“ฝากลงทุน” เทรนด์ฮิตดอกเบี้ยต่ำ

“ฝากลงทุน” เทรนด์ฮิตดอกเบี้ยต่ำ

แบงก์พาณิชย์เอาใจเศรษฐีเงินฝาก เดินหน้าPrivate Bankingโยกเงินฝากไปลงทุนหวังต่อกรดอกเบี้ยต่ำ รายได้ค่าธรรมเนียมหด ฟินเทคแทรกซึมทุกวงการ

ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับตัว!! คำพูดเหล่านี้ เริ่มถูกนายแบงก์หลากหลายสำนักหยิบยกขึ้นมาเรียกขวัญและกำลังใจนักลงทุนและประชาชน

เสียงยืนยันทวีความรุนแรงขึ้น นับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจในประเทศถดถอย และเมืองไทยประสบปัญหาภัยแล้ง สะท้อนผ่านตัวเลขหนี้เสีย (NPL) ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงตัวเลขการปล่อยเงินกู้ที่ไม่ราบรื่นเหมือนก่อน และเทคโนโลยีฟินเทคที่กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น

ทว่าการผลักดันฐานะการเงินของเหล่าธนาคารพาณิชย์ ดูจะไม่ง่ายเท่าไหร่นัก เมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินฝาก “ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน” เป็นเหตุให้ลูกค้าเศรษฐีเมืองไทยบางราย จำเป็นต้องโยกเงินฝากบางส่วนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า

โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้น หลังในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา หุ้นไทยสร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 12% ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วๆนี้

การปรับกลยุทธ์การสร้างเงินลักษณะนี้ ถือเป็นการเตรียมพร้อม หลังเมืองไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing society) เต็มตัวในปี 2568

ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ยังประสบปัญหา “รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการหดหาย” หลังสมาคมธนาคารไทย เปิดตัวบริการโอนเงิน "พร้อมเพย์" (PromptPay) ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ ถือเป็นฐานรายได้หลักที่สร้างเงินสม่ำเสมอให้กับธนาคารพาณิชย์

แบงก์ปรับตัวสู้ปัญหารอบด้านอย่างไร? ทีมบิสวีคยิงคำถามนี้กับ “ลลิตภัทร ธรณวิกรัย” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายธนบดีธนกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB

เริ่มเห็นทิศทางการทยอยโยกเงินฝากไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เมื่อ 3-4 ปีก่อน และภาพชัดเจนมากขึ้น เมื่อดอกเบี้ยเงินฝากตกต่ำ และไม่มีท่าทีจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในเร็ววัน ขณะเดียวกันยังได้รับผลกระทบจากนโยบายคุ้มครองเงินฝาก แม้ทางการจะมีการขยายเวลาการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท จากที่จะเริ่มต้นในวันที่ 11 ส.ค.2559 เป็นตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.2563 ก็ตาม

พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป สะท้อนผ่านตัวเลขการฝากเงินและการลงทุนที่ไม่เหมือนเดิม จากเดิมลูกค้าของเอสซีบี นิยมนำเงินไปฝากแบงก์และลงทุนในสัดส่วน 45% และ 55% ตามลำดับ ล่าสุดขยับเป็น 40% และ 60% หลังการลงทุนให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ฉะนั้นมีความเป็นไปได้ว่า

หากดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้ ตัวเลขการโยกเงินฝากไปลงทุนอาจสูงขึ้น

“วันนี้แบงก์มีลูกค้าที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่10 ล้านบาทขึ้นไปประมาณ 300,000 ราย แบ่งเป็น ลูกค้าที่มีสินทรัพย์ 10-50 ล้านบาท ประมาณ 200,000 ราย และลูกค้าที่มีสินทรัพย์ 50 ล้านบาทขึ้นไป ประมาณ 100,000 ราย”

ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายธนบดีธนกิจ เล่าต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราเติบโตจำนวนเศรษฐีอายุน้อยมากขึ้น แบ่งเป็น “กลุ่มเอสเอ็มอี” อายุน้อยที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจจนร่ำรวยมหาศาล และ “กลุ่มคนรุ่นใหม่” ที่ครอบครัวมีการโอนทรัพย์สินมาให้บุตรดูแล

ฉะนั้นจะอาศัยจังหวะดอกเบี้ยต่ำ รุกงาน “บริการกลุ่มลูกค้าบุคคลรายใหญ่” (Private Banking) โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐีเมืองไทยที่มีเงินฝากและเงินลงทุนระดับ 50 ล้านบาทขึ้นไป

เอสซีบี ถือเป็นธนาคารพาณิชย์เพียงไม่กี่รายในเมืองไทยที่เจาะตลาดลูกค้ากลุ่มนี้มายาวนานกว่า 20 ปี ช่วงเริ่มต้นไม่ได้แบ่งฐานระดับเงินฝากและเงินลงทุนของลูกค้าอย่างชัดเจน เพิ่งมาจริงจังในช่วงปีหลังๆ

ปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์มี “กลุ่มลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูง” (High Net Worth Individual-HNWI) ประมาณ 40,000 ราย คิดเป็นมูลค่าสินทรัพย์รวม 1,200 ล้านบาท หรือประมาณ 26% ของส่วนแบ่งการตลาด แบ่งเป็น “ลูกค้า SCB FIRST” จำนวน 33,000 ราย และ “ลูกค้า SCB PRIVATE BANKING” จำนวน 7,000 ราย

เมื่อถามถึงกลยุทธ์การจัดพอร์ตลงทุนให้กลุ่มเศรษฐี กูรู ตอบว่า ธนาคารจะนำเสนอแบบจำลองการลงทุน 5 รูปแบบ แต่ละกลยุทธ์จะแบ่งตามระดับความเสี่ยงของลูกค้า สำหรับ       โมเดลแรก คือ “เสี่ยงต่ำ” เน้นลงทุนในตราสารหนี้ และเงินฝาก เป้าหมายผลตอบแทนเฉลี่ย 3% ต่อปี (ผลตอบแทนคาดการณ์ 1-5% ต่อปี)

โมเดลสอง คือ “เสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ” เน้นลงทุนในตลาดหุ้นไทยเฉลี่ย 1 ใน 5 โดยจะลงทุนในหุ้นหลากหลายประเภท เป้าหมายผลตอบแทนประมาณ 4.5% ต่อปี (ผลตอบแทนคาดการณ์ -1 ถึง 9% ต่อปี) สำหรับข้อจำกัดเรื่องขาดทุนสูงสุดที่รับได้ 5% ของเงินต้น

โมเดลสาม  คือ “เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง” ลงทุนกระจายทั่วโลก ในสัดส่วน 1 ใน 3 เป็นการลงทุนระยะยาว เป้าหมายผลตอบแทนประมาณ 6% ต่อปี (ผลตอบแทนคาดการณ์ -2 ถึง 13% ต่อปี) ข้อจำกัดเรื่องขาดทุนสูงสุดที่รับได้ 10% ของเงินต้น

โมเดลสี่ คือ “เสี่ยงสูง” ลงทุนกระจายทั่วโลก ในสัดส่วน 50% เป็นการลงทุนระยะยาว เป้าหมายผลตอบแทนประมาณ 7.5% ต่อปี (ผลตอบแทนคาดการณ์ -5 ถึง 18% ต่อปี) ข้อจำกัดเรื่องขาดทุนสูงสุดที่รับได้ 15% ของเงินต้น

สุดท้าย โมเดลห้า คือ “เสี่ยงสูงมาก” ลงทุนกระจายทั่วโลก เป้าหมายผลตอบแทนประมาณ 9% ต่อปี (ผลตอบแทนคาดการณ์ -11 ถึง 29% ต่อปี) ข้อจำกัดเรื่องขาดทุนสูงสุดที่รับได้ 25% ของเงินต้น

พอร์ตจำลองแต่ละแบบจะวางแนวทางการลงทุนคร่าวๆ ซึ่งจัดทำโดยทีมผู้เชี่ยวชาญ เป้าหมายหลัก คือ การหาเทคนิคลดความเสี่ยง ด้วยการกระจายการลงทุน และไม่เลือกที่จะนำเงินทั้งหมดไปเสี่ยงกับสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง เพราะหากการลงทุนผิดพลาดจะเกิดความเสียหายหนัก

“การลดความเสี่ยง ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการลงทุน แม้กระทั่งการดำเนินธุรกิจก็ตาม ฉะนั้นต้องเขียนแบบจำลองให้สอดคล้องกับเป้าหมาย เพื่อจะได้หาผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจ และเข้ากับภาวะในปัจจุบัน”  ลลิตภัทร บอกเช่นนั้น

เมื่อถามถึงจุดแข็งของธุรกิจบริการกลุ่มลูกค้าบุคคลรายใหญ่ เธอ บอกว่า จะขายเรื่องการดูแลลูกค้าเป็นหลัก พูดง่ายๆว่า นอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์มากมายแล้ว ในแง่ผลตอบแทนจากการลงทุนจะพยายามทำให้เข้าเป้าหมายให้ได้มากที่สุด

ขณะเดียวกัน เอสซีบียังได้จัดตั้งหน่วยงานที่ปรึกษาการลงทุนส่วนกลาง (CIO Office) เพื่อดูแลเรื่องการลงทุนโดยเฉพาะ หน่วยงานนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ นักวิเคราะห์เชิงสถิติและเชิงปริมาณ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการคัดสรรผลิตภัณฑ์การลงทุน เป็นต้น

นอกจากนั้นยังรวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทในเครือ ทั้งในส่วนของบริษัทจัดการกองทุนรวม และบริษัทหลักทรัพย์ มาทัพเสริมในด้านของข้อมูล ข่าวสาร บทวิเคราะห์ และมุมมองลงทุน ซึ่งทีมงานเหล่านี้จะเป็นผู้คิดค้นแบบจำลองการลงทุน

“จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์” ผู้บริหารสายงาน ธุรกิจไพรเวทแบงก์ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK บอกว่า ส่วนตัวอยู่ในแวดวงการเงินการลงทุนมากว่า 24 ปี มองว่า ปัจจุบันลูกค้าคนไทยที่มีเงินฝากจำนวนหนึ่งกำลังมองหาการลงทุนที่สามารถสร้าง “ความมั่งคั่ง” ในระยะยาว ท่ามกลางดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 1% และทางเลือกการลงทุนที่มีมากขึ้น

พฤติกรรมนี้แตกต่างจากในอดีต ที่เหล่าคนมีสตางค์มักจะเลือกออมเงิน ผ่านการฝากแบงก์ น้อยคนจะนำเงินออกไปลงทุนสินทรัพย์อื่นๆ เศรษฐีหลายคนยังไม่เปิดใจเรื่องการลงทุน แต่ปัจจุบันเริ่มหันมามองมากขึ้นแล้ว

สะท้อนผ่านตัวเลขบัญชีลูกค้าฝากเงินของแบงก์กสิกรไทยที่มีอยู่ประมาณ 7.6 แสนล้านบาท โดยสัดส่วนลูกค้า 60% เริ่มเปิดใจเรื่องการลงทุนมากขึ้น ส่วนที่เหลือ 40% ยังอยู่ในรูปของเงินฝาก

ตามแผนของ “ธุรกิจบริการกลุ่มลูกค้าบุคคลรายใหญ่” (Private Banking) ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า แบงก์จะต้องทำให้เหล่าเศรษฐีเปิดใจรับเรื่องการลงทุน และเข้ามาใช้บริการมากขึ้นในระดับ 70-80%

เมื่อถามถึงวิธีการ เขา อธิบายว่า แบงก์จะเจาะตลาดลูกค้าที่มีเงินฝาก 50 ล้านบาทขึ้นไป ปัจจุบันมีลูกค้ากลุ่มดังกล่าวแล้วประมาณ 9,600 ราย แบ่งเป็นลูกค้าที่อยู่ในกรุงเทพฯ 90% และอีก 10% อยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งลูกค้าจะได้รับบริการหลากหลายรูปแบบ เช่น จะได้รับการบริการก่อนลูกค้าระดับอื่น และมีสิทธิประโยชน์มากมาย เป็นต้น

ผู้บริหารสายงานธุรกิจไพรเวทแบงก์ ยอมรับว่า สถานการณ์ในปัจจุบันเอื้ออำนวยให้ธุรกิจไพรเวทแบงก์ขยายตัวได้อีกมาก เพราะอัตราดอกเบี้ยยังเป็นขาลงอีกนาน และยังไม่เห็นภาพว่า ดอกเบี้ยจะปรับขึ้นภายในเร็วๆ นี้

ฉะนั้นหากสามารถสร้างความพอใจให้กับลูกค้า ทั้งในเรื่องของการดูแล และผลตอบแทนที่เข้าเป้าหมาย กระแสตอบรับการลงทุนอาจขยายตัวขึ้น แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นจะไม่สดใส หลังตลาดหุ้นทั่วโลกตกอยู่ในอาการผันผวน นักลงทุนเกาะติดเรื่องเฟดขึ้นดอกเบี้ย แต่บรรยากาศอาจเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2559

ส่วนตัวมีความเชื่อว่า ลูกค้ากำลังทยอยเคลื่อนตัวออกจาก “เงินฝาก” เพื่อเข้าสู่ “การลงทุน” มากขึ้น ฉะนั้นอุตสาหกรรมนี้ยังคงเติบโตได้ดีมาก แต่ต้องขึ้นอยู่กับทีมที่ปรึกษาการลงทุนด้วย หากได้ทีมที่ดีก็จะสามารถจัดพอร์ตลงทุนจนได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจ

ที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทย สร้างผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 6.7% ต่อปี แต่ในปี 2558 เป็นปีแห่งความยากลำบากในการลงทุน หลังตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง ทำให้พอร์ตลูกค้า “ขาดทุน” ประมาณ 0.5% แต่จากการสอบถามลูกค้า ส่วนใหญ่ไม่รู้สึกแย่ เพราะเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ธนาคารกสิกรไทยจะไม่หยุดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำกำไรในภาวะผันผวนเช่นนี้ เราไม่ปิดกั้น ตรงข้ามยังพร้อมจับมือกับพันธมิตร เพื่อนำความรู้ และแนวคิดมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อนำเสนอลูกค้าต่อไป

เมื่อปลายปี 2558 ได้เปิดตัว “วิธีการจัดพอร์ตแบบผสม” โดยอาศัยความเสี่ยงเป็นที่ตั้ง ซึ่งตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา ให้ผลตอบแทนดีมาก แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ตลาดจะมีความผันผวนมาก แต่พอร์ตลงทุนไม่ผันผวนตาม

ความสำเร็จของพอร์ตผสม คือ จัดการลงทุนในสินทรัพย์ 4 ประเภท คือ ตราสารหนี้ ,หุ้น ,อสังหาริมทรัพย์ และสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น

เขา บอกว่า ธุรกิจไพรเวทแบงก์กิ้ง ต้องสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับลูกค้าที่มากกว่านำเงินมาฝากแบงก์ แม้ทางเลือกนั้นจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะประชาชนบางกลุ่มยังไม่เข้าใจเรื่องการลงทุน

ฉะนั้นวันนี้บริการที่ปรึกษาเรื่องการลงทุนจึงมีที่ยืน เพราะว่าการฝากเงินไม่ต้องคิดอะไรมาก แค่เดินเข้าไปฝากเงินก็จบ แต่หากเป็นเรื่องของการลงทุนต้องคิดมาก เพราะมีรูปแบบการลงทุนให้พิจารณาหลากหลาย

ในอดีตลูกค้ามีภาพลบเกี่ยวกับการลงทุน เนื่องจากช่วงประเทศไทยเจอวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ตลาดหุ้นไทยพัง ทำให้การลงทุนหยุดระยะหนึ่ง แต่หลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัวประชาชนเริ่มมั่นใจมากขึ้น ก็กล้าลงทุนมากขึ้น

จากจุดนั้นทำให้ธนาคารกสิกรไทย ตัดสินใจเริ่มต้นงานที่ปรึกษาการลงทุน แต่เรื่องที่ยากมากที่สุด คือ ลูกค้าไม่มีความรู้ และมีภาพลบเกี่ยวกับการลงทุน หลังหนีจากเงินฝากไปเจ๊งหุ้นและกองทุนรวม

ฉะนั้น เมื่อพูดถึงเรื่องการลงทุนหุ้นและกองทุน บางคนยังหลอน ซึ่งลูกค้าลักษณะดังกล่าวยังมีอยู่ในปัจจุบัน แต่ว่าสัดส่วนน้อยลงเรื่อยๆ หลังเริ่มมีความรู้มากขึ้น

เขา ย้ำว่า จากนี้ธนาคารกสิกรไทย จะหันมาสร้างความแตกต่างในเรื่องของการจัดพอร์ตลงทุนระยะยาว หลังเศรษฐีส่วนใหญ่มักแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วน คือ

 “เงินออม” เงินส่วนนี้จะนำมาใช้จ่ายในระยะสั้น หรือไม่เกิน 1 ปี นั่นหมายความว่า เงินส่วนนี้ต้องมีสภาพคล่องสูง สามารถหยิบใช้ได้ตลอดเวลา ฉะนั้นการดูแลเงินส่วนนี้หนีไม่พ้นการฝากเงิน ดังนั้นต้องยกหน้าที่นี้ให้เจ้าหน้าที่แบงก์แต่ละสาขาช่วยดูแล

“เงินเก็บ” เงินก้อนนี้ต้องมีการคิดวางแผนมากขึ้น เพราะถ้าคิดน้อยจะได้ผลตอบแทนเท่าเงินฝาก และแพ้เงินเฟ้อ ทำให้อำนาจซื้อลดลง เงินเก็บก็จะมีมูลค่าลดลงเรื่อยๆ ฉะนั้นแบงก์จะเข้ามาช่วยดูแลเงินส่วนนี้ให้ลูกค้า โดยจะช่วยลูกค้าจัดพอร์ตการลงทุนระยะยาว เพื่อให้เงินงอกเงย สุดท้าย คือ “เงินลงทุน” เงินส่วนนี้ก็ต้องช่วยลูกค้าดูแลเช่นกัน

...........................

“สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่” เรื่องต้องทำ SCB

“ลลิตภัทร ธรณวิกรัย” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายธนบดีธนกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ บอกว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ ต้องการเป็นแบงก์ไทยที่ให้บริการลูกค้าได้เหมือนแบงก์ต่างประเทศ เมื่อแนวทางเป็นเช่นนั้น เราจึงให้บริการครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ เช่น หากนักลงทุนไทยต้องการออกไปลงทุนหุ้นต่างประเทศ ก็สามารถดำเนินการผ่านเอสซีบีได้ทันที

หน้าที่สำคัญของแบงก์เอสซีบี คือ ออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นทางเลือกตรงใจลูกค้า ที่ผ่านมาได้รับรางวัลติดต่อกันหลายปี เช่น รางวัล The Best Private Banking หลังแบงก์มีการขยายตัวทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านฐานสมาชิกและมูลค่าสินทรัพย์ที่เติบโตก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา

เป้าหมายการดำเนินธุรกิจของเอสซีบี คือ “เติบโตเท่าตัว” ปัจจัยที่จะทำให้คว้าผลนั้นมาครอบครอง คือ “สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ” ควบคู่ไปกับการ “สร้างบุคลากร” เพื่อให้ทันต่อการขยายตัวของกิจการใหม่ๆ ฉะนั้นแบงก์จำเป็นต้องสร้างโรงเรียน SCB Wealth Academy

ผ่านการจัดหลักสูตร SCB Wealth Academy ภายใต้ความร่วมมือ Wealth Management Institute (WMI) ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสถาบันอบรมด้านการเงินที่มีหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารจัดการความมั่งคั่งเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย และ TOP 3 ของโลก

เธอ ทิ้งท้ายว่า ความท้าทายของที่ทีมปรึกษาการลงทุน คือ การทำความเข้าใจต่อความต้องการจริงๆ ของลูกค้า และกลั่นออกมาเป็นเป้าหมายและข้อจำกัดที่ชัดเจน เพื่อให้ลูกค้ามองเห็นเป็นภาพเดียวกัน

ยกตัวอย่าง เป้าหมายการลงทุนของลูกค้าอาจถูกเขียนไว้ว่า เงินลงทุนที่มอบให้ดูแลจำนวน 30 ล้านบาท ต้องสร้างรายได้เฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อปี หรือ 2 แสนบาทต่อเดือน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เมื่อโจทย์เป็นเช่นนั้น ตั้งแต่นี้ไปจนอีก 15 ปี แบงก์ต้องจัดพอร์ตการลงทุนในตลาดหุ้น ตราสารหนี้ หรืออสังหาริมทรัพย์ กระจายออกไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยลูกค้าสามารถรับความเสี่ยงได้พอประมาณ

การจัดพอร์ตที่ถูกใจลูกค้าและเข้ากับสถานการณ์จะทำให้ผลตอบแทนออกมาตรงเป้าหมาย