'วิษณุ'ชี้'ม.44'ให้อำนาจ 'กรมบังคับคดี'ยึดทรัพย์จำนำข้าว

'วิษณุ'ชี้'ม.44'ให้อำนาจ 'กรมบังคับคดี'ยึดทรัพย์จำนำข้าว

"วิษณุ" แจง งัด "ม.44" ให้อำนาจกรมบังคับคดี ยึดทรัพย์จำนำข้าว ยกเหตุลำพังให้กระทรวงทำไม่ไหว ระบุตัวเลขมูลค่าสูง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 56/2559 เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐ และการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด ว่า ก่อนหน้านี้ได้คุ้มครองแล้ว แต่คำสั่งดังกล่าวเป็นการเพิ่มพืชอีก 2 ชนิด คือ มันสำปะหลัง และข้าวโพด ส่วนการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีนั้น เป็นไปตามที่ได้บอกไว้ว่าจะไม่มีการใช้มาตรา 44 ตัดสินความผิดแล้วยึดทรัพย์เป็นอันขาด ทุกอย่างจะเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติอย่างที่เคยมีมา แต่ติดตรงที่การจะออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องข้าวนั้น ในกรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ กับพวก ซึ่งหลักการปกติเป็นหน้าที่ของกระทรวงต้นสังกัดที่รับผิดชอบที่ต้องยึดทรัพย์กันเอง แต่ครั้งนี้เป็นการยึดทรัพย์จำนวนมาก ทางกระทรวงจึงออกปากบ่นว่าไม่มีคน และหากยึดมาได้ไม่มีที่จะเก็บ จึงต้องให้กรมบังคับคดีเข้าไปจัดการ ดังนั้น จึงต้องใช้มาตรา 44 กำหนด แต่ไม่ใช่ว่าใช้มาตรา 44 ไปยึดทรัพย์ แต่ยึดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ.2539 ที่เปลี่ยนจากกระทรวงมาเป็นกรมบังคับคดี ส่วนจะยึดได้มากหรือน้อยเพียงใดเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การยึดทรัพย์นายบุญทรง กับพวก งวดเข้ามาแล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้น เพราะยังไม่ถึงขั้นออกคำสั่งในเวลานี้ และเมื่อออกคำสั่งแล้วจะต้องดูว่าจะมีการอุทธรณ์หรือไม่ หากเป็นคำสั่งของรัฐมนตรีจะไม่สามารถอุทธรณ์ได้ เรื่องจึงจะไปที่ศาลปกครองเลย และหากศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราวการยึดจะไม่เกิดขึ้น แต่จำเป็นต้องตั้งเจ้าหน้าที่เอาไว้ เพราะเมื่อรู้ผลของคดีแล้วจะมีการยึดทรัพย์จริง กรมบังคับคดีจะเป็นผู้ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม การออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ไม่มีผลต่อการพิจารณาของศาลปกครอง เพราะศาลปกครองจะดูในส่วนเหตุของการรับผิด และการรับผิดนั้นเป็นมูลค่าความเสียหายตามเวลาขณะนั้นหรือไม่ รวมทั้งดูวิธีพิจารณาอื่นๆ เช่น การตรวจสอบ ไต่สวน เป็นธรรมหรือไม่

“นี่เป็นบทเรียน ถามว่าทำไมพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ ถึงไม่ได้กำหนดหน่วยงานที่จะยึดทรัพย์ไว้ นั่นเพราะคิดว่าหน่วยงานใครหน่วยงานมันให้ยึดทรัพย์กันเอาเอง ไม่คิดว่าชาตินี้จะมีการยึดอะไรใหญ่โตมโหฬาร เพราะลำพังแค่ 10 – 20 ล้าน เขายึดได้ แต่เรื่องข้าวนั้นเป็นการยึดค่าเสียหาย ซึ่งต้องดูละเอียดมาก มืออาชีพมีอยู่แค่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กับกรมบังคับคดี แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการฟอกเงิน จึงไม่ใช่หน้าที่ของปปง. เพราะชื่อกรมบังคับคดีก็บอกแล้วว่ามีหน้าที่ไปยึดทรัพย์ แม้จะมีคนบอกว่ามีอำนาจยึดทรัพย์เฉพาะที่ศาลสั่ง ถ้าหัวหน้าคสช.สั่งจะตกไป เราจึงออกมาตรา 44” นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ที่เอาผิดผู้คุมนโยบายก่อน เพราะผู้คุมนโยบายถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลก่อน ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องรัฐบาลได้ดำเนินการอยู่ ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และเอกชน ส่วนการเรียกค่าเสียหายกับผู้ควบคุมนโยบายแทรกแซงมันสำปะหลัง และนโยบายแทรกแซงข้าวโพด ไม่ทราบว่าเรื่องไปถึงไหน เพราะไม่เหมือนกับโครงการรับจำนำข้าว แต่จะหนักไปตรงที่นำผลิตภัณฑ์การเกษตรเข้ามาและเกิดความเสียหาย เนื่องจากระบายไม่ทัน อย่างค่าเสียหายในนโยบายแทรกแซงมันสำปะหลังจะอยู่ที่ 300 – 400 ล้านบาทเท่านั้น