แฉกลโกง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ งัด 6 วิธี ‘หลอกโอนเงิน’

 แฉกลโกง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ งัด 6 วิธี ‘หลอกโอนเงิน’

ช่วงนี้จะเห็นว่า“กลุ่มมิจฉาชีพ”ที่อาศัยวิธี“หลอกลวง”ประชาชน หรือที่รู้จักกันดีในนาม“แก๊งคอลเซ็นเตอร์”เริ่มกลับมาระบาดหนักอีกครั้ง

 

 ถึงขนาดที่ สมาคมธนาคารไทย ต้องออกมาแจ้งเตือนประชาชนให้ใช้ความระมัดระวังและ“อย่าหลงเชื่อ”ใครก็ตามที่โทรมาแล้วแอบอ้างว่ามาจากหน่วยงานโน้น หน่วยงานนี้ หลอกให้เราโอนเงิน ซึ่งถ้าเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า กำลังโดนหลอกลวง

กลวิธีที่ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้หลอกลวงเหยื่อยจะใช้วิธีโทรศัพท์ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หรือ VOIP(Voice over IP) เพื่อทำการแปลงสัญญาณ ปลอมเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานภาครัฐหรือสถาบันการเงิน ซึ่งทำให้ดูน่าเชื่อถือ ด้วยเหตุนี้จึงมีประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อและถูกหลอกลวง

จากข้อมูลของศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน(ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พบว่า ไตรมาส 2 ปี 2559 มีการให้คำปรึกษา รับเรื่องร้องเรียน และรับแจ้งเบาะแส ที่เกี่ยวกับภัยทางการเงินจำนวน 146 รายการ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 6 รายการ หรือ 4.3%

ในจำนวนนี้เป็นการหลอกลวงทางโทรศัพท์จำนวน 25 รายการ หรือ 17.1% ส่วนใหญ่อ้างว่าโทรจาก ธนาคารกลาง เพื่อขออายัดบัญชี เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ จึงอยากเตือนประชาชนไม่ให้หลงเชื่อ

สำหรับ“กลโกง”ของ“แก๊งคอลเซ็นเตอร์”เหล่านี้ ศคง. ระบุว่ามักสุ่มเบอร์เพื่อโทรศัพท์ไปหาเหยื่อ และใช้ข้อความอัตโนมัติสร้างความตื่นเต้นหรือตกใจให้กับเหยื่อ บางครั้งแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ หลอกเหยื่อให้ทำรายการที่ตู้เอทีเอ็มเป็น “เมนูภาษาอังกฤษ”โดยแจ้งว่า ทำเพื่อล้างรายการหนี้สิน หรืออาจหลอกให้เหยื่อไปโอนเงินให้หน่วยงานภาครัฐเพื่อตรวจสอบ ซึ่งมิจฉาชีพเหล่านี้จะอาศัยความกลัว ความโลภ และความรู้ไม่เท่ากันของเหยื่อ

กลโกงเหล่านี้อาจแบ่งได้เป็น6 วิธีคือ1.บัญชีเงินฝากถูกอายัด หรือ หนี้บัตรเครดิตโดยข้ออ้างที่มิจฉาชีพนิยมมากสุด คือ หลอกว่าเหยื่อถูกอายัดบัญชีเงินฝากและเป็นหนี้บัตรเครดิต ซึ่งมิจฉาชีพจะใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติแจ้งเหยื่อว่าจะอายัดบัญชีเงินฝากเนื่องจากเหตุการณ์ต่างๆ เช่น เป็นหนี้บัตรเครดิต หลังจากนั้นมิจฉาชีพจะหลอกถามฐานะทางการเงินของเหยื่อ หากเหยื่อมีเงินมาก ก็จะหลอกให้ฝากเงินผ่านเครื่องฝากเงินอัตโนมัติ

2.บัญชีเงินฝากพัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือการฟอกเงินเมื่อมิจฉาชีพหลอกถามข้อมูลจากเหยื่อแล้วพบว่าเหยื่อมีเงินในบัญชีจำนวนมาก จะหลอกเหยื่อต่อว่าบัญชีนั้นๆ พัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือติดปัญหาการฟอกเงิน จึงขอให้เหยื่อโอนเงินทั้งหมดมาตรวจสอบ

3.เงินคืนภาษีโดยข้ออ้างคืนเงินภาษีจะถูกใช้ในช่วงการยื่นภาษีและมีการขอคืน โดยมิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรแจ้งว่า เหยื่อได้รับภาษีคืนเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะต้องยืนยันว่ารายการและทำตามคำบอกที่ตู้เอทีเอ็ม แต่แท้จริงแล้วขั้นตอนที่มิจฉาชีพให้เหยื่อทำนั้นเป็นการโอนเงินให้กับมิจฉาชีพ

4.โชคดีรับรางวัลใหญ่ซึ่งมิจฉาชีพจะอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่บรัทหรือตัวแทนองค์กรต่างๆ แจ้งข่าวดีแก่เหยื่อว่า เหยื่อได้รับเงินรางวัลหรือของรางวัลที่มีมูลค่าสูง เมื่อเหยื่อหลงเชื่อจะหลอกเหยื่อให้โอนเงินค่าภาษีให้

5.ข้อมูลส่วนตัวหายโดยข้อมูลส่วนตัวหายเป็นข้ออ้างที่มิจฉาชีพใช้เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ ซึ่งจะอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน เหล่าเหตุการณ์ที่ทำให้ข้อมูลของลูกค้าสูญหาย เช่น เหตุการณ์น้ำท่วม จึงขอให้เหยื่อแจ้งข้อมูลส่วนตัว เช่น วัน เดือน ปีเกิด เลขบัตรประชาชน เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการใช้บริการของเหยื่อ แต่แท้จริงแล้ว มิจฉาชีพจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบการปลอมแปลงหรือใช้บริการทางการเงินในนามของเหยื่อ

6.โอนเงินผิดซึ่งมิจฉาชีพจะใช้ข้ออ้างนี้เมื่อมีข้อมูลของเหยื่อค่อนข้างมากแล้ว โดยจะเริ่มจากโทรศัพท์ไปยังสถาบันการเงินที่เหยื่อใช้บริการ เพื่อเปิดใช้บริการขอสินเชื่อผ่านทางโทรศัพท์ เมื่อได้รับอนุมัติสินเชื่อ สถาบันการเงินจะโอนเงินสินเชื่อนั้นเข้าบัญชีเงินฝากของเหยื่อ

หลังจากนั้นมิจฉาชีพจะโทรศัพท์ไปหาเหยื่ออ้างว่า ได้โอนเงินผิดเข้าบัญชีของเหยื่อ ขอให้โอนเงินคืน เมื่อเหยื่อตรวจสอบและพบว่ามีเงินโอนเข้ามาจริง จึงรีบโอนเงินนั้นให้มิจฉาชีพ โดยที่ไม่รู้ว่าเงินนั้นเป็นสินเชื่อที่มิจฉาชีพโทรไปขอในนามของเหยื่อ

ศคง. ระบุว่าถ้าสงสัยว่ากำลังถูกหลอกลวงหรือไม่นั้น มีข้อสังเกตง่ายๆ คือ มิจฉาชีพจะหลอกถามข้อมูลแล้วหลอกให้เหยื่อทำรายการผ่านตู้เอทีเอ็มโดยเลือกเมนูภาษาอังกฤษ และ มิจฉาชีพ จะใช้ข้ออ้างต่างๆ เร่งให้เหยื่อทำรายการ เพื่อไม่ให้เหยื่อมีเวลาตรวจสอบหรือสอบถามบุคคลอื่น

ส่วนวิธีป้องกัน หากได้รับโทรศัพท์จากคนไม่รู้จัก ควรทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่ามีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ไม่โลภอยากได้เงินรางวัลที่ไม่มีที่มา ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินแก่บุคคลอื่น ถึงแม้ผู้ติดต่อจะอ้างตัวเป็นส่วนราชการหรือสถาบันการเงิน เพราะส่วนราชการและสถาบันการเงินไม่มีนโยบายสอบถามข้อมูลลูกค้าทางโทรศัพท์

นอกจากนี้ ไม่ควรทำรายการที่ตู้เอทีเอ็ม หรือเครื่องฝากเงินอัตโนมัติ ควรสอบถามข้อเท็จจริงกับสถาบันการเงินที่ถูกอ้างถึงหรือใช้บริการ โดยติดต่อฝ่ายบริการลูกค้า และหากได้รับแจ้งว่ามีผู้โอนเงินผิดเข้าบัญชี ควรสอบถามสถาบันการเงินถึงที่มาของเงินดังกล่าว หากเป็นเงินที่มีการโอนผิดเข้ามาจริง จะต้องให้สถาบันการเงินเป็นผู้ดำเนินการโอนเงินคืนเท่านั้น