นายกฯลั่นรบ.ยกนโยบาย 'ปราบโกง' ให้เป็นวาระแห่งชาติ

นายกฯลั่นรบ.ยกนโยบาย 'ปราบโกง' ให้เป็นวาระแห่งชาติ

"พล.อ.ประยุทธ์" ย้ำรัฐบาล ชู “ปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น” เป็น “วาระแห่งชาติ” ทำจริงจัง เชิงรุก ลั่นคนโกงรายเก่าต้องหมดไป-รายใหม่ต้องไม่เกิด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุข ถึงการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.)ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้เพิ่มอำนาจหน้าที่ของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) นับเป็นกลไกใหม่ ในแต่ละทุกกระทรวง มีหน้าที่ประสานงาน เร่งรัด กำกับและติดตาม ให้รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนในกำกับของกระทรวง ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ รวมทั้งติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้วย โดยต้องทำงานประสานสอดคล้องกับ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) – คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) – คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลนี้ ถือว่าการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็น “วาระแห่งชาติ” การดำเนินการทุกอย่าง ต้องมิใช่เป็นเพียงแนวนโนบาย หรือเป็นแผนในกระดาษ แต่ต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม ในทุกระดับ และมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก 3 ปีที่ผ่านมา (2556 – 2558) ปัญหาการทุจริต พบความเสียหายในหน่วยงานรัฐ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มากกว่า 200 เรื่อง คิดมูลค่าความเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท วันนี้รัฐบาลนี้ทำให้สถานการณ์การทุจริตลดลงอย่างชัดเจนตามผลสำรวจของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index : CPI) เกือบ 180 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2556 – 2558 ซึ่งอันดับของประเทศไทยดีขึ้นทุกๆ ปี อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 ก่อนที่รัฐบาลนี้ และ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 102 ปัจจุบันอยู่อันดับที่ 76 ซึ่งดีขึ้น” เกือบ 30 อันดับ

หัวหน้าคสช. กล่าววว่า สำหรับเป้าหมายสำคัญในการปราบปรามการทุจริตของ รัฐบาลคือ “คนโกงรายเก่าจะต้องหมดไป คนโกงรายใหม่ต้องไม่เกิด และไม่เปิดโอกาสให้มีการโกง ในทุกวงการ” เพราะเราต้องทำงานเชิงรุก ป้องกันตั้งแต่ต้นทางปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ จำนวน 258 รายดำเนินการทางวินัยของต้นสังกัดแล้วเสร็จ จำนวน 62 ราย มีผลทางวินัยให้ไล่ออก 8 ราย พ้นจากตำแหน่ง 25 ราย ที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบหน่วยงานด้านปราบปรามทุจริต เพื่อความรอบคอบและรัดกุมอย่างไรก็ตาม ผมมีความห่วงใยเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ซึ่งบางทีไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือไม่ได้รู้เห็นกับการทุจริต แต่ต้องทำงานตามนโยบาย ตามคำสั่ง ไม่กล้าปฏิเสธ เนื่องจากเป็นผู้น้อย หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงสั่งการในที่ประชุม คตช. ให้พิจารณาหากลไกที่เหมาะสมในการให้ความเป็นธรรม แก่เจ้าหน้าที่ระดับล่างเหล่านั้น

พล.อ.ประยุทธ กล่าวว่า การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศ ต้องพิจารณาเป็นระบบ ครบวงจร อาทิ สภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน ซึ่งโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง และสมัยใหม่เป็นเสมือน “ดาบ 2 คม” โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ ฝ่ายที่จ้องกระทำผิด สรรหาเครื่องมืออุปกรณ์สมัยใหม่ ที่มีราคาสูง ส่วนฝ่ายปราบปรามต้องปรับปรุง พัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งก็จำกัดด้วยงบประมาณ ดังนั้น กลไกที่มีศักยภาพ คือ “ประชาชนทุกคน” ที่เป็นเจ้าของประเทศ ต้องเป็นหู เป็นตา ร่วมมือกัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนปัจจัยภายในและภายนอกนั้นมีพื้นฐานต่างกัน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมความไม่รู้จักพอเพียง ความโลภของมนุษย์ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่สมดุลกับความเจริญทางสังคม เกิดเป็นสังคมบริโภคนิยม-วัตถุนิยม เต็มไปด้วยการแย่งชิงทรัพยากรไม่เกื้อกูลกัน เป็นโลกแห่งการแข่งขัน เสรี ตามหลักการประชาธิปไตยสากล – ตะวันตก อย่างไรก็ตาม ในอดีตสังคมไทย เน้นคุณธรรม จริยธรรม แต่ปัจจุบันให้ความสำคัญน้อยลง เป็นไปตามกลไกของโลกใบนี้ที่เปลี่ยนแปลงไป เอากลับมาที่เดิมด้วย

หัวหน้าคสช. กล่าวว่า การแก้ปัญหาทุกเรื่องนั้น ต้องเริ่มต้นจากจิตใจจิตสำนึกของแต่ละคน ครอบครัว โรงเรียน ชุมนชน สังคม และประเทศชาติ เป็นโอกาสและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เน้นสร้างการรับรู้ อย่างกว้างขวาง ให้ความสำคัญกับการศึกษาทั้งในระบบ ทั้งการเรียนรู้จากสังคม ชมชน และให้มีการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน ไม่ว่าเด็ก วัยรุ่น ผู้สูงอายุ สรุปคือ ต้องแก้เรื่องนี้ด้วยจิตใจ ด้วยค่านิยม คุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาล แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเกิดจากใจทุกคน องค์กร เพราะฉะนั้น เราจะทำยังไงให้ง่ายที่จะปลูกฝัง ปลุกเร้าแรงกระตุ้น แล้วก็ไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับเรื่องอื่นๆ เข้าใจหลักการและเหตุผล

“หลายคนต้องการให้ใช้กฎหมายอย่างรุนแรง บางทีใช้กฎหมายอย่างเดียวก็ไม่สำเร็จ เพราะเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ทำยังไงคนไม่ดี จะทำให้เป็นคนดี ดีน้อย ก็เป็นดีมาก ทำได้อย่างไร บางคนทุจริตเพราะคิดว่าจำเป็น เป็นหน้าตาในสังคม เป็นความต้องการของครอบครัว บางคนทุจริต เพราะความไม่รู้จักพอเพียง รวยแล้วรวยอีกนะครับ โดยอ้างความจำเป็นในการเลี้ยงตนเอง หรือครอบครัว บางคนทุจริตด้วยเจตนา ไม่รู้จักเพียงพอนะครับ เพราะฉะนั้นต้องไปพิจารณาว่าเราจะมีมาตรการอย่างไร ที่เหมาะสมที่จะตอบโจทย์เหล่านี้ได้ เพราะมีเป้าหมายหลายกลุ่ม สื่อ-โซเชียลยุคใหม่ ต้องหันกลับมาดูสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่เสนอแต่เพียงเรื่องของการลงโทษ คงต้องมาสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ สร้างจิตสำนึกนะครับ อันนี้เป็นหน้าทีของสื่อที่ต้องช่วยอยู่แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว