สมศ.ใช้โมเดลประเมิน4ประเทศ ประเมินรอบ 4

สมศ.ใช้โมเดลประเมิน4ประเทศ ประเมินรอบ 4

สมศ.นำโมเดลการประเมิน 4 ประเทศ วางกรอบวิธีการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 เน้นสอดคล้องบริบทไทย

ที่อาคารพญาไท พลาซ่า สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือสมศ. แถลงข่าวเปิดเผยผลการศึกษาการโมเดลการประเมินคุณภาพการศึกษา ของ 4 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์

โดยมี ดร.คมศร วงษ์รักษา รักษาการแทนผู้อำนวยการสมศ. กล่าวว่า จากการศึกษารูปแบบการประเมินคุณภาพการศึกษาจากประเทศชั้นนำด้านการศึกษาของโลก 4ประเทศ พบว่า แต่ละประเทศนั้นจะมีรูปแบบการประเมินคุณภาพการศึกษาแตกต่างกันไปตามบริบทของประเทศตนเอง นั่นคือ สิงคโปร์ จะเน้นการประกันคุณภาพภายในเป็นหลัก โดยระดับปฐมวัยจะประเมินตามความสมัครใจของสถานศึกษา 

ส่วนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา สถานศึกษาทุกแห่งต้องเข้าร่วมรับการประกันคุณภาพการศึกษา ขณะที่ ญี่ปุ่น จะมีการประเมิน 3 ระดับ คือ ระดับปฐมวัย ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยกำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งต้องจัดทำรายงานการประเมินตนเองต่อกระทรวงศึกษาธิการ 

ส่วนระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา จะเป็นการประเมินทั้งระดับสถาบันและหลักสูตร ซึ่งการประเมินคุณภาพภายนอกของญี่ปุ่นจะดำเนินการเฉพาะในส่วนของอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาเท่านั้น มีการประเมินอย่างน้อย 1 ครั้ง ในรอบ 7 ปี แต่ถ้าเป็นระดับหลักสูตรวิชาชีพจะประเมินอย่างน้อย 1 ครั้งในรอบ 5 ปี และถ้าสถานศึกษาใดไม่ได้รับการรับรองจะเฝ้าติดตามมีการประเมินบ่อยครั้ง สำหรับสหรัฐอเมริกา รูปแบบการประเมินคุณภาพการศึกษาจะมีการประเมินทุกระดับการศึกษา ซึ่งสถานศึกษาสามารถเลือกได้ว่าจะประเมินโดยหน่วยงานกลางหรือองค์กรกลางอิสระที่ได้รับรองจากรัฐบาลกลาง

 ดังนั้น การประเมินของสหรัฐอเมริกาจึงมีรูปแบบหลากหลาย และเป็นการประเมินตามบริบทของสถานศึกษา ส่วนนิวซีแลนด์ ระบบการประกันคุณภาพแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษา ซึ่งหน่วยงานที่ทำการประเมินจะแบ่งออกเป็น 2 หน่วยงานเน้นการประเมินผลลัพธ์จากผู้เรียนเป็นสำคัญ

รักษาการแทนผอ.สมศ.กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ สมศ.ได้ดำเนินการวางแผนรูปแบบวิธีการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 (พ.ศ.2559-2563) เสร็จสิ้น และรายงานต่อพล.อ.อ.ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อพิจารณาแล้ว โดยรูปแบบวิธีการประเมินดังกล่าว สมศ.ได้นำผลจากการศึกษาระดับการประเมินคุณภาพภายนอกของทั้ง 4 ประเทศ ซึ่งจะเน้นสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยและตอบสนองนโยบายการปฎิรูปการศึกษาของรัฐบาล รวมถึงเพื่อยกระดับการประเมินคุณภาพการศึกษาไทยสู่ระดับสากล 

ทั้งนี้ หากกรอบแนวทางดังกล่าวผ่านการพิจารณา ก็สามารถดำเนินการทดลองระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกรอบ 4 ได้ทันที โดยเบื้องต้น การประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกรอบ 4 จะนำร่องการประเมินในสถานศึกษาระดับพื้นฐาน 200 แห่ง อาชีวศึกษา 23 แห่ง และอุดมศึกษา 10 แห่ง โดยผลการประเมินดังกล่าวไม่ได้นำมาใช้จริง เพราะถือเป็นการทดลองระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกรอบ4

พลเรือตรีวัชระ การุณยวนิช รองผอ.สมศ. กล่าวว่าการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ4 (พ.ศ.2559-2563) สมศ.ได้นำผลการศึกษาโมเดลการประเมินคุณภาพการศึกษาของ 4 ประเทศมาบูรณาการให้เหมาะสมกับการประเมินคุณภาพการศึกษาของไทยใน 5 ประเด็นหลักๆ ดังนี้ 1. ผู้ประเมินคุณภาพภายนอก จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในระดับการศึกษานั้นๆ ที่ตนเองเข้าไปประเมิน คือ การประเมินระดับพื้นฐาน ผู้ประเมินต้องมาจากระดับพื้นฐาน ประเมินอาชีวะ ผู้ประเมินต้องมาจากอาชีวะ และประเมินอุดมศึกษา ผู้ประเมินต้องมาจากอุดมศึกษาเพื่อได้เข้าใจบริบทของการศึกษาในแต่ละระดับ 

2.การประเมินผลเชิงประจักษ์ ประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกรอบ 4 จะเน้นการลงพื้นที่ไปยังสถานศึกษา พูดคุย สัมภาษณ์ ดูจากผลการดำเนินงานเป็นหลัก ไม่ใช่ดูจากเอกสารอย่างที่ผ่านมา 3.ประเมินตามความพร้อมของสถานศึกษา และตามรายชื่อที่ทางต้นสังกัดเสนอมาให้ทางสมศ.ประเมิน 4.ความถี่ในการประเมิน สถานศึกษาที่ได้รับรองการประเมินในระดับที่ดี สมศ.จะเข้าไปประเมินอย่างน้อย 1 ครั้ง ในรอบ 7 หรือ 8 ปี แต่ถ้าสถานศึกษาใดได้การรับรองในระดับที่ไม่ดี สมศ.ก็จะเข้าไปประเมินบ่อยครั้ง เพื่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนา ยกระดับให้ดีขึ้น และ5.การติดตามนำผลการประเมินไปใช้ 

โดยหลังการประเมินไปแล้ว 6 เดือน หรือ 1 ปี สมศ.จะลงพื้นที่ไปยังสถานศึกษาอีกครั้ง เพื่อดูว่าสถานศึกษาได้นำคำแนะนำของสมศ.ไปปรับปรุงหรือมีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม หากผลการประเมินคุณภาพภายนอกฯ ที่นำร่องในสถานศึกษาบางแห่ง แล้วไม่พบปัญหา คาดว่าการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 ก็สามารถดำเนินการได้ในปีการศึกษา2560นี้