คลังชงกองทุนเลี้ยงชีพภาคบังคับเข้าครม.สร้างหลักประกันลูกจ้าง

คลังชงกองทุนเลี้ยงชีพภาคบังคับเข้าครม.สร้างหลักประกันลูกจ้าง

"ก.ล.ต." เผยคลังจ่อชงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ เข้าครม.เร็วๆ นี้ มั่นใจช่วยปลดล็อกปัญหาภาคสมัครใจ ชี้ลูกจ้างยังไม่มีเงินพอหลังเกษียณ

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวในงาน PVD Mini Symposium for Emoloyers “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกุญแจสู่ความสำเร็จของการวางแผนเกณียณอายุ”ว่า ความคืบหน้าการผลักดันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นภาคบังคับ ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำลังเตรียมเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็วๆนี้ และกระบวนการแก้ไขกฏหมาย ยังมีอีกหลายขั้นตอน ซึ่งกฤษฏีกาต้องพิจารณาร่วมด้วย 

"ดังนั้นต้องผลักดันกฎหมายออกมาก่อน ส่วนรายละเอียดต่างๆ เช่น การกำหนสัดส่วนเงินออม จะกำหนดเป็นกฎกระทรวงเพิ่มเติม"

การผลักดันออกกฎหมายนี้ เป็นประโยชน์มากในการสร้างหลักประกันมีเงินเพียงพอในยามเกษียณอายุ เพราะการออมเงินรองรับยามเกษียณในภาคเอกชน ยังไม่มีการบังคับ จะมีผลกระทบต่อลูกจ้างไม่มีเงินพอใช้ หลังเกษียณอายุโดยปัญหานี้เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายรับรู้มานานแล้ว

ขณะที่มูลค่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคสมัครใจปัจจุบัน มีเม็ดเงิน 970,000 ล้านบาท มีจำนวนสมาชิกกองทุน 2.5 ล้านคนทั่วประเทศ ถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบประชากรวัยทำงาน และระบบการทำงานภาคเอกชน

อีกทั้งการออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยอมรับว่า ยังมีประเด็นต้องพิจารณา 3 เรื่องในการให้ความสำคัญมากขึ้น คือ 1.“ออมพอหรือไม่” เพราะเงินที่นายจ้างสมทบให้ ต้องเป็นจำนวนเงินที่มากพอสมควร จึงจะทำให้มีเงินเพียงพอในยามเกษียณได้ 2.“เมื่อออมพอแล้วลงทุนถูกต้องหรือไม่” โดยเฉพาะการลงทุนยุคดอกเบี้ยต่ำ ส่วนใหญ่ยังลงทุนตราสารหนี้สัดส่วน 85% หากมองไปข้างหน้า ผลตอบแทนที่จะได้จากการลงทุนตราสารหนี้ระดับสูงขึ้นในระยะยาวยิ่งเป็นไปได้ยากฉะนั้นการออมเช่นนี้จึงไม่เพียงพอยามเกษียณ

3.“ความรู้ความเข้าใจของลูกจ้างยังมีไม่มากพอ” แม้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะมีหลายนโยบายให้เลือก แต่ลูกจ้างส่วนใหญ่ ไม่สามารถเลือกแผนการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเอง ดังนั้นการลงทุนที่เป็นแบบ Target Date ซึ่งเป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนสมดุลตามอายุ (Life Path) ที่การลงทุนผันแปรตามอายุของผู้ลงทุน จนถึงวัยเกษียณจะเป็นทางออกเข้าตอบโจทย์นี้ได้ ทำให้การลงทุนของลูกจ้างถูกหลัก เหมือนขับรถเกียร์อัตโนมัติขับไปถึงเป้าหมายโดยไม่ต้องเปลี่ยนเกียร์เอง

“แม้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่นายจ้างจะมีนั้น จะเป็นแบบ Employee's choice มีนโยบายลงทุนหลากหลายแผนให้ลูกจ้างเลือก ปัจจุบันไม่มีกำหนดสัดส่วนการลงทุนเป็นสิ่งที่ดี แต่ยังขึ้นอยู่กับสมาชิกกองทุนเลือกลงทุนเป็น และถูกต้องกับเป้าหมายเพื่อหลังเกษียณ จะมีเงินใช้ได้พอหรือไม่

"ผมอยากฝากทางทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องต้องพยายามสร้างความรู้ความเข้าเรื่องนี้ให้สมาชิกกองทุน โดยเฉพาะผู้ที่กำลังเข้ามาสู่กองทุนในอนาคต คือคนที่กำลังเข้าสู้ระบบการทำงาน เริ่มมีเงินเดือน เพราะการออมเงินผ่านการลงทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องเรียนรู้ตั้งแต่อายุยังน้อย และออมเงินให้มากสุด เพื่อใช้หลังเกษียณ หากเอาเงินก้อนสุดท้ายในชีวิตที่ได้จากการเกษียณ มาลงทุนในตลาดที่มีความผันผวนแนะนำเอาเงินไปฝังตุ่มดีกว่า”