ครม.ไฟเขียวรถไฟฟ้าสีทอง เชื่อมบีทีเอส

ครม.ไฟเขียวรถไฟฟ้าสีทอง เชื่อมบีทีเอส

ครม.เห็นชอบเดินหน้ารถไฟฟ้าสายสีทอง เชื่อมบีทีเอส-สีแดงเข้มฝั่งธนฯ สั่งกทม.เสนอแผนพร้อมก่อสร้างได้ ระยะทาง 2.68 กม. คาดเปิดบริการปี 2561

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (6 ก.ย.) เห็นชอบโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง ช่วงสถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน-ประชาธิปก ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งโครงการนี้อยู่ในแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งรถไฟฟ้าระยะที่ 2

รถไฟฟ้าสายสีทอง มีระยะทางรวม 2.68 กม. แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงถนนกรุงธนบุรี แยกคลองสาน (บีทีเอสกรุงธนบุรี-โรงพยาบาลตากสิน) รวมระยะทาง 1.72 กม. มีทั้งสิ้น 3 สถานี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2561

ระยะที่ 2 ช่วงถนนสมเด็จเจ้าพระยา ถนนประชาธิปก (โรงพยาบาลตากสิน-วัดอนงคารามวรวิหาร) รวมระยะทาง 0.96 กม. จำนวน 1 สถานี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2565

สำหรับงบก่อสร้างประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบรวม 3.84 พันล้านบาท แบ่งออกเป็น วงเงินในระยะที่ 1 มูลค่า 2.51 พันล้านบาท และวงเงินในระยะที่ 2 มูลค่า 1.33 พันล้านบาท

แนวเส้นทางจะให้บริการบนถนนเจริญนคร และถนนสมเด็จเจ้าพระยา เริ่มจากสถานีกรุงธนบุรีของรถไฟฟ้าบีทีเอสายสีเขียววิ่งไปตามแนวถนนเจริญนคร ผ่านศูนย์การค้าไอคอนสยาม เชื่อมต่อรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้มเข้าสู่ถนนประชาธิปกและเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยคาดว่าในช่วงเปิดให้บริการปี 2561 จะมีปริมาณใช้บริการเฉลี่ยอยู่ที่ 4.73 หมื่นคนต่อวัน และเพิ่มขึ้นในช่วงเปิดให้บริการปี 2566 เป็น 8.18 หมื่นคนต่อวัน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าหลังจากครม.เห็นชอบแล้ว กทม.เริ่มต้นก่อสร้างโครงการได้ เนื่องจากมีอำนาจเป็นหน่วยงานสามารถลงทุนเองได้ แต่หากจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมทุนจะต้องมีรูปแบบเป็นไปตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556

ระบบอัตโนมัติไร้คนขับ

สำหรับรายละเอียดโครงการจะพัฒนาขึ้นเป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแบบอัตโนมัติที่สามารถทำการเดินรถโดยไม่ต้องใช้บุคคลกำกับ ซึ่งรูปแบบโครงการในเบื้องต้นพบว่าจะพัฒนาเป็นรถไฟยกระดับ แต่อย่างไรก็ตามในที่ประชุม ครม.ครั้งนี้เป็นการเห็นชอบเพียงกรอบโครงการเท่านั้น กทม.จึงจะต้องทำการออกแบบและเสนอ ครม.อีกครั้ง

“ครม.อนุมัติในหลักการให้ กทม.ดำเนินโครงการได้ ส่วนแหล่งเงินทุนทาง กทม.ก็จะให้ทางบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่ง กทม.ถือหุ้นอยู่ 99.98% เป็นผู้ดำเนินการส่วนแนวเขตเส้นทางที่จะมีการก่อสร้างอยู่ภายใต้มติครม.เดิม คือ ช่วง 25 ตารางกิโลเมตรในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์จะต้องนำโครงสร้างลงใต้ดิน

เบื้องต้นทาง ครม.ยังไม่ได้อนุมัติให้ยกเว้นมติ ครม.ดังกล่าว เพราะยังไม่เห็นรายละเอียดการสำรวจออกแบบ ดังนั้นจึงต้องรอดูแบบก่อน จึงจะรู้ว่าจะยกเว้นมติ ครม.ที่ให้เอาโครงสร้างลงใต้ดินหรือไม่ยกเว้น แต่ในที่ประชุมได้มีการเสนอว่าให้เป็นแบบยกระดับ ซึ่งในส่วนของ กทม.ก็จะต้องไปจัดทำเรื่องรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ด้วย”

เชื่อมต่อสีแดงเข้ม-สีม่วง

นายอาคม ยังกล่าวอีกว่า สำหรับจุดประสงค์หลักของการพัฒนารถไฟฟ้าสายนี้ พบว่าจะนำมาเป็นส่วนเสริมขนส่งผู้โดยสารให้กับแนวรถไฟฟ้าสายหลัก ดังนั้นกระทรวงฯ จะต้องหารือกับ กทม.ให้พัฒนาสถานี และเส้นทางเชื่อมต่อกับแนวรถไฟฟ้าของกระทรวงฯ อย่างสะดวก

นายอาคม กล่าวว่า จากการประเมินแนวสถานีของรถไฟฟ้าสายสีทองพบว่าจะเข้ามาเชื่อมต่อกับแนวสถานีของรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง คือ เชื่อมสายสีแดงสายสีแดงเข้มในช่วงสถานีคลองสาน และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงในช่วงสถานีประชาธิปก

คาดก่อสร้างรถไฟไทย-จีนในปีนี้

นายอาคม กล่าวถึงความคืบหน้าของการพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ว่า หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปประชุมผู้นำจี 20 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 4-5 ก.ย.ที่ผ่านมา และได้พบกับผู้นำฝ่ายจีนจึงได้มีการหารือถึงความคืบหน้าของโครงการดังกล่าว และได้ลงความเห็นตรงกันว่าต้องการก่อสร้างโครงการให้ได้ภายในปีนี้

คาดว่าจะเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ภายในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ หลังปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างปรับรายละเอียดแบบที่ฝ่ายจีนเสนอมาและพบว่าเป็นโค้ดเฉพาะของทางจีน ดังนั้นไทยจึงเสนอให้จีนเร่งไปปรับแก้ และตามกระบวนการหากปรับแก้แล้วเสร็จ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะต้องนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ให้เห็นชอบ พร้อมทั้งสรุปกรอบวงเงินที่ชัดเจนเพื่อเปิดประกวดราคาตามขั้นตอน

จ่อชงครม.รถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง7.49หมื่นล.

ด้านนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าเตรียมเสนอโครงการรถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง มูลค่ารวม 7.49 หมื่นล้านบาทเข้า ครม.ภายในเดือน ก.ย.นี้ หลังโครงการดังกล่าวผ่านการเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้ว ประกอบไปด้วย ช่วงมาบกะเบา-จิระ ( มูลค่า 2.98 หมื่นล้านบาท) ช่วงนครปฐม-หัวหิน (มูลค่า 2.03 หมื่นล้านบาท) และช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ (มูลค่า 2.48 หมื่นล้านบาท)

นอกจากนี้ ยังคาดว่า ร.ฟ.ท.จะเปิดขายซองโครงการรถไฟทางคู่ช่วงประจวบฯ-ชุมพร (มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท) ภายในเดือนนี้ หรืออย่างช้าช่วงต้นเดือน ต.ค.ที่จะถึง เนื่องจากปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ได้ประกาศขอความเห็นเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ผ่านบนเว็บไซต์แล้ว

ส่วนโครงการที่จะเสนอเพิ่มเติมในปี 2560 คือรถไฟทางคู่ช่วงหัวหิน-ประจวบ (มูลค่า 1.03 หมื่นล้านบาท) รวมไปถึงแผนขยายทางคู่ออกไปยังชุมพร สุราษฎร์ธานี และต่อเชื่อมกับเส้นทางรถไฟของประเทศมาเลเซีย