'บีเอ็มพี'หนุนเอสเอ็มอี เจาะกลุ่มอีคอมเมิร์ซจีน

'บีเอ็มพี'หนุนเอสเอ็มอี เจาะกลุ่มอีคอมเมิร์ซจีน

บีเอ็มพี เร่งแผนดันเอสเอ็มอีไทยบุกอีคอมเมิร์ซจีน ชูกลยุทธ์ทำตลาดออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นถ่ายทอดสด เถาเป่า ไลฟ์ ดึงเน็ตไอดอลจีนช่วยเพิ่มกระแส

นางสาวอรอุมา กุลนาค ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บีเอ็มพี (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเชื่อมการค้าไทย-จีน กล่าวว่า เร่งสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีในประเทศไทยให้ขยายฐานตลาดไปสู่ประเทศจีนได้ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ล่าสุดเปิดตัวโครงการ “50 Chinese Net-idol Amazing Live in Thailand 2016” สร้างปรากฏการณ์ใหม่ทางการขายสินค้า โดยดึงเน็ตไอดอลระดับท็อปที่มีผู้ติดตามจำนวนมากจากจีนมาสร้างสีสันและทำกิจกรรมพิเศษผ่านการถ่ายทอดสดบนแอพพลิเคชั่น “เถาเป่า ไลฟ์” (Taobao) เว็บคอมเมิร์ซอันดับ 1 ใน 3 ของจีน

ชิมลางด้วย “จอนห์นี่” อาชีพนายแบบมีผู้ติดตาม 2 ล้านคน “ซือหยาง” บล็อกเกอร์มีผู้ติดตาม 7 แสนคน “หลินซูฮั่น” (Lin Chu Han) ช่างภาพมีผู้ติดตาม 5 แสนคน และ “จื่อหวาง” นักแสดง มีผู้ติดตาม 9.6 แสนคน เพียงแค่ช่วงโปรโมทมีคนจีนสนใจติดตามกว่า 10 ล้านราย บริษัทยังเตรียมจัดงานใหญ่วันที่ 7-9 ต.ค.2559

ด้านขั้นตอนและรูปแบบคอนเทนต์ตลอดโครงการมีทีมผลิตคอนเทนท์รายการโทรทัศน์ชั้นนำจากประเทศจีนเป็นผู้กำกับและถ่ายทำ

สถิติระบุว่า จากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในจีนทั้งหมด มี 45% ที่ใช้งาน “เถาเป่า ไลฟ์” แพลตฟอร์มดังกล่าวโดดเด่นด้วยความเร็ว ซื้อขายได้ทันที ดังนั้นเชื่อว่า วิธีการนี้มีอิทธิพลต่อการเข้าถึง เพิ่มโอกาสการขาย ส่งเสริมภาพลักษณ์แบรนด์สินค้า เป็นอีกหนึ่งทางลัดให้เอสเอ็มอีไทย

สำหรับช่องทางการทำตลาดแต่งตั้ง 3 บริษัทเป็นตัวแทนขาย ได้แก่ บริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดียกรุ๊ป จำกัด, อาเซียน พาโนราม่า, และบริษัท เฮอร์ค คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เบื้องต้น จัดทำแพ็คเกจสำหรับเอสเอ็มอีที่จะนำสินค้าไปขายในจีน แพ็คเกจละ 79,000 บาท หากทำเองต้องใช้งบเกือบล้านบาท

แพ็คเกจดังกล่าว รวมถึงเน็ตการให้เน็ตไอดอลช่วยโปรโมทสินค้า หลังจากจบโครงการ ยังดูแลการทำตลาดให้ต่อเนื่องอีก 5 ปี คาดว่าจะมีผู้สนใจกว่า 200 แบรนด์

บริษัทมีเป้าหมายช่วยนำสินค้าของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยไปขยายตลาดที่ประเทศจีนโดยกลุ่มสินค้าที่ตลาดจีนต้องการมีทั้งทั้งอาหาร ของใช้ เครื่องสำอาง กลุ่มสินค้าสปา สินค้าแฟชั่นที่มีเอกลักษณ์ไทย ฯลฯ

คาดว่าภายใน 1 ปีจากนี้จะช่วยผลักดันรายได้รวมของบริษัทเพิ่มไปถึง 500 ล้านบาท และจากปัจจุบันที่บริษัทมีฐานลูกค้าเอสเอ็มอีรวม 100 ราย ตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มไปถึง 4,000 ราย ภายใน 1 ปีจากนี้เช่นกัน ส่วนรายได้สิ้นปี 2559 น่าจะทำได้เป็นตัวเลข 8 หลัก

พร้อมกันนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพที่เข้ามาเสริมทัพพันธมิตรทางด้านการเงินให้เอสเอ็มอี ได้แก่ ด้านสินเชื่อเพื่อการลงทุน ช่องทางการรับเงินจากการค้าขายในจีน เป็นต้น

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอีพบปัญหาและอุปสรรคด้านการเจรจาทางการค้ากับประเทศจีนหลายอย่าง เช่น ไม่ทราบจะขายสินค้าให้ใคร ไม่มีระบบการกระจายสินค้า สินค้าถูกกดราคา


ดังนั้นบริษัทได้สร้างเฟซบุ๊ค เพจ ที่มีทีมให้คำปรึกษา วางแผน ดูแลทุกกระบวนการตั้งแต่นำสินค้าทดสอบ วางกลยุทธ์ หาตลาด ขนส่งสินค้า และการเก็บเงิน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถจับคู่ธุรกิจในประเทศจีนได้สำเร็จ


การสำรวจพบว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในจีนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปี 2559 คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์จะทำสถิติเพิ่มสูงถึง 423.4 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวนเงินกว่า 457,600 ล้านดอลลาร์


ปัจจุบัน ผู้บริโภคจีนส่วนใหญ่นิยมซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ค้าปลีกออนไลน์สัญชาติจีนที่มีชื่อเสียง ได้แก่ Tmall.com ซึ่งแยกตัวจาก Taobao.com ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 จำนวน 39.9% ตามด้วย 360Buy.com 14.7% Suning.com 2.4% Amazon.cn 2.2% รวมถึง Dangdang.com 1.6% และ Vancl.com 1.5% โดยรวมเว็บไซต์ค้าปลีกชื่อดังเหล่านี้ครองส่วนแบ่งตลาดอีคอมเมิร์ซจีนสัดส่วนมากกว่า 65%