโตนดในรูปของน้ำตาลก้อน น้ำตาลปี๊บ ทว่า เมื่อมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จึงมีน้ำตาลรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาลชนิดผง น้ำตาลแว่น หรือน้ำตาลแท่ง เพื่อให้สะดวกและง่ายต่อการนำไปใช้ประโยชน์


“น้ำตาลราคาถูกลงเราเลยต้องหาหนทางใหม่ๆ ซึ่งพอทำเป็นผงเป็นแว่นก็ขายได้ดี อย่างที่เป็นแว่นก็ใช้แว่นที่ทำมาจากใบตาล ส่งเสริมให้คนเฒ่าคนแก่เขาทำยามว่าง เขาทำแว่นมาขายเราก็รับซื้อไว้ทั้งหมด ตอนนี้มีกลุ่มคนแก่ทำอยู่ประมาณ 30 คนได้ แล้วก็กำลังจะพัฒนาต่อเพราะเดี๋ยวนี้มีร้านกาแฟเยอะ เราก็จะทำรูปแบบใหม่ให้เป็นไซรัปเพื่อใช้ชงกับกาแฟ ซึ่งพอเราคิดรูปแบบใหม่ๆ แบบนี้น้ำตาลโตนดก็มีราคาขึ้น แถมยังเพิ่มกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ขึ้นมาด้วย” ประธานกลุ่มฯ เล่าอย่างภูมิใจ


ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอาจทำให้ต้นตาลโตนดในหลายพื้นที่ถูกลดความสำคัญลง ทว่า ในอำเภอสทิงพระยังคงรักษาสภาพความหนาแน่นของตาลโตนดไว้ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญยังมีการปลูกเพิ่มขึ้นทุกปีๆ นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องดีๆ ที่ทำให้โลกใบนี้ยิ้มได้