"ปิยสวัสดิ์"แนะรัฐปรับนโยบายพลังงานหมุนเวียน

"ปิยสวัสดิ์"แนะรัฐปรับนโยบายพลังงานหมุนเวียน

“ปิยสวัสดิ์” แนะรัฐเปิดประมูลแข่งขันผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ยกเลิกฟีดอินทรารีฟ โซลาร์ฟาร์ม-วินฟาร์ม แก้ปัญหาสายส่งเต็ม

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พลังงานหมุนเวียนไทยวันนี้” ว่า การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากมาตรการของภาครัฐและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทั้งการสนับสนุนโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) ทำให้มีการจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเนื่องจากภาครัฐมีการสนับสนุนอัตรารับซื้อไฟฟ้าให้เหมาะสม เช่น ระบบการรับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง (ฟีดอินทารีฟ) ที่สูงเกินไป โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม

ทั้งนี้ แม้ว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มสัดส่วนขึ้น แต่เชื้อเพลิงหลักยังเป็นก๊าธรรมชาติ 67% ส่วนทางกับปริมาณก๊าซในประเทศที่ลดลงจากความไม่ชัดเจนจากการเปิดสัมปทานรอบใหม่ ทำให้การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาเป็นเชื้อเพลิงหลักเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐควรดูแลให้ต้นทุนราคาผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งสัมปทานในประเทศ และราคาพลังงานหมุนเวียน ใกล้เคียงกับราคาน้ำเข้าLNG

ดังนั้น ภาครัฐควรต้องปรับวิธีการจากการกำหนดราคาพลังงาน ทั้งพลังงานหมุนเวียน และปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศ โดยกลับไปใช้ระบบการประมูลแข่งขันด้านราคาในกรณีที่โครงการมีลักษณะซับซ้อนเช่น พลังงานแสงอาทิตย์

นอกจากนี้ ภาครัฐต้องปลดล็อกกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขันต่อการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยระยะสั้น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) สามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เข้ามาแก้ไขการรับซื้อไฟฟ้าที่ติดปัญหาสายส่งเต็ม ส่วนในระยะยาว จำเป้นต้องปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า โดยแยกระบบสายส่งและศูนย์ควบคุมระบบ(SO) ออกมาให้เป็นอิสระจากการผลิตไฟฟ้า และยกเลิกระบบผู้ซื้อรายเดียว รวมทั้งเปิดให้มีการแข่งขัน

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ส่วนนโยบายส่งเสิรมรถไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นนโยบายที่ดีแต่ไม่ควรส่งเสริมแบบก้าวกระโดด เพราะหากรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันในประเทศไทยกว่า 13 ล้านคัน เปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ภาครัฐจะรับภาระผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 50% ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินและการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ และการต่ออายุสัมปทานเดิมยังไม่มีความชัดเจน จึงต้องเปิดกว้างในการส่งเสริมเทคโนโลยีใหม่โดยไม่ควรมุ่งไปที่เทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่ง เพราะหากคำนวณแล้วต้นทุนเชื้อเพลิงของรถไฟฟ้าไม่แตกต่างจากเชื้อเพลิงน้ำมันมากนัก