แก่นแท้ของปาร์กัวร์

แก่นแท้ของปาร์กัวร์

ถ้าคุณเคยเห็นคลิปคนเล่นปาร์กัวร์หรือฟรีรันนิ่งแล้วคิดว่าเป็นเกมส์อันตรายของวัยรุ่นเกรียน ๆ ก็ขอบอกว่าคุณอาจต้องคิดใหม่

               เพราะที่จริงแล้วปาร์กัวร์มีแก่นแท้ที่ลึกกว่านั้น ไม่ใช่เพียงกีฬาผาดโผน แต่คือการพัฒนาศักยภาพของตัวเองซึ่งคนทุกเพศทุกวัยก็สามารถฝึกและสนุกไปกับปาร์กัวร์ได้

               เรามานั่งคุยกับ จูเลียน วิโกรวซ์ (Julien Vigroux) ผู้ก่อตั้งและครูฝึกของ Asia Parkour ยิมฝึกปาร์กัวร์แห่งเดียวในประเทศไทย จูเลียนเป็นชาวฝรั่งเศส ประเทศบ้านเกิดของปาร์กัวร์ ซึ่งกำเนิดขึ้นมาเมื่อ 25 ปีที่แล้ว โดยมีเดวิด เบลเลอ (David Belle) เป็นผู้คิดค้น ย้อนกลับไปราว 15 ปีก่อนหน้านี้ จูเลียนในวัย 14 ปีได้ทำความรู้จักปาร์กัวร์ผ่านพี่ชายของเขา สเตฟาน (Stephane Vigroux) ซึ่งได้ไปฝึกปาร์กัวร์กับเดวิดโดยตรง และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้จูเลียนได้พบกับสิ่งที่เขาอยากทำไปตลอดชีวิต

ปาร์กัวร์และฟรีรันนิ่ง

               หลายคนสงสัยว่าจากปาร์กัวร์มาถึงฟรีรันนิ่งได้อย่างไร ต้องบอกเลยว่า นอกจากเดวิด บิดาของปาร์กัวร์จะทำให้ปาร์กัวร์เป็นที่รู้จักในสื่อภาพยนตร์แล้ว ก็ต้องให้เครดิตกับสเตฟานด้วยเช่นกัน เพราะช่วงปี 2001-2002 สเตฟานและกลุ่มเพื่อนได้เดินทางไปยังกรุงลอนดอนเพื่อถ่ายทำสารคดี Jump London สารคดีเรื่องแรกที่เกี่ยวกับปาร์กัวร์ และกิจกรรมที่พวกเขาทำก็สร้างความสงสัยให้กับผู้ที่ได้พบเห็น

“คนถามว่าพวกคุณทำอะไรกัน? นี่เรียกว่าอะไร? พอเขาบอกว่านี่คือปาร์กัวร์ คนก็ไม่เข้าใจ ปาร์กัวร์ในภาษาฝรั่งเศสคือคอร์สการฝึกข้ามสิ่งกีดขวางของทหาร แต่ที่ลอนดอนคนไม่เข้าใจความหมาย หนึ่งในนั้นก็เลยบอกว่า จะเรียกว่า Free Running ก็ได้นะ เพราะเป็นการผสมระหว่าง Free ของ Freedom และ Run ที่หมายถึงการเคลื่อนไหว เพื่อให้เข้าใจง่ายในภาษาอังกฤษ” ปาร์กัวร์จึงได้อีกชื่อว่า Free Running นับแต่นั้นมา แล้วคนที่ตื่นเต้นกับการเคลื่อนไหวอย่างอิสระนี้ก็เริ่มต้นฝึกฟรีรันนิ่งกันจนกลายเป็นกีฬาสุดฮิตในหมู่วัยรุ่น

กีฬาสุดเท่ของแก๊งวัยรุ่น?

               ในยุคแห่งสื่อโซเชียล ภาพที่หวือหวาเร้าใจของปาร์กัวร์แพร่ออกไป  ใครมีคลิปที่โพสต์ท่าได้สวยๆ ก็สามารถเรียกไลค์ได้มากมาย จนกีฬานี้กลายเป็นเรื่องของลุคเท่ๆ มากกว่าแก่นภายใน

               “ตอนที่ปาร์กัวร์เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 25 ปีก่อน โดยกลุ่มคนที่ไม่มีใครบอกพวกเขาเลยว่าต้องทำอะไร อย่างไร พวกเขาทดลองทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ท้าทายขีดจำกัดของตัวเอง ในตอนนั้นมันยากมาก ทุกคนจึงต้องสร้างร่างกายที่แข็งแรงก่อนเพื่อเคลื่อนไหวได้อย่างไม่จำกัด แต่สิ่งที่เห็นตอนนี้กลายเป็นเรื่องของลุคเท่ๆ ฉะนั้น คนส่วนมากจึงเน้นแต่การทำท่ายากๆ ละเลยเรื่องพื้นฐานและการฝึกฝนเตรียมความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจ แค่อยากเล่นเท่านั้น ซึ่งก็โอเค ถ้าคุณยังเด็กอยู่ แต่ต่อไปร่างกายของคุณอาจบาดเจ็บได้ เพราะขาดพื้นฐานซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำให้คุณก้าวหน้า”

               สื่อโซเชียลและการแข่งขันแนวเอ็กซ์ตรีม ย่อมมีทั้งด้านบวกและลบ แง่หนึ่งคือทำให้ปาร์กัวร์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่อีกแง่หนึ่งกลับทำให้ทุกคนออกมาแสดงอีโก้ของตัวเอง “สื่อโซเชียลผลักให้ทุกคนออกมาโชว์ออฟ และเล่นด้วยอีโก้ อยากจะทำให้ได้ดีกว่าคนอื่น พอคนจับภาพจังหวะมูฟเมนท์สวยๆ ได้ ก็โพสต์ลงเฟสบุ๊ค ได้ไลค์มากมาย เมื่อก่อนผู้คนเคลื่อนไหวเพื่อตนเอง แต่ตอนนี้คนส่วนใหญ่เคลื่อนไหวเพื่อคนอื่น เพื่อให้คนอื่นจับภาพ เพื่อโชว์คนแล้วได้ไลค์เพิ่ม นั่นก็เป็นมุมหนึ่งของวิวัฒนาการของปาร์กัวร์”

               แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มที่สนใจศึกษาจริงจังว่าปาร์กัวร์เกิดมาได้อย่างไร มีพื้นฐานอย่างไร จะสร้างสรรค์ต่ออย่างไร และพยายามที่จะรักษาแก่นแท้ของปาร์กัวร์ไว้ “จริงๆ ก็ใช้การเคลื่อนไหวเดียวกัน ภาษาเดียวกัน แต่อยู่ที่การเข้าถึงที่ต่างกัน คือทำเพื่อพัฒนาตัวเอง เผชิญหน้ากับความกลัว เพื่อจะให้ตัวเองเติบโตขึ้นมากกว่า”

               จูเลียนทำ Asia Parkour ด้วยความรู้สึกอยากถ่ายทอดแก่นแท้นั้น

เอเชีย ปาร์กัวร์

               จูเลียนได้พบกับสิ่งที่รักมาตั้งแต่เยาว์วัยและยังคงอยู่ในเส้นทางของปาร์กัวร์ โดยมี "คนกลุ่มแรกที่เล่นปาร์กัวร์นี่แหละครับที่ทำให้ผมยังทำสิ่งที่ทำในวันนี้” คนเหล่านี้คือแรงบันดาลใจของจูเลียน และสเตฟาน พี่ชายของเขาก็เป็นหนึ่งในนั้น สเตฟานก่อตั้งบริษัท Parkour Generations ขึ้นในลอนดอนเพื่อฝึกสอนเกี่ยวกับปาร์กัวร์ โดยสร้างหลักสูตร และประกาศนียบัตรครูฝึก (ADAPT, Art du Deplacement and Parkour Teaching Qualification) จูเลียนก็ตามรอยพี่ชายไป

               “ใครก็ตามที่อยากจะทำงานเกี่ยวกับการสอนปาร์กัวร์สามารถมาเข้าเรียนความรู้พื้นฐาน ความปลอดภัย เทคนิค โดยมีใบรับรองในระดับต่างๆ ตอนอายุ 19 ผมย้ายไปลอนดอน และเรียนจนจบหลักสูตร ต่อมาพี่ชายผมก็มาเปิดสาขาเอเชียที่เมืองไทย ผมก็มาสอนที่นี่ จากนั้นพี่ชายก็ย้ายไปเปิดที่ดูไบ แต่ผมตัดสินใจอยู่ต่อ และเปิดโรงเรียนที่นี่ขึ้นใหม่”

               จูเลียนรักเมืองไทย เพราะเขามาเที่ยวเมืองไทยกับครอบครัวทุกปีตั้งแต่อายุ 10 ขวบแล้ว “ผมรักวัฒนธรรมทุกอย่างของไทย ผมจึงอยากผสม  2 สิ่งที่ผมรักคือปาร์กัวร์ที่ผมอยากทำตลอดชีวิต และที่ที่ผมอยากอยู่คือเมืองไทยเข้าไว้ด้วยกัน”

สำหรับทุกคน...ที่อยากท้าทายตัวเอง

               มีคนมากมายที่ได้ดูปาร์กัวร์ผ่าน Youtube แล้วเห็นการเคลื่อนไหวที่สุดขั้ว ก็ไม่คิดว่าพวกเขาจะทำได้ ไม่แม้แต่จะลอง แต่จริงๆ แล้วปาร์กัวร์เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาตัวเอง ซึ่งคนทุกวัยทุกพื้นฐานสามารถฝึกได้

               “เวลาบอกว่าใครๆ ก็ฝึกปาร์กัวร์ได้ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเชื่อ จริงๆ แล้วปาร์กัวร์มีปรัชญาของตัวเองอยู่ คือการปรับให้เหมาะสำหรับทุกคน สร้างความเชื่อมั่นให้กับคน ให้พวกเขาได้ค้นพบว่าร่างกายของพวกเขาทำอะไรได้บ้าง ด้วยการท้าทายตัวเองไปทีละขั้น”

               จูเลียนบอกว่าในลอนดอนมีคลาสสำหรับนักเรียนอายุมากกว่า 60 ด้วยซ้ำ ที่สำคัญ นี่ไม่ใช่ศาสตร์ที่ใช้แต่ร่างกาย แต่เป็นการฝึกจิตใจเช่นกัน ซึ่งบางครั้งก็ยากยิ่งกว่าการฝึกร่างกายเสียอีก

               “ต้องจัดการกับความกลัว เช่น กลัวความสูง ซึ่งเป็นเรื่องของใจล้วนๆ หรือบางจุดมีความเสี่ยง คุณก็ต้องบริหารความเสี่ยง ถ้าคุณพยายามฝึกฝนต่อไป คุณจะได้รู้จักตัวเองมากขึ้นว่าคุณมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างไร จะควบคุมความรู้สึกเวลาเจอกับด่านต่างๆ อย่างไร นี่เป็นช่วงเวลาเฉพาะมากที่คุณต้องมีสมาธิ ทำใจให้ว่าง เพื่อทำสิ่งที่อยู่ต่อหน้าให้ลุล่วง ซึ่งนี่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตได้ ทุกอุปสรรคทุกความกลัวสามารถจัดการได้ สิ่งแรกก็คือคุณต้องรู้จักตัวเอง ต้องออกจากคอมฟอร์ทโซน เพื่อลองทำสิ่งใหม่ แล้วดูว่าคุณจะตอบสนองอย่างไร”

               ปาร์กัวร์ยังเป็นปรัชญาและวิถีแห่งการฝึก จูเลียนบอกว่า ปาร์กัวร์เป็นเรื่องของวิธีคิด ไม่ใช่เรื่องภายนอก “ไม่ใช่ว่าคุณสวมเสื้อปาร์กัวร์แล้วก็ไปเล่นที่ยิม พอกลับบ้านคุณถอดทุกอย่างออก แล้วคุณก็ไม่เป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับปาร์กัวร์อีก เราไม่ต้องการอย่างนั้น ปาร์กัวร์ต้องมีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถประยุกต์ประโยชน์และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เหมือนฝึกปาร์กัวร์อยู่ตลอดเวลา”