กกร.จี้คมนาคม ผุดรถไฟอีสเวสต์หนุนการค้าชายแดน

กกร.จี้คมนาคม ผุดรถไฟอีสเวสต์หนุนการค้าชายแดน

"กกร." จี้ "คมนาคม" เร่งเดินหน้าโครงการรถไฟสายอีสเวสต์ คอร์ริดอร์ หนุนการค้าชายแดน ด้าน ร.ฟ.ท.เตรียมเสนอใช้ ม.44 ดันโครงการรถไฟสายใหม่

นายดรุณ แสงฉาย รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า การประชุมครั้งนี้ ภาคเอกชนได้เข้ามาติดตามรับฟังข้อเสนอโครงการที่เคยหารือก่อนหน้านี้ พร้อมทั้งเร่งรัดประเด็นโครงการสำคัญอย่างการพัฒนาแนวรถไฟสายใหม่ที่อยู่ในแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (อีส-เวสต์ อิคอร์นามิก คอร์ริดอร์) ช่วงตาก-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น-มุกดาหาร ที่แบ่งออก 3 ช่วง คือ 1. ช่วงแม่สอด-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ศึกษาความเหมาะสมแล้วแต่ยังไม่ได้ดำเนินการออกแบบ

2. ช่วงนครสวรรค์-บ้านไผ่ ปัจจุบัน ร.ฟ.ท. ยังไม่ได้ศึกษา และ 3. ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทางราว 354 กิโลเมตร (กม.) มีกรอบวงเงินลงทุน 6 หมื่นล้านบาท เป็นช่วงที่ดำเนินงานคืบหน้ามากที่สุด เนื่องจากสถานะปัจจุบันบอร์ด ร.ฟ.ท.ได้เห็นชอบโครงการแล้ว และคาดว่าจะรวบรวมข้อมูลรายงานมายังกระทรวงคมนาคมภายในเดือน ก.ย.นี้ ก่อนเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงเดือน ต.ค.ที่จะถึง ซึ่งโครงการช่วงดังกล่าวจะจัดใช้ ม.44 เพื่อเดินหน้างานควบคู่ระหว่างการเสนอผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

“โครงการนี้ก็จะจัดใช้ ม.44 เพื่อให้งานเดินหน้าควบคู่กันไประหว่างปัจจุบันที่อยู่ในขั้นตอนวิเคราะห์อีไอเอ ซึ่งอีกด้านก็จะดำเนินการขั้นตอนขออนุมัติโครงการไปพร้อมๆ กันเลย หาก ครม.เห็นชอบแล้วขั้นตอนต่อไป ร.ฟ.ท.ก็จะทำกระบวนการเปิดประมูลหาผู้รับเหมาเตรียมไว้ก่อน เมื่อผ่านอีไอเอก็จะลงนามสัญญาจ้างได้ทันที ทำให้งานนี้เดินหน้าเร็ว และตอบสนองข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการผลักดันแนวเส้นทางสนับสนุนการค้า”

นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังเสนอให้กระทรวงพิจารณาการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ (ครุยส์) เพิ่มเติมในพื้นที่ จ.กระบี่ หลังจากกระทรวงศึกษาความเหมาะสมจะพัฒนาในพื้นที่เกาะสมุยแล้ว ซึ่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับข้อเสนอดังกล่าวไว้พิจารณาศึกษา เนื่องจากภาคเอกชนชี้แจงถึงเหตุผลของการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดกระบี่มีศักยภาพสูง

นายสถาพร มงคลศรีสวัสดิ์ กรรมการหอการค้าไทย ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานโครงสร้างพื้นฐานของหอการค้าไทย กล่าวว่า ประเด็นหลักๆ ที่ กกร.เสนอคือเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานอีส-เวสต์ อิคอร์นามิก คอร์ริดอร์โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ ช่วงบางไผ่-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร - นครพนม ซึ่งอยู่ระหว่างรออีไอเอก็ต้องการให้เร่งรัดดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ รวมถึงการขยายสนามบินร้อยเอ็ด และสนามบินสกลนคร

ส่วนภาคใต้ก็ต้องการให้พิจารณาก่อสร้างท่าเทียบเรือครุยส์ ที่จ.กระบี่ด้วยแทนที่จะพิจารณาก่อสร้างเฉพาะที่เกาะสมุยเท่านั้นเพราะถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ และเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในทะเลอันดามันได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ต้องการให้เร่งรัดการพัฒนาเส้นทางจากแม่สอด-เพชรบูรณ์-กาฬสินธุ์-มุกดาหาร ที่จะขยายให้เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจรตลอดเส้นทาง แต่ปัจจุบันพบว่าช่วง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ยังไม่ผ่านรายงานอีไอเอ จึงขอให้เร่งรัดดำเนินโครงการ

เนื่องจากจะเป็นเส้นทางเชื่อมโยงการค้า การลงทุนในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันพบว่าปริมาณการค้าในพื้นที่ จ.มุกดาหาร มีมูลค่า 7-8 หมื่นล้านบาท และมีสัญญาณจะเติบโตถึง 1 แสนล้านบาท เช่นเดียวกับด่านการค้าในแม่สอดที่มีปริมาณการเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วย ดังนั้นหากภาครัฐฯ เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก็จะเป็นปัจจัยหนุนการค้าเป็นอย่างดี

ส่วนนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวถึงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ว่า แผนการพัฒนาของกระทรวงคมนาคมจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะในช่วงเวลา 12 ปี มุ่งเน้นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใหม่ การท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม สิ่งแวดล้อม ระบบสาธารณูปโภค และเร่งพัฒนาใน 3 จังหวัดเป็นอันดับแรก คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

โดยระยะแรกจะเกิดขึ้นระหว่างปี 2559-2560 อยู่ระหว่างการดำเนินการ ระยะที่สอง ระหว่างปี 2561 - 2563 และระยะสุดท้ายระหว่างปี 2564 - 2570 โดยแผนงานโครงสร้างพื้นฐานหลักจะมีทั้งหมด 35 โครงการ ภายใต้วงเงินพัฒนา 6 แสนล้านบาท

“งานหนักๆ ในช่วงแผนระยะแรก และระยะที่สองส่วนใหญ่จะเป็นการขยายมอเตอร์เวย์ การขยายท่าเรือแหลมฉบัง การขยายท่าเรือมาบตาพุด พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา พัฒนาท่าเรือจุกเสม็ดรองรับการท่องเที่ยว ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้บอกในที่ประชุมอีอีซีรอบที่ผ่านมาด้วยว่าทำอย่างไรให้ประชาชนยอมรับการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ ซึ่งต่อไปในพื้นที่ภาคตะวันออกจะมีโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-ระยอง และพัฒนาการเชื่อมโยงสนามบินเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนในการเดินทาง”

ภากจาก www.mot.go.th