ไขคดีข้าว! ร้อนอ้าวในวันฝนพรำหลังประยุทธ์งัดม.44

ไขคดีข้าว! ร้อนอ้าวในวันฝนพรำหลังประยุทธ์งัดม.44

วันฝนพรำ14ก.ย.แต่อุณหภูมิกลับร้อนอบอ้าวขึ้นมาโดยทันที หลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้คำสั่งม.44ให้อำนาจกรมบังคดีดำเนินการตามคำสั่งทางปกครอง

คำสั่ง 56/2559 เรื่อง การคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐ และการดำเนินการต่อผู้รับผิด เพื่อให้กรมบังคับคดีสามารถดำเนินการยึดทรัพย์ได้เลยใช่หรือไม่ ถ้ามีคำสั่งทางปกครองออกมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ให้คำสั่งทางปกครองออกมาก่อน ไม่ใช่ใช้คำสั่งมาตรา 44 เพื่อยึดทรัพย์เขา บอกให้เข้าใจตรงกันว่าเมื่อมีผลสรุปออกมาแล้ว มีมติออกมาแล้ว ก็ดำเนินการการยึดทรพย์ซึ่งกระทรวงพาณิชย์รู้อยู่แล้วว่า เขาไม่มีขีดความสามารถในการยึดทรัพย์ตรงนี้ ซึ่งคำสั่งมาตรา 44 ตนเพียงแต่ให้กรมบังคับคดีเข้าไปดำเนินการในส่วนนี้อย่าไปบอกว่าใช้มาตรา 44 ไม่ใช่ ตนไม่ทำอย่างนั้นอยู่แล้วจะผิดจะถูกคณะกรรมการเขาสอบสวนมาก็ตามนั้นขณะเดียวกันทางคดีอาญาก็ว่ากันต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง เป็นคนละเรื่อง

แม้นายกฯและรองนายกวิษณุ ยืนยันตรงกันว่าไม่ได้ใช้ม.44 เพื่อยึดทรัพย์ แต่เป็นการใช้ม.44 เพื่อทำให้กระบวนการทางกฎหมายทำงานได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ที่ต้องถูกเรียกค่าเสียหายหรือจำเลยในคดีโครงการจำนำข้าว อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร พูดตอกย้ำเสมอมาว่าการใช้ม.44 ในการดำเนินการเรื่องนี้ไม่เป็นธรรม และควรให้ศาลอาญาตัดสินคดีที่ฟ้องอยู่ในศาลก่อน

ความสับสนในเนื้อหาสาระของประเด็นนี้จึงเกิดขึ้น หากพูดกันสั้นๆก็ต่างคนต่างเข้าใจ เพราะฝ่ายผู้เสียหายก็จะบอกว่าใช้อำนาจไปรังแก แต่ฝ่ายใช้อำนาจก็ยืนกรานว่าไม่ได้ใช้อำนาจดังที่ว่าเพียงแต่สิ่งนี้(การยึดทรัพย์)ขนาดนี้ ในคดีแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อน มีเพียงแต่กฎหมายความรับผิดการละเมิดเจ้าหน้าที่ปี 2539 ที่เป็นธงใหญ่เท่านั้น ซึ่งกฎหมายนั้นใช้บังคับมากับเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ยึด อายัด เรียกชดใช้สินไหมกัน 2 ล้านบาทบ้าง 5 ล้านบาทบ้าง แต่ที่ต้องยึดหมื่นล้าน แสนล้านนี่ไม่เคย

เมื่อไม่เคยแต่ละกระทรวงส่วนใหญ่ ไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายนี้ หรือเรียกว่าไม่มีการตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับคดีให้เป็นไปตามความรับผิดทางละเมิด เมื่อไม่มีก็ต้องตั้งขึ้นใหม่ แต่คำถามคือว่าถ้าไม่ใช้ม.44 เพื่อตั้งขึ้นใหม่หรือให้อำนาจกรมบังคับดคีทำ สามารถทำได้มั้ย คำตอบคือ บังคับคดีได้ แต่อาจล่าช้า ทำได้ เช่น สำนักนายกฯร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามพรบ.ความรับผิดทางละเมิดปี 2539 ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือตั้งให้กรมบังคับคดีดำเนินการในคดีความเสียหายแบบนี้ แล้วส่งประากศนั้นเข้าครม.เห็นชอบ นายกฯเห็นชอบโดยให้กฤษฎีกาปรับปรุงถ้อยคำแล้ว ส่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา อันนี้เป็นทางหนึ่ง

อีกทางผู้เรียกค่าสินไหมฟ้องต่อศาลปกครอง โดยเหตุว่าบัดนี้มีความผิดตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่เกิดขึ้นแล้ว มีค่าเสียหายตัวเลข....แต่มีเหตุขัดข้องไม่สามารถบังคับคดีให้ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมได้ จึงขอให้ศาลปกครองพิจารณา ซึ่งหลังจากนั้นเป็นดุลพินิจของศาลในการตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย

แต่การเลือกใช้ม.44 หากดูกันผิวเผิน หรือแปลความออกไปสู่ต่างประเทศ โดยไม่ระมัดระวังหรือใส่เนื้อหาสาระไม่ครบ โอกาสสูญเสียของรัฐบาลมีสูง เพราะจะถูกตีความว่ามีการใช้อำนาจพิเศษไปรังแกฝ่ายตรงข้าม โดยลัดขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่าต่างประเทศหรือนานาชาติไม่ยอมรับการใช้อำนาจพิเศษในลักษณะนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำเพื่อให้ถูกต้อง ตรงไปตรงมาหรือไม่ก็ตาม และฝ่ายจำเลยอาจหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นต่อสู้ในศาลในคดีอาญาที่กำลังพิจารณากันอยู่หมิ่นเหม่ที่จะตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำได้

คราวนี้หลังจากใช้ม.44 ดำเนินการแล้ว ต่อไปคดีเรื่องข้าวจะเป็นอย่างไร 1.กรณีจีทูจี รัฐมนตรีพาณิชย์ต้องลงนามคำสั่งทางปกครอง ซึ่งขณะนี้มีความพยายามที่จะลากดึงให้ปลัดกระทวงพาณิชย์เข้ามาเซ็นชื่อในฐานะแทนรมต.พาณิชย์ ส่วนรมต.พาณิชย์เซ็นในฐานะแทนนายกฯ (อันที่จริง รมต.พาณิชย์เซ็นทั้ง2ช่องถูกต้องที่สุด) สมมติว่าเซ็นแล้วก็ส่งหนังสือคำสั่งทางปกครอง แยกแยะความเสียหายที่ต้องชดใช้ ไปยังผู้กระทำละเมิดทั้ง 6 คน ทั้งนักการเมือง 3 คน ข้าราชการ 3 คน หลังผู้เสียหายรับทราบหนังสือแล้วไม่มีการดำเนินการใดใดหรือเพิกเฉย ต้องส่งหนังสือเตือนไปอีกครั้งหนึ่งภายใน 7 วัน ถ้าหลังจากนั้นยังเพิกเฉย ก็เข้าสู่กระบวนการยึด อายัดทรัพย์ได้

แต่หากผู้กระทำละเมิดเห็นว่า คำสั่งเรียกมาเท่านั้นเท่านี้ ไม่เป็นธรรมไม่ถูกต้อง ก็ไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้ยกเลิกเพิกถอนคำสั่งเรียกเสียหายดังที่ว่าได้ ต้องกระทำภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง ถ้าไปยื่นศาลแล้ว ศาลไม่รับฟ้อง ก็เข้าสู่กระบวนการยึดอายัด แต่ถ้าศาลรับคดีไว้ ก็เข้าสู่กระบวนการไต่สวนและศาลจะเป็นผู้พิจารณาออกคำสั่งให้ชดใช้หรือยกฟ้องก็ได้ แล้วแต่ดุลพินิจของศาล

2.คดีจำนำข้าวอดีตนายกฯผู้ต้องชดใช้ ก็ทำเหมือนกันในขั้นตอนนี้ เพียงแต่ตอนนี้คณะกรรมการความรับผิดทางแพ่ง กระทรวงการคลัง ที่ไปคิดค่าเสียหาย ยังไม่ส่งเรื่องกลับมาว่าคิดค่าเสียหายเท่าใด ซึ่งตัวเลขที่เป็นข่าว ผิดเพี้ยนไปจากคราวคณะกรรมการความรับผิดทางละเมิดของสำนักนายกฯอยู่มาก โดยคิดค่าเสียหายเพียง 3 โครงการ นับตั้งแต่สตง.ส่งหนังสือเตือนไป เหลือตัวเลขประมาณ 1.7 แสนล้าน และคิดให้อดีตนายกฯต้องจ่ายเพียง 20 % ตกประมาณ 3.5 หมื่นล้าน ซึ่งมีประเด็นที่ต้องพิจารณาตามมาว่า คณะกรรมการของคลังคิดออกมาได้อย่างไร และตัวบทกฎหมายใดรองรับ เพราะกฎหมายความรับผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ ปี 2539 กำหนดไว้ชัด ถ้ามีผู้กระทำผิดร่วมให้เฉลี่ยความเสียหายเป็นรายบุคคล ตามฐานความผิดและความเสียหาย แต่กรณีอดีตนายกฯเป็นการกระทำละเมิดรายเดียว ปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งความเสียหาย จึงไม่มีผู้กระทำละเมิดร่วม และหากคิดอดีตนายกฯเพียง 20 % ที่เหลืออีก 80 % คือใคร ? ที่ต้องจ่ายค่าสินไหม เพราะกฎหมายกำหนดว่าต้องรู้ตัวผู้กระทำละเมิด จะไปเหวี่ยงแหเอาไม่ได้

โครงการจำนำข้าว การดำเนินคดีเรื่องข้าว เป็นการพิสูจน์อำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ว่ายังคง Strong เพียงพอหรือไม่ สังเกตได้จากความแปร่งๆของการเรียกรับผิดทางละเมิด อารมณ์ข้าราชการประจำ กล้าๆกลัวๆ กลุ่มอำนาจเก่าหวนคืนเวทีแล้วจะถูกไล่ล่าเช็กบิล

คดีข้าวเป็นเดิมพันที่สูงเกินไปและสะเทือนเกินไปกับทั้ง 2 ฝ่าย

ซึ่งหาบทสรุปได้ยากจริงๆ